ชี้เป้า! โรงพยาบาลรักษา “โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและเบาหวานขึ้นจอตา”

ตามัวลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว  เห็นเส้นตรงเป็นเส้นคดและการมองเห็นสีลดลง เหล่านี้คือสัญญาณเตือนของ โรคจอประสาทตาเสื่อม แม้รักษาไม่หายขาด แต่รู้ไหมว่า เราสามารถชะลอความเสื่อมได้จ้า

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา มักเกิดเมื่ออายุมากขึ้นและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุลดลง

โรคนี้มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จึงมักเรียกว่าจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ แต่จอประสาทตาเสื่อมก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อย ซึ่งมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมคือ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มมากขึ้น และการมองเห็นสีลดลง

นอกจากนี้ โรคตาจากเบาหวานก็เป็นกลุ่มของปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ โดยเป็นผลมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้สูญเสียการมองเห็นขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะในกรณีที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อจอประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนประกอบของดวงตาที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อทำให้เกิดการมองเห็น

ปัจจัยเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม

-อายุ พบมากในผู้ที่มีอายุ มากกว่า 50 ปี พันธุกรรม โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมาก่อน
-พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
-พบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ โดยจะมีโอกาสเป็นโรคนี้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 ปี

จอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด คือ แบบที่ 1 แบบแห้งหรือแบบเสื่อมช้า เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยเซลล์จอประสาทตาจะค่อยๆ เสื่อมไปอย่างช้าๆ การมองเห็นจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แบบที่ 2 แบบเปียกหรือแบบเร็ว พบร้อยละ 10-15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยจะเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วทันที เป็นผลจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวม และหรือมีเลือดออกที่จอประสาทตา

นอกจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่จะทำให้สูญเสียการมองเห็นแล้ว ยังมีโรคเบาหวานขึ้นจอตาที่อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน

ตัวอย่างของภาพที่ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมมองเห็น

โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา หรือ เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic retinopathy, DR)

เบาหวาน เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหลายอย่าง เช่น ผิวกระจกตาหลุดลอก ต้อหิน ต้อกระจก ปลายประสาทเสื่อม เป็นต้น แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญคือภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

สำหรับเบาหวานขึ้นจอตาจะเกิดขึ้นเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดทำให้เลือดและ/หรือของเหลวรั่วเข้าสู่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวม รวมถึงเกิดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงจอประสาทตาบางส่วนได้

ภาวะจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic macular edema, DME) เป็นภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตา (DR) อีกทอดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่ได้รับความเสียหายรั่วเข้าสู่จุดรับภาพ (macula) และก่อให้เกิดอาการบวมที่บริเวณดังกล่าว

สำหรับการสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากเบาหวานขึ้นจอตาสามารถรักษาได้ หากตรวจพบเร็วและรับการรักษาตั้งแต่
เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดตาบอดได้ร้อยละ 95

ที่มาของภาพ : โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน
ตัวอย่างของภาพที่ผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอตามองเห็น

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา

ปัจจัยที่มีผลต่อการมีเบาหวานขึ้นจอตา มากหรือน้อย มีดังนี้

-ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นเบาหวานมานาน ยิ่งมีโอกาสพบมีเบาหวานขึ้นจอตาได้บ่อยและรุนแรงมากขึ้น

-การคุมระดับน้ำตาล ยิ่งคุมได้ดี ยิ่งลดโอกาสเกิดและลดความรุนแรงของเบาหวานขึ้นจอตา

-การมีไตวายจากเบาหวาน เป็นตัวบ่งชี้ว่าน่าจะมีเบาหวานขึ้นจอตาด้วยเช่นกัน การรักษาโรคไตมีส่วนช่วยให้เบาหวานขึ้นจอตาดีขึ้น

-ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดของจอตาซ้ำเติมภาวะเบาหวานขึ้นจอตามากยิ่งขึ้น

-การมีไขมันในเลือดสูง การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอาจช่วยลดการรั่วของไขมันสะสมที่จอตาได้

-ผู้หญิงที่มีเบาหวานและมีการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดเบาหวานขึ้นจอตาได้ หรือทำให้เบาหวานขึ้นจอตาที่มีอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้นได้

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ และโรคเบาหวานขึ้นจอตา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถหยุดหรือชะลอ เพื่อให้จอประสาทตาเสื่อมช้าที่สุด โดยมีวิธีการรักษา ได้แก่ การฉีดยา การใช้เลเซอร์พลังงานต่ำและสารไวแสง เลเซอร์พลังงานสูง และหลายวิธีร่วมกัน

การรักษาโรคจอตา มีการพัฒนาขึ้นมาก สำหรับการฉีดยาเข้าวุ้นตาก็เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันมากในปัจจุบัน โรคจอตาหลายโรค เช่น จุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ
จุดภาพชัดบวมจากภาวะเบาหวานหรือหลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดผิดปกติที่จอตา ฯลฯ อาจรักษาให้ดีขึ้นได้โดยการฉีดยาเข้าในวุ้นตา ซึ่งจะช่วยลดการบวมของจอตาและยับยั้งการเติบโตของหลอดเลือดผิดปกติได้

เพราะกลไกส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคคือ VEGF ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างใหม่ของหลอดเลือดโดยหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ไม่แข็งแรง เช่นเดียวกับกลไก ANG2 ซึ่งทําให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง เช่นเดียวกัน สําหรับยานวัตกรรมใหม่ในปัจจุปันมีการออกแบบให้ยับยั้ง VEGF และ ANG2 ได้ทั้งสองกลไก ทําให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษารวมทั้งหลดจํานวนครั้งในการฉีดยาได้

การฉีดยาเข้าวุ้นตาทำอย่างไร

แพทย์จะทำการฉีดยาด้วยวิธีการปราศจากเชื้อ ก่อนการฉีดยาแพทย์จะหยอดยาชาให้กับผู้ป่ วยแล้วฉีดยาเข้าที่บริเวณเนื้อเยื่อตาขาวห่างจากขอบตาดำประมาณ 4 มิลลิเมตร หลังฉีดยาผู้ป่วยจะได้รับการปิดตาซึ่งสามารถเปิดตาได้เมื่อกลับถึงบ้าน

การฉีดยาเข้าวุ้นตาโดยทั่วไปไม่ค่อยพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ทางสถิติพบว่า ความเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อ
ในตา, จอตาลอก หรือเลือดออกในตามีโอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ 1

โรงพยาบาล ขึ้นชื่อด้านการรักษา โรคจอประสาทตาเสื่อมและโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา

● โรคพยาบาลตาหูคอจมูก
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 600-1,000 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 1,100 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 9,000-33,000 บาท

● โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 500-1,500 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 1,600 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 19,000-56,000 บาท

● โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 3,500 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 1,500 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 20,000-66,000 บาท

● โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 1,500 บาทขึ้นไป
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : appx 3,800 /3,060 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 16,000-67,000 บาท

● โรงพยาบาลกรุงเทพ
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 800-1,000 บาท
-ค่าตรวจจอประสาทตา OCT 1680
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 8,500-56,000 บาท

● โรงพยาบาลสมิตติเวช (สุขุมวิท)
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 1,000-2,000 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 1,600 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 31,000-55,000 บาท

● โรงพยาบาลเมดพาร์ค
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 2,000-3,000 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 2,500 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 5,000-62,000 บาท

● โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 1,500 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT : 1,700 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 15,000-80,000 บาท

● โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 600 บาท
-ค่ายารักษา เริ่มต้น 12,000-47,000 บาท
-ค่าอุปกรณ์และค่าบริการอื่นๆ สอบถามที่ รพ.

● โรงพยาบาลพระรามเก้า
-ราคาค่าตรวจทั่วไปของแพทย์ : 800-1,200 บาท
-ราคาค่าตรวจจอประสาทตา OCT :1600
-ค่ายารักษา เริ่มต้นที่ 3,000- 74,000 บาท

โดยทุกโรงพยาบาลในกรณีที่ต้องฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาจะมีค่าบริการทางเครื่องมือแพทย์และค่าบริการทางการแพทย์ โดยราคาขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ยาที่ใช้ในการรักษาจอประสารทตาเสื่อม แต่ละโรงพยาบาลมีให้เลือก 3 ถึง 4 ชนิด การที่คนไข้ใช้ยาตัวไหนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และแต่ละชนิดจะมียาในราคาที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นปรึกษาคุณหมอและเช็คค่าใช้จ่ายอีกทีนะคะ

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลราชวิถี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีหลายโรงพยาบาลที่พร้อมรองรับการรักษาโรคจอประสาทตา เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็อุ่นใจกันได้เลยนะคะ

หมายเหตุ : ข้อมูลค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นเพียงการสำรวจระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2566

ราคาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรุณาตรวจสอบอีกครั้งกับโรงพยาบาลต่างๆ โดยตรง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.