หินถล่ม จ. พังงา ลางร้ายหรือภัยธรรมชาติ, พังงา, อุทกภัย, ภัยแล้ง

หินถล่ม จ. พังงา ลางร้ายหรือภัยธรรมชาติ

เหตุการณ์ก้อนหินขนาดใหญ่ถล่มลงมาจากภูเขาช้าง ด้านหลังศาลากลาง จังหวัดพังงา อย่างไม่ทราบสาเหตุ เป็นภัยธรรมชาติที่ทำให้ชาวพังงาหลายคนเชื่อว่าเป็นลางร้าย

ในช่วงเย็นวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559 เกิดเหตุภัยธรรมชาติ มีก้อนหินน้ำหนักหลายตัน พังถล่มลงมาจากภูเขาลงมา แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นางกุลธารินท์ โรจนสุรสีห์ หัวหน้า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่กันพื้นที่บริเวณโดยรอบภัยธรรมชาติเอาไว้ทั้งหมด และห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ยังได้ประสานงานให้นักธรณีวิทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่งด้วย

โดยขณะนี้ทางองค์การบริหารงานจังหวัดพังงา ได้นำเครื่องจักรเข้าไปดำเนินการ และทำบังเกอร์ เพื่อป้องกันอันตรายจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงแล้ว ในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคมนี้ จะเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่อไป

สำหรับภูเขาช้างเป็นภูเขาหินที่มีความสูงประมาณ 30 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพังงา โดยยังไม่มีใครทราบสาเหตุภัยธรรมชาติที่หินพังถล่มในครั้งนี้ แต่ชาวบ้านเผยว่า เขาช้างมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน รวมทั้งมีตำนานและเรื่องเล่ามากมาย ซึ่งชาวพังงาถือว่าภูเขานี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพังงามาตั้งแต่แต่อดีต หากสังเกตจะเห็นว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ห่มผวย” คือมีเมฆหรือหมอกลงมาปกคลุมเขาจนขาวโพลน มักจะเกิดเหตุฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันทุกครั้ง เหตุการณ์ภัยธรรมชาติ หินเขาช้างถล่มครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นลางบอกเหตุร้ายอะไรบางอย่าง

อย่างไรก็ตามนาย จำเริญ ทองตัน อายุ 87 ปี อดีตประธานหอการค้าจังหวัดพังงา ผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์คิดว่า สาเหตุภัยะรรมชาติน่าจะมาจากความผุพังตามธรรมชาติของชั้นหินปูน รวมทั้งความแห้งแล้ง เนื่องจากฝนที่ทิ้งช่วงไปตั้งแต่ช่วงปีใหม่ เมื่อมีฝนตกลงมา จึงทำให้เกิดการเลื่อนไหลของชั้นหินจนถล่มลงมา

ด้วยสาเหตุที่โลกร้อนขึ้น ภัยธรรมชาติสารพัดรูปแบบจึงตามมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รายงานว่า ขณะนี้โลกมีความเสี่ยงภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับในช่วงปีค.ศ. 1970S เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ โดยในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 มีภัยธรรมชาติถึง 3,496 ครั้ง อย่างอุทกภัย วาตภัย ทุพภิกขภัย และคลื่นความร้อน ในขณะที่ในช่วงปีค.ศ. 1970s เกิดภัยพิบัติเหล่านี้เพียง 743 ครั้งเท่านั้น

ฉะนั้น หากลางร้ายเกิดขึ้น นั่นก็มีสาเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติ จนเกิดผลกระทบรุนแรง กลายเป็นภัยธรรมชาตินั่นเอง

ที่มา: ข่าวสด, เดอะการ์เดียน
เครดิตภาพ pezibear/Pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.