นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ นอนหลับยาก อันตรายไหม? ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?

นอนไม่หลับ นอนหลับยาก กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนส่วนใหญ่ โดยส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากความเครียด การใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ รวมถึงโรคบางชนิด ซึ่งอาการนอนไม่หลับอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพของเรามีความผิดปกติบางอย่าง เพราะฉะนั้นก่อนที่สุขภาพจะย่ำแย่ไปมากกว่านี้ เรามาทำความรู้จักปัญหานอนไม่หลับพร้อมหาวิธีการรักษาในบทความนี้กันดีกว่า!

นอนไม่หลับ คืออะไร? มีสาเหตุมาจากอะไร?

นอนไม่หลับ หรือ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ ภาวะที่เรามีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ รวมถึงตื่นเช้าเกินไปจนไม่สามารถกลับไปนอนได้อีก ทำให้เวลานอนโดยรวมลดลง รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน และมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันตามมา

โดยโรคนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งความเครียด, ความวิตกกังวล, ภาวะซึมเศร้า, การเปลี่ยนแปลงเวลานอน, ความเจ็บป่วย รวมถึงการใช้ยาที่มีผลต่อการนอนหลับ ซึ่งอาการนอนไม่หลับอาจเป็นปัญหาชั่วคราวหรือเป็นระยะยาวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและการจัดการของแต่ละบุคคล

นอนไม่หลับ มีกี่แบบ

อาการนอนไม่หลับ

นอนไม่หลับสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบตามลักษณะและระยะเวลาของอาการโดยทั่วไปแล้วอาการนอนไม่หลับแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. นอนไม่หลับแบบชั่วคราว (Acute Insomnia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 1-2 คืน หรือเป็นช่วงระยะเวลาประมาณไม่เกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากความเครียด ความวิตกกังวล มีเหตุการณ์ที่กดดันหรือเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งอาการนอนไม่หลับแบบนี้สามารถหายเองได้ เมื่อความเครียดหรือความวิตกกังวลลดลง
  2. นอนไม่หลับแบบเป็นครั้งคราว (Transient Insomnia) เป็นอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมหรือพฤติกรรม เช่น การเปลี่ยนสถานที่นอน, เดินทางไกล หรือมีความกังวลชั่วคราว และเมื่อสิ่งแวดล้อมกลับสู่ปกติ ปัญหาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
  3. นอนไม่หลับแบบเรื้อรัง (Chronic Insomnia) เป็นอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือยาวนานกว่า 3 เดือน ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังมักจะมีปัญหาในเรื่องการนอนหลับอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์ สาเหตุหลักมักจะมาจากปัจจัยทางสุขภาพ เช่น โรคเรื้อรัง, การใช้ยาบางชนิด หรือปัจจัยทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดเรื้อรัง

นอนไม่หลับ มีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวอย่างไร?

นอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้ หากปล่อยทิ้งไว้ให้อาการเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้เช่นกัน โดยผลเสียของการนอนไม่หลับในระยะยาว มีดังนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  • เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง การนอนไม่หลับในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ และโรคอ้วน
  • ระบบเผาผลาญผิดปกติ การนอนไม่หลับส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม ทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้นและนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ การขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความจำ สมาธิ และการเรียนรู้
  • อารมณ์แปรปรวน การนอนไม่หลับทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งอาจนำไปสู่อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า และวิตกกังวล
  • เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การขาดการพักผ่อนที่เพียงพออาจทำให้ความสามารถในการตัดสินใจและการตอบสนองลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น อุบัติเหตุจากการขับรถ 
  • ผิวพรรณไม่สดใส การนอนไม่หลับจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ส่งผลให้ผิวพรรณหมองคล้ำและเกิดริ้วรอยก่อนวัย

หากมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ นอนหลับยาก สามารถปรึกษาแพทย์ที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง มาค้นหาสาเหตุการนอนไม่หลับและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เมื่อนอนหลับดีสุขภาพกายและใจก็ดีตามไปด้วย 

นอนไม่หลับ นอนหลับยาก รักษาอย่างไร?

หลายคนที่นอนไม่หลับ นอนหลับยาก สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย อาจอยากรู้วิธีการรักษาและวิธีทำให้นอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุการนอนไม่หลับของแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถรักษาโรคนอนไม่หลับได้ดังนี้

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นวิธีแก้อาการนอนไม่หลับแบบธรรมชาติที่ทำได้ง่าย โดยส่วนมากจะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น กำหนดเวลานอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา, สร้างบรรยากาศการนอนที่ผ่อนคลาย, หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ฝึกการผ่อนคลาย รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก่อนนอน

2. การใช้ยา ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยานอนหลับเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะยานอนหลับมีผลข้างเคียงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

3. การรักษาด้วยพฤติกรรมทางปัญญา การทำจิตบำบัดเพื่อจัดการกับความคิดและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนไม่หลับ จะช่วยทำให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้น

4. การรักษาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ หากการนอนไม่หลับเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การรักษาโรคเหล่านั้นก็จะช่วยแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน

อาการนอนไม่หลับ สามารถป้องกันได้หรือไม่?

แม้ว่าบางครั้งปัจจัยภายนอกอาจควบคุมได้ยาก แต่การนอนไม่หลับสามารถป้องกันได้ โดยสามารถเริ่มได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพที่ดีก็สามารถช่วยลดความเสี่ยง ไปจนถึงปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับได้ ซึ่งวิธีป้องกันอาการนอนไม่หลับสามารถทำได้ ดังนี้

  • สร้างตารางการนอนที่สม่ำเสมอ พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์
  • จัดสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม ห้องนอนควรมีความมืด เงียบ และมีอุณหภูมิที่เย็นสบาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะรบกวนการหลับ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เนื่องจากอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักและรบกวนการนอนหลับได้
  • ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ การหายใจลึก ๆ หรือการอาบน้ำอุ่นก่อนนอน
  • จัดการความเครียด หาทางออกในการจัดการกับความเครียด เช่น การพูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว และการทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ปรึกษาแพทย์ หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สรุปเรื่องการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก

อาการนอนไม่หลับ อาจเป็นอาการที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าหากปล่อยไว้ในระยะยาวจนมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจได้ ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาง่วงแต่นอนไม่หลับ นอนหลับยาก สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย และต้องการรักษาหรือหาวิธีนอนให้หลับ การปรึกษาแพทย์เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การนอนของคุณมีคุณภาพมากขึ้นได้

ผู้ที่ต้องการปรึกษาแพทย์แต่ไม่รู้จะปรึกษาที่ไหนดี? BeDee แอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ออนไลน์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก พร้อมให้บริการทุกวัน ตามเวลาที่คุณสะดวก โหลดแอปฯ BeDee คลิก https://bit.ly/4btcZSY 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.