ป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แตก จากอาหารการกิน
จากสถิติขององค์การอัมพาตโลก รายงานสถานการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกไว้ว่า ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมองประมาณ 6 ล้านคนทั่วโลก นั่นหมายความว่า ทุก ๆ 6 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมองอย่างน้อย 1 คน ดังนั้น วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการกินอาหารที่ช่วย ป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ แตก ก่อนวัย กันค่ะ
เกราะป้องกัน สร้างง่าย ๆ แค่รู้จักกิน
“คุณกินอะไร คุณก็ได้อย่างนั้น” นี่คือยอดวลีเด็ดของ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการพิสูจน์ชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความจริง
เพราะมนุษย์เราต้องกินอาหารทุกวัน หากกินตามใจปากโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่แฝงอยู่ก็เหมือนกับเติมสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างสม่ำเสมอซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของคุณหมอสุรพลที่กล่าวถึงเรื่องการกินกับโรคหลอดเลือดในสมองไว้ ดังนี้
การกินเป็นกิจวัตรที่ใกล้ตัวและปฏิบัติได้ง่ายที่สุด จึงทำให้ถูกละเลยได้ง่ายที่สุดด้วยหากไม่รู้จักเลือกกินให้เหมาะสม อาหารก็สามารถกลายเป็นสาเหตุของการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองได้ เพราะเมื่ออาหารถูกย่อยกลายเป็นสารอาหาร จะถูกส่งผ่านเลือดและ
หลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้น หากสารอาหารนั้นเป็นพิษ ก็จะส่งผลกระทบ ต่อเลือดและหลอดเลือดโดยตรง
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นพิเศษ ได้แก่
- อาหารรสเค็มจัดหรือเผ็ดจัด
- อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด
- อาหารประเภทที่มีคอเลสเตอรอลสูงหรือมีไขมันสัตว์เป็นส่วนประกอบมาก อาทิ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน แกงที่มีส่วนประกอบของกะทิ ไข่แดง
- อาหารทอดต่างๆที่ใช้น้ำมันมาก รวมถึงอาหารปิ้งย่างด้วย
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
อาหารเหล่านี้ มีส่วนประกอบของเกลือและผงชูรสสูงมาก เมื่อกินเข้าไปมากๆจะทำให้เกลือแร่ไปคั่งอยู่ในน้ำเลือดเรียกว่า ภาวะเลือดข้น ซึ่งส่งผลให้เลือดมีน้ำหนักมากขึ้น ร่างกายจึงต้องเพิ่มความดันในการสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ กลายเป็นสาเหตุของความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเส้นเลือดเปราะและภาวะความดันโลหิตสูงได้ง่าย ทั้งยังสามารถเป็นบ่อเกิดของโรคปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้อีกด้วย
รู้หรือไม่ อาหารชีวจิต ป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ได้ดี
อาหารสูตรชีวจิตของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต จากหนังสือ สุขภาพดี ราคาถูก ด้วยชีวจิต สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพเหมาะกับการป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งแมกนีเซียม โพแทสเซียมใยอาหาร และโปรตีนที่ปราศจากไขมันเลว อยู่อย่างครบถ้วน ซึ่งมีสูตรดังนี้
- กินข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวซ้อมมือ หรือถ้าชอบขนมปังก็กินขนมปังโฮลวีต ปริมาณรวมกันแล้วให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ
- กินผักสดและผักปรุงสุกอย่างละครึ่ง รวมกันแล้วเป็นปริมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ
- กินโปรตีนจากพืช คือ ถั่วต่าง ๆ หรือผลผลิตจากถั่ว รวมถึงเต้าหู้ รวมแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ อาจเพิ่มปลาหรืออาหารทะเลได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- กินอาหารเบ็ดเตล็ด เช่น สาหร่ายทะเล เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ผลไม้ไม่หวาน ในปริมาณ10 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ
ธาตุเหล็ก ฮีโร่พิชิตหลอดเลือดตีบ
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของคณะวิจัยจากสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน นำโดย ดร.ซูซานนา ลาร์สสัน พบว่า “แมกนีเซียม” สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบได้ร้อยละ 9 ต่อการเสริมแมกนีเซียมวันละ 100 มิลลิกรัม
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอริก ประเทศอังกฤษ และเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ยังพบว่า การกินกล้วยหอมซึ่งอุดมไปด้วย “โพแทสเซียม” วันละ 3 ผล จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหลอดเลือดสมองอุดตันได้ 21 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม การทดลองพบว่า แมกนีเซียมและโพแทสเซียม สามารถป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองแตกได้
ผลการศึกษาทั้งสองยังสอดคล้องกับกลุ่มอาหารเสริมความแกร่งให้หลอดเลือดที่คุณหมอสุรพลแนะนำ ซึ่งล้วนแต่อุดมไปด้วยแมกนีเซียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้งที่ไม่ผ่านการทอดผักใบเขียว อาหารทะเล โดยแนะนำให้เป็นปลาซึ่งมีคอเลสเตอรอลต่ำ และควรปรุงด้วยวิธีการต้มหรือนึ่ง ในขณะที่ควรหลีกเลี่ยงการทอด เพราะจะทำให้น้ำมันจากการทอดซึมเข้าไปแทนที่น้ำมันของปลาซึ่งเป็นไขมันย่อยง่ายชั้นดีจนหมด
แม้โรคร้ายนี้จะน่ากลัวสักแค่ไหน แต่หากรู้จักดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ทุกคนก็สามารถสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็น
รู้หรือไม่? LDL หรือไขมันเลว ย่อมาจาก Low Density Lipoprotein
เป็นไขมันที่ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลไปยังหลอดเลือด และเนื้อเยื่อ ซึ่งหากในหลอดเลือดมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ก็จะทำให้หลอดเลือดตีบ และทำให้แข็ง เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ในทางตรงกันข้าม HDL หรือไขมันดี จะมีหน้าที่พาคอเลสเตอรอล จากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดไปทำลายที่ตับ คนเรารับ LDL จากพวกไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ของทอด อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม
สำหรับการตรวจ LDL แพทย์จะตรวจจากเลือด สำหรับคนทั่วไปไม่ควรมี LDL เกิน 150 mg/dl สำหรับผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบ ไม่ควรมีเกิน 130 mg/dl
สำหรับการลด LDL ทำได้โดยการเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวทั่วหลาย และออกกำลังกายเป็นประจำ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
แจกสูตรทำ ” ยาหอม ” ยาไทย เพื่อลมหายใจ ช่วยปรัมสมดุล
ชวนดูแล ป้องกัน รักษา ลำไส้แปรปรวน ฉบับแพทย์แผนไทย
How to ลดไขมันในเลือด ฉบับหมอไทย
ประโยชน์ของทับทิม ลดความดัน แก้ท้องเสีย
ติดตามชีวจิตได้ที่