อ่านเร็วขึ้น จำได้มากขึ้น

อ่านเร็วขึ้น จำได้มากขึ้น

อ่านเร็วขึ้น จำได้มากขึ้น

คุณเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ยิ่งอ่านหนังสือได้มาก แสดงว่าบริหารเวลาเก่ง กันหรือไม่คะ โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ มาก เพราะรู้สึกว่าเวลาอ่านหนังสือจบทุกครั้ง เราจะได้อะไรใหม่ๆ ติดมาจากการอ่านเสมอ ทำให้มีเป้าหมายกับตัวเองว่า วันนี้จะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ อีกทั้งการอ่านยังทำให้มีสมาธิมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำให้หลั่งออกมา สมองของเราจะจำเนื้อหาที่อ่านได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการพัฒนาสมองได้ดีที่สุดอีกทางหนึ่งเลยล่ะค่ะ

ได้มีโอกาสไปอ่านเจอเทคนิคเกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้จำได้แม่นและจำได้ง่ายด้วยการ “อ่านให้เร็วขึ้น” จึงอยากรวบรวมและนำมาถ่ายทอดให้ผู้ที่รักการอ่าน หรือคนที่เริ่มจะฝึกเป็นนักอ่านได้รู้ไปด้วยกัน เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของการอ่านเร็ว ทำให้จำได้มากขึ้น ซึ่งการอ่านเร็วในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเร่งอ่านให้จบจนไม่เข้าใจหรือไม่ได้อรรถรสของหนังสือเล่มนั้นนะคะ แต่คือการที่เราจะอ่านหนังสือได้เร็วและเข้าใจ พร้อมทั้งสนุกได้ในเวลาเดียวกัน

เราลองไปดูกันดีกวาค่ะว่าข้อดีของการอ่านหนังสือได้เร็วขึ้นมีอะไรบ้าง และไปดูเทคนิคในการพัฒนาตัวเองให้อ่านหนังสือเร็วขึ้นที่เรารวบรวมมาฝากกัน ไปดูพร้อมกันว่ามีอะไรบ้าง!

>> ฝึกฝนวันละน้อย <<

การอ่านหนังสือให้เร็วขึ้นต้องเริ่มจากการฝึกฝนวันละน้อย ทักษะหลายอย่างที่จำเป็นต่อเพิ่มความเร็วในการอ่านเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนทุกวัน จนกระทั่งคุณสามารถทำได้อย่างเป็นปกติ การฝึกเพียงแค่วันละ 15-20 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นว่าคุณอ่านได้เร็วขึ้นแล้ว การฝึกฝนนี้ต้องใช้เวลาเพราะคุณต้องเริ่มเรียนรู้วิธีการอ่านแบบใหม่ ๆ ดังนั้น คุณต้องอดทนหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอจนกว่าจะเริ่มเห็นผล  วิธีง่าย ๆ ในการดูความก้าวหน้าการอ่านของคุณก็คือ การจับเวลาเมื่อคุณอ่านหนังสือ ลองจับเวลาดูและดูว่าคุณอ่านไปได้กี่คำในเวลาหนึ่งนาที ยิ่งคุณฝึก คุณก็จะยิ่งเห็นว่าคุณอ่านได้มากขึ้นค่ะ

>> อ่านให้นานขึ้นเพื่อพัฒนาสมาธิ <<

รู้หรือไม่คะว่าสมองของคุณต้องการเวลากว่าจะปรับเข้ากับจังหวะของการอ่าน โดยเฉพาะเมื่อคุณเพิ่งเสร็จจากการทำกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้ความกระตือรือร้นมากกว่า กระตุ้นตัวเองให้อ่านให้ได้อย่างน้อย 15 นาที ในแต่ละครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าสมองมีเวลาในการปรับการมุ่งเน้นของมัน ยิ่งฝึกไปคุณก็จะยิ่งพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจำเป็นจะพักบ้างก็ได้ ไม่เป็นไรอีกสิ่งที่อยากบอกก็คือสมองของมนุษย์ชอบจำอะไรเป็นก้อนๆ การอ่านหนังสือแนวเดียวกัน ทำให้สมองจดจำเนื้อหาในหนังสือได้ดีกว่าการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เหมือนกันเลยพร้อมกัน

>> เริ่มฝึกจากสิ่งที่อ่านได้ง่าย ๆ ก่อน <<

หาสิ่งที่คุณสนใจและสนุกรวมทั้งอ่านได้ง่ายเมื่อคุณเริ่มฝึกอ่าน แล้วค่อยไปลองอ่านอะไรที่ยากขึ้นเมื่อคุณเริ่มอ่านได้เร็วขึ้นแล้ว ลองเริ่มอ่านหนังสือท่องเที่ยวหรือบันทึกของคนดังก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี หากคุณเริ่มจากอะไรที่ยากอย่างเช่น ตำราสอนฟิสิกส์ คุณก็อาจจะท้อไปซะก่อนจะเห็นผล เมื่อคุณเริ่มรู้ทักษะการอ่านแบบเร็วแล้ว คุณก็อาจจะเริ่มอ่านหนังสือที่ยาวขึ้น ซับซ้อนขึ้น และคุณก็สามารถประยุกต์เอาวิธีที่คุณถนัดมาใช้ในการอ่านได้รวมถึงการหาส่วนสำคัญในหนังสือค่ะ

>> หลีกเลี่ยงการอ่านซ้ำความเดิม <<

การอ่านซ้ำความเดิมคือการอ่านประโยคหรือส่วนหนึ่งของประโยคเดิมซ้ำสองหรือสามรอบไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าการอ่านซ้ำเช่นนี้จะทำให้คุณเสียเวลาในการอ่านมากขึ้น โดยแทบไม่ได้ช่วยคุณให้เข้าใจหนังสือได้มากขึ้นเลย บางคนอ่านซ้ำเพราะว่าจำไม่ได้ว่าอ่านไปถึงตรงไหนแล้ว จึงต้องกลับไปหาประโยคที่อ่านค้างไว้ตั้งแต่ต้นย่อหน้า

 

คุณสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นี้ได้โดยใช้นิ้วมือ ปากกาหรืออื่น ๆ เพื่อชี้จุดที่คุณอ่านอยู่ และคุณต้องมั่นใจว่าคุณตั้งใจอ่านจริงๆ ดังนั้นหากเราตั้งใจอ่านตั้งแต่รอบแรกแล้ว คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องอ่านอะไรซ้ำอีก นอกจากนี้คุณยังควรคิดว่าข้อมูลที่คุณอ่านอยู่นั้นสำคัญพอหรือไม่ที่จะกลับไปอ่านซ้ำ

>> ไม่ควรทำคืออ่านแบบคำต่อคำ <<

การอ่านแบบนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณอ่านได้ช้าลงอย่างมาก ทางที่ดีคุณควรลองอ่านเป็นกลุ่มคำหรือเป็นประโยค แต่สมองของเรามีความสามารถที่น่าทึ่งอย่างหนึ่ง คือ สามารถเติมข้อมูลให้ประโยคมีความหมายได้เอง โดยไม่ต้องรู้ทุกคำในประโยค ดังนั้น หากคุณฝึกสมองของคุณให้ประมวลผลประโยคเป็นประโยคที่มีคำสำคัญแล้วปล่อยให้สมองของคุณเติมคำลงในส่วนที่เหลือเอง วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถเข้าใจประโยคได้เหมือนเดิม โดยที่จำนวนคำที่คุณต้องอ่านจะน้อยลงไปถึง 50% ซึ่งช่วยให้การอ่านของคุณเร็วขึ้นอย่างชัดเจน

>> หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนขณะอ่านหนังสือ <<

หลายคนอ่านหนังสือได้ช้าเพียงเพราะพยายามอ่านหนังสือในสถานที่ที่ไม่เหมาะแก่การอ่าน หากคุณต้องการจะอ่านได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจสิ่งที่คุณอ่าน คุณต้องกำจัดสิ่งรบกวนทั้งภายในและภายนอกออกไป อย่าพยายามอ่านในที่ที่มีเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงคนพูดคุยกัน เสียงโทรทัศน์หรือเสียงวิทยุก็ตาม คุณจะไม่มีสมาธิในการอ่าน ซึ่งทำให้คุณต้องกลับไปอ่านซ้ำหรือใช้วิธีการอ่านออกเสียงเพื่อให้คุณเข้าใจสิ่งที่คุณอ่าน คุณควรอ่านในที่ที่เงียบเพราะจะทำให้คุณจดจ่ออยู่กับการอ่านได้ง่ายขึ้น อย่าพยายามทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คุณยังควรจะพยายามกำจัดสิ่งรบกวนภายในอย่างเช่น การคิดถึงปัญหาที่ทำงานหรือคิดว่าคุณจะกินอะไรเย็นนี้ การกำจัดสิ่งรบกวนเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากเรื่องหนึ่ง คุณต้องมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งที่คุณอ่าน แต่หากคุณทำได้ คุณจะอ่านหนังสือได้เร็วมากขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ

>> อ่านข้ามในจุดที่คุณรู้อยู่แล้ว <<

หากคุณกำลังเพิ่มความเร็วในการอ่านของคุณ คุณควรจะฝึกอ่านข้ามข้อมูลที่คุณรู้หรือเข้าใจอยู่แล้ว เพราะการอ่านส่วนที่คุณเข้าใจอยู่แล้วไม่จำเป็นมากนัก คุณสามารถเลือกว่าส่วนไหนที่คุณควรอ่านโดยการมองหาคำสำคัญหรืออ่านประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของย่อหน้าทุกย่อหน้า วิธีนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่าเนื้อหาที่คุณกำลังจะอ่านเกี่ยวกับอะไรและคุณควรจะอ่านหรือไม่ วิธีนี้ยังใช้ได้กับสิ่งที่คุณไม่ได้สนใจ คุณก็สามารถอ่านข้ามในส่วนที่คุณไม่ได้สนใจได้ ทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาและยังช่วยให้คุณอยากอ่านต่อไปได้ด้วย

>> อ่านประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของทุกย่อหน้า <<

หากคุณอ่านบทความ หนังสือหรืองานวิจัยเพื่อหาข้อมูล วิธีนี้ก็เหมาะสมที่จะนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะเมื่อคุณอ่านสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว งานเขียนประเภทให้ความรู้หรือสารคดีหลายชิ้นมักจะมีการซ้ำคำอยู่บ่อย ๆ รวมถึงมีการอธิบายคำศัพท์หรือแนวคิดพื้นฐานที่ละเอียด ถ้าคุณเข้าใจแนวคิดนั้น ๆ แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องอ่านทุกบรรทัด วิธีนี้ก็ใช้กับบทความในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารได้เช่นกัน หากคุณต้องการดูเนื้อหาคร่าว ๆ คุณก็สามารถเลือกที่จะอ่านแค่ประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของย่อหน้า ซึ่งก็จะทำให้คุณรู้เนื้อหามากพอสมควร

เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลยนะคะ โดยเฉพาะเด็กๆ ฝึกฝนแบบนี้บ่อยๆ ได้จะยิ่งดี เพราะเด็กมักจะอ่านผิดเมื่อเริ่มหัดอ่านจึงจำเป็นที่จะปล่อยให้พวกเขาอ่านแบบช้า ๆ คุณไม่ควรเร่งให้เด็กรีบอ่านเพราะเด็กกำลังสร้างทักษะพื้นฐานในการอ่าน หากคุณอยากให้เขาอ่านเร็วขึ้นบ้างก็ค่อย ๆ ปรับทีละน้อย หากการอ่านกลายเป็นสิ่งที่เด็กไม่ชอบ เขาก็อาจจะเป็นเด็กที่ไม่ชอบอ่านไปเลย เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ศัพท์เพิ่มขึ้นและเริ่มมีนิสัยรักการอ่านแล้ว คุณอาจจะลองใช้วิธีข้างต้นเพื่อทำให้เด็กอ่านได้เร็วขึ้น

อนึ่ง ด้วยประโยชน์อันมากมายของการ “อ่านหนังสือ” ทำให้เกิดโครงการดีๆ จากความร่วมมือของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นั่นคือ โครงการ “ส่งความรู้ สร้างความสุข ปีที่ 2” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านให้กับน้องๆ  ตามโรงเรียนต่างๆ โดยมีกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอ่านและกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านซึ่งจะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ และสิ่งนั้นย่อมกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้ยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามบทความสั้นๆ และเคล็ดลับการอ่าน ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟสบุ๊ค แฟนเพจ “The Happy Read”  และเว็ปไซต์  TheHappyRead.com   รวมถึงประมวลภาพผลลัพธ์ความสำเร็จของการปลุกพลังการอ่านและกิจกรรมการลงพื้นที่โรงเรียนอื่นๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
Alternative Text
pant
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.