อิ่มท้องแตก แต่ก็ยังมีพลังกินขนม เพราะเรามี กระเพาะของหวาน !
เคยเป็นไหม เวลากินของคาวจบแล้ว เพื่อนๆ ในวงถามว่า “ยังต่อของหวานไหวไหม” แล้วปากก็จะหลุดตอบออกไปทุกครั้งว่า “ไหวเพราะเรามี กระเพาะของหวาน” บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วคนเรานั้นมีกระเพาะของหวานอยู่จริงไหม
พลังกินของหวานมันมาอย่างไร?
จากข้อมูลของ Russell Keast ศาสตราจารย์ด้านประสาทสัมผัสและวิทยาศาสตร์การอาหาร แห่งมหาวิทยาลัย Deakin มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และเรียกปรากฏการณ์ เวลาเรากินจากอาหารคาว แล้วร่างกายต้องการของหวานต่อว่า คือ ความอิ่มตัวทางประสาทสัมผัสหรือ “กระเพาะของหวาน” เกิดขึ้นทางประสาทสัมผัส เมื่อเรากินอาหารอย่างเดียว แล้วเจ้าความรู้สึก สั่งการตัวเองว่า ไม่ต้องการกินอาหารที่เฉพาะเจาะจงอีก แต่อยากกินอาหารที่รสชาติแตกต่างออกไปนั่นเอง
เช่นเดียวกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อีกอันที่น่าสนใจของ ศาสตราจารย์ Barbara Rolls จากมหาวิทยาลัย Penn State ในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เวลากว่า 40 ปี เพื่อทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องความอยากอาหารหลังที่กินอิ่ม จนเจอสาเหตุแล้วเรียกอาการนี้ว่า “ความอิ่มทางประสาทสัมผัส” หรือคือภาวะที่เราสามารถกินอาหารประเภทอื่นต่อได้ แม้จะรู้สึกว่าอิ่มมากแล้วก็ตาม
อีกทั้งทฤษฎีของโรลส์ ยังอธิบายเพิ่มว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสารอาหารและพลังงานจากหลาย ๆ แหล่ง เนื่องจากเราไม่สามารถสังเคราะห์สารอาหารได้เอง เหมือนกับสัตว์ที่กินแต่เนื้อหรือพืชอย่างเดียว ทำให้ร่างกายมนุษย์ต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้กินอาหารแบบเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานเกินไป
สาเหตุที่เกิดกระเพาะของหวาน
- ส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อหน่ายทางประสาทสัมผัส โดยเฉพาะมื้อเย็น ที่ดูจะน่าเบื่อเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสที่จะทำให้เราตื่นเต้นหากได้ลิ้มลองรสชาติ อย่างของหวาน ไอศกรีม เค้ก หรือ ช็อกโกแลต แม้ว่าร่างกายจะรู้สึกอิ่ม แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ก็จะบอกให้เราดึงดูดรสชาติใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป ที่เป็นของหวาน ที่มากกว่าความอิ่ม ก็คือความสุข
- ความอิ่มถูกลบล้างออกไปโดยความคาดหวังถึงรสชาติใหม่ๆ โดย Russell Keast ได้ทำการวิจัย ปรากฏการณ์ความอิ่มใจเฉพาะทางประสาทสัมผัส ด้วยการแบ่งอาสาสมัคร เป็น 2 กลุ่มกลุ่มแรกให้กินไอศกรีมสตรอเบอร์รี่ขนาด 300 มิลลิลิตร ให้หมดภายใน 2 นาที แล้วเสิร์ฟไอศกรีมรสเดิมอีกในปริมาณ 700 มิลลิลิตร แต่ครั้งนี้สามารถกินปริมาณเท่าไหนก็ได้ส่วนอีกกลุ่มเสิร์ฟด้วยไอศกรีมสตรอเบอร์รี่ขนาด 300 มิลลิลิตร ให้หมดภายใน 2 นาที แล้วเสิร์ฟไอศกรีมรสใหม่ปริมาณ 700 มิลลิลิตร และกินเท่าไหร่ก็ได้เช่นกัน ผลออกมาว่ากลุ่มที่ 2 สามารถกินได้เยอะกว่ากลุ่มแรก
แต่ขณะเดียวกันความหวานก็ทำลายสุขภาพเราด้วยนะ
อย่างไรก็ตาม เราก็ควรระวังอย่ากินของหวานหลังอาหารมากเกินไป เพราะสามารถส่งผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพได้ ยกตัวอย่างเช่น การกินติดรสหวานมากเกินไป ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ อีกทั้งอาหารหวานทำให้รู้สึกขี้เกียจ ง่วงนอน มีเสมหะในลำคออีกด้วย นอกจากนี้พอเกิดโรคอ้วนแล้ว ยังนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้อีกด้วย เนื่องจากเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปมากๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขาดความสมดุล จึงทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากกว่าปกติ เพื่อกำจัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยิ่งคนเป็นเบาหวานกินหวานมากเท่าไร จะยิ่งให้ตับอ่อนทำงานหนักและเป็นอันตรายมากเท่านั้น อีกทั้งความหวานยังทำให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต และฟันผุอีกด้วย
มีข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังค้นพบอีกว่า ยิ่งกินหวานมากเท่าไร ทั้งในรูปของอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่ตั้งใจเติมน้ำตาลให้หวานผิดธรรมชาติ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายมากเป็นสามเท่า โดยอธิบายเหตุผลว่า การที่ร่างกายได้รับแคลอรีจากน้ำตาลสูงเกินความจำเป็นต่อวันเป็นตัวการทำให้น้ำหนักเพิ่ม ด้วยเหตุนี้จึงไปกระทบการทำงานของหลอดเลือดหัวใจจนกระทั่งมีอาการหัวใจวาย รวมถึงก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย
ดังนั้นหากยังอยากกินของหวานหลังมื้ออาหาร แนะนำให้วางแผนการกินให้ดี เลือกแต่ละมื้ออาหารให้หลากหลาย ในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะช่วยได้อีกแรง
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม
dailymail.co.uk
huffingtonpost.com.au
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับความหวาน
เช็ก + แก้โรคฮิตคน ติดหวาน ด้วยชีวจิต
อร่อยปาก ลำบากกาย ภัยเงียบของคนรัก อาหารรสจัด เสี่ยงหลายโรค
7 เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยง “น้ำตาลทราย”
ทำไมกิน “น้ำตาล” มากๆ ก็ทำให้เป็นโรคไตได้ คำอธิบายของ เบาหวานลงไต
ฉันไม่ยอมตกเป็นทาสคุณหรอก คุณน้ำตาล เพราะชีวิตติดหวาน อันตรายกว่าที่คิด