อาหารรสจัด, ปรุงอาหาร, เมนูอาหาร

อร่อยปาก ลำบากกาย ภัยเงียบของคนรัก อาหารรสจัด เสี่ยงหลายโรค

อร่อยปาก ลำบากกาย อาหารรสจัด เสี่ยงหลายโรค

อาหารรสจัด ไม่ว่าจะ หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด มันจัด ล้วนกระตุ้นให้เกิดการพลังงานความร้อนขึ้นในร่างกาย และสามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายของเราได้ ยิ่งหากกินรสจัดเป็นประจำทุกวัน ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการโรคร้ายต่างๆ ได้อีกด้วย

เครื่องปรุงรส, รสจัด

รสเค็มจัด

การกินรสเค็มจัด หรือกินอาหารที่มีโซเดียม ไม่ว่าจะเป็น เกลือ เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราต้องการโซเดียมต่อวันเพียง 1 ช้อนชาหรือประมาณ 2000 มิลลิกรัม แต่หากกินมากเกินไป หรือกินรสเค็มเป็นประจำ ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก เพื่อเร่งขับเกลือออกจากร่างกายให้มากที่สุด ส่งผลให้ไตเกิดความเสียหาย ทำลายไตและหัวใจในที่สุด

โรคที่เกิดขึ้นจากการรสเค็มจัด อาทิ ความดันโลหิตสูง  โรคไต  โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือด และโรคหอบหืด เป็นต้น

(อ่านเพิ่มเติม  กินเค็ม เสี่ยง 6 โรคร้าย ทำลายสุขภาพ )

รสหวานจัด

รสหวานได้จากทั้งน้ำตาล ข้าว แป้ง รวมถึงอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ โดยแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และหากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป จนระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเสียสมดุล ตับอ่อนก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตอินซูลินมากขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา อาทิ โรคอ้วน ไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ โรคไมเกรน และโรคอื่น ๆ ที่สามารถเกิดได้จากการทำงานของเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมถอยลงนั่นเอง

(อ่านเพิ่มเติม  ระวัง! กินแป้ง กินหวาน มาก อาการย่น เหี่ยว ชา มากันครบ )

รสเผ็ด, พริก

รสเผ็ดจัด

หลายๆ คนอาจจะชื่นชอบรสเผ็ด เพราะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นตื่นตัว ขับเหงื่อสร้างความอบอุ่นได้ อีกทั้งยังช่วยแก้อาการจุก เสียด แน่น เฟ้อ ช่วยขับเสมหะ แต่รู้ไหมรสเผ็ดจัดๆ ที่เกิดจากพริก ซึ่งในพริกมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่สามารถเข้าไปสร้างความระคายเคืองให้เยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย ถึงกระเพาะอาหาร และจนถึงตอนขับถ่ายได้เลยทีเดียว และหากเราทานรสเผ็ดจัดเป็นประจำ แน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อ กระเพาะอาหาร ลำไส้ได้ และนำพาโรคต่างๆ มาด้วย อาทิ โรคลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ เนื่องจากอาหารที่มีรสเผ็ดมีฤทธิ์การกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนัก เป็นต้น

 

รสเปรี้ยว, เปรี้ยวจัด

รสเปรี้ยวจัด

ถึงแม้รสเปรี้ยวจะมีคุณสมบัติสำคัญในการกระตุ้นตับและถุงน้ำดีให้ปล่อยน้ำย่อย ช่วยในการดูดซึมอาหารของร่างกาย  และเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ แก้เลือดออกตามไรฟันได้ แต่หากบริโภคมากเกินไปหรือกินเปรี้ยวจัด ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยโรคที่มากับอาหารรสเปรี้ยว ได้แก่ ฟันผุ กระดูกผุง่าย ท้องเสีย ท้องร่วง  โรคกรดไหลย้อน โรคระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงแผลอาจหายช้า แผลหายช้า เนื่องจากการกินรสเปรี้ยวจัด ส่งผลให้ระบบน้ำเหลืองในร่างกายมีปัญหานั่นเอง

รสมันจัด

รสมันที่ว่า มักอยู่ในอาหารที่มีไขมันสูง อาทิ หมูสามชั้น หนังสัตว์ติดมัน แกงพวกกะทิและของทอดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าไขมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยในการทำงานของประสารทและสมอง แต่จริงๆ แล้วร่างกายต้องการไขมันเพียงแค่ 6 ช้อนชาเท่านั้น หากรับประทานมากเกินไป ย่อมทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เพราะจะส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง เกิด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันสูง ไขมันพอกตับ จนเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

 

หมั่นตวงและชิมอาหารตอนปรุง เพื่อให้ได้รสที่พอดีต่อสุขภาพ

เทคนิคเลิกคบรสจัด

คุณหมอส้ม แพทย์ด้านเวชปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับการฝังเข็มและยาสมุนไพร บอกเทคนิคลดอาหาร “รสจัด” ไว้ในนิตยสารชีวจิต 342 ดังนี้

อย่าตามใจปาก ต้องเตือนตัวเองไว้เสมอว่า อาหารที่ถูกใจเราอาจไม่ใช่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต้องบังคับใจตัวเองให้ได้โดยนึกถึงผลเสียที่เกิดจากโรคร้ายต่างๆ จากการกินรสจัด

เปลี่ยนหรือหาตัวช่วยทดแทน

-กินเครื่องเทศต่างๆ เป็นตัวช่วยเติมรสเผ็ดแทนการกินพริก

-กินน้ำตาลทรายแดงหรือใช้หญ้าหวานเพื่อให้รสหวานแทนการกินน้ำตาลทรายขาว

-เลือกน้ำปลาที่ผสมเกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Shloride) แทนเกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Choride)

-เลือกน้ำมะนาวให้ความเปรี้ยวแทนน้ำส้มสายชูเทียม

-เลือกใช้น้ำมันคุณภาพดีจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก

ตวงทุกอย่างที่กิน ไม่ว่าจะเป็นพริกป่น  น้ำ มะนาว น้ำตาล น้ำมัน หรือเกลือ เพื่อให้รู้ว่าเราตักเครื่องปรุงหรือส่วนผสมเหล่านี้มากเกินพอดีหรือไม่

 

ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม

-– –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

กินเค็ม เสี่ยง 6 โรค ทำลายสุขภาพ

คนไทยกินเค็มกว่าปกติ 2-3 เท่า เสี่ยงโรคเรื้อรัง ไตพังก่อนวัย

เช็ก + แก้โรคฮิตคน ติดหวาน ด้วยชีวจิต

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบของคนอ้วน รักษาด้วยสมุนไพร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.