อาหารรสจัด, ปรุงอาหาร, เมนูอาหาร

อร่อยปาก ลำบากกาย ภัยเงียบของคนรัก อาหารรสจัด

อร่อยปาก ลำบากกาย อาหารรสจัด เสี่ยงหลายโรค

อาหารรสจัด ไม่ว่าจะ หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด มันจัด ล้วนกระตุ้นให้เกิดการพลังงานความร้อนขึ้นในร่างกาย และสามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายของเราได้ ยิ่งหากกินรสจัดเป็นประจำทุกวัน ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการโรคร้ายต่าง ๆ ได้อีกด้วย

เครื่องปรุงรส, รสจัด

รสเค็มจัด

การกินรสเค็มจัด หรือกินอาหารที่มีโซเดียม ไม่ว่าจะเป็น เกลือ เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เกินปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราต้องการโซเดียมต่อวันเพียง 1 ช้อนชาหรือประมาณ 2000 มิลลิกรัม แต่หากกินมากเกินไป หรือกินรสเค็มเป็นประจำ ก็จะทำให้ไตทำงานหนัก เพื่อเร่งขับเกลือออกจากร่างกายให้มากที่สุด ส่งผลให้ไตเกิดความเสียหาย ทำลายไตและหัวใจในที่สุด

โรคที่เกิดขึ้นจากการรสเค็มจัด อาทิ ความดันโลหิตสูง  โรคไต  โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือด และโรคหอบหืด เป็นต้น

(อ่านเพิ่มเติม  กินเค็ม เสี่ยง 6 โรคร้าย ทำลายสุขภาพ )

รสหวานจัด

รสหวานได้จากทั้งน้ำตาล ข้าว แป้ง รวมถึงอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ โดยแต่ละวันเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และหากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป จนระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเสียสมดุล ตับอ่อนก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตอินซูลินมากขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา อาทิ โรคอ้วน ไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ โรคไมเกรน และโรคอื่น ๆ ที่สามารถเกิดได้จากการทำงานของเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมถอยลงนั่นเอง

(อ่านเพิ่มเติม  ระวัง! กินแป้ง กินหวาน มาก อาการย่น เหี่ยว ชา มากันครบ )

รสเผ็ด, พริก

รสเผ็ดจัด

หลายๆ คนอาจจะชื่นชอบรสเผ็ด เพราะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นตื่นตัว ขับเหงื่อสร้างความอบอุ่นได้ อีกทั้งยังช่วยแก้อาการจุก เสียด แน่น เฟ้อ ช่วยขับเสมหะ แต่รู้ไหมรสเผ็ดจัดๆ ที่เกิดจากพริก ซึ่งในพริกมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่สามารถเข้าไปสร้างความระคายเคืองให้เยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย ถึงกระเพาะอาหาร และจนถึงตอนขับถ่ายได้เลยทีเดียว และหากเราทานรสเผ็ดจัดเป็นประจำ แน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อ กระเพาะอาหาร ลำไส้ได้ และนำพาโรคต่างๆ มาด้วย อาทิ โรคลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ เนื่องจากอาหารที่มีรสเผ็ดมีฤทธิ์การกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนัก เป็นต้น

รสเปรี้ยว, เปรี้ยวจัด

รสเปรี้ยวจัด

ถึงแม้รสเปรี้ยวจะมีคุณสมบัติสำคัญในการกระตุ้นตับและถุงน้ำดีให้ปล่อยน้ำย่อย ช่วยในการดูดซึมอาหารของร่างกาย  และเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ แก้เลือดออกตามไรฟันได้ แต่หากบริโภคมากเกินไปหรือกินเปรี้ยวจัด ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยโรคที่มากับอาหารรสเปรี้ยว ได้แก่ ฟันผุ กระดูกผุง่าย ท้องเสีย ท้องร่วง  โรคกรดไหลย้อน โรคระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงแผลอาจหายช้า แผลหายช้า เนื่องจากการกินรสเปรี้ยวจัด ส่งผลให้ระบบน้ำเหลืองในร่างกายมีปัญหานั่นเอง

รสมันจัด

รสมันที่ว่า มักอยู่ในอาหารที่มีไขมันสูง อาทิ หมูสามชั้น หนังสัตว์ติดมัน แกงพวกกะทิและของทอดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าไขมันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยในการทำงานของประสารทและสมอง แต่จริงๆ แล้วร่างกายต้องการไขมันเพียงแค่ 6 ช้อนชาเท่านั้น หากรับประทานมากเกินไป ย่อมทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เพราะจะส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง เกิด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันสูง ไขมันพอกตับ จนเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

หมั่นตวงและชิมอาหารตอนปรุง เพื่อให้ได้รสที่พอดีต่อสุขภาพ

เทคนิคเลิกคบ อาหารรสจัด

คุณหมอส้ม แพทย์ด้านเวชปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับการฝังเข็มและยาสมุนไพร บอกเทคนิคลดอาหาร “รสจัด” ไว้ในนิตยสารชีวจิต 342 ดังนี้

อย่าตามใจปาก ต้องเตือนตัวเองไว้เสมอว่า อาหารที่ถูกใจเราอาจไม่ใช่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต้องบังคับใจตัวเองให้ได้โดยนึกถึงผลเสียที่เกิดจากโรคร้ายต่างๆ จากการกินรสจัด

เปลี่ยนหรือหาตัวช่วยทดแทน

  • กินเครื่องเทศต่าง ๆ เป็นตัวช่วยเติมรสเผ็ดแทนการกินพริก
  • กินน้ำตาลทรายแดงหรือใช้หญ้าหวานเพื่อให้รสหวานแทนการกินน้ำตาลทรายขาว
  • เลือกน้ำปลาที่ผสมเกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Shloride) แทนเกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Choride)
  • เลือกน้ำมะนาวให้ความเปรี้ยวแทนน้ำส้มสายชูเทียม
  • เลือกใช้น้ำมันคุณภาพดีจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก

ตวงทุกอย่างที่กิน ไม่ว่าจะเป็นพริกป่น  น้ำ มะนาว น้ำตาล น้ำมัน หรือเกลือ เพื่อให้รู้ว่าเราตักเครื่องปรุงหรือส่วนผสมเหล่านี้มากเกินพอดีหรือไม่

ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสารชีวจิต 342

ชีวจิต Tips บอกลา อาหารรสจัด แล้วกินแบบนี้ สุขภาพดีชัวร์

  1. ฝึกรับประทานอาหารรสจืดแต่เด็ก การฝึกรับประทานอาหารรสจืดตั้งแต่เด็กเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อหัดการบริโภคที่ถูกต้องเป็นนิสัยให้ติดไปจนโต ผู้ปกครองอาจมีส่วนช่วยโดยการปรุงอาหารให้ลูกรับประทานในรสจืด
  2. ลดเค็มทีละน้อย กรณีที่รับประทานรสเค็มจัดติดไปจนโตแล้ว แต่อยากปรับพฤติกรรมให้ลดการรับประทานรสเค็มลงทีละน้อย ค่อย ๆ ปรับวิธีการปรุงอาหารทีละเล็กน้อย เพื่อให้ร่างกายปรับตัว การปรับทีละน้อยร่างกายจะไม่รู้สึกตัวว่ากินเค็มน้อยลง และจะค่อย ๆ ชินไปเอง
  3. หลีกเลี่ยงอาหารกรุบกรอบ/อาหารสำเร็จรูป อาหารกรุบกรอบพวกขนมขบเคี้ยว หรืออาหารสำเร็จรูปพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป มักมีโซเดียมสูง รวมถึงอาหารจานด่วนต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยง
  4. หลีกเลี่ยงการเติมน้ำจิ้ม/ซอส อาหารพวกที่ต้องรับประทานคู่กับน้ำจิ้มหรือซอส เช่น ลูกชิ้น/ไส้กรอกทอด เกี๊ยวซ่า ซูชิ เป็นต้น หากอยากรับประทานแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเติมน้ำจิ้มหรือซอส จะช่วยลดเค็มได้ในระดับหนึ่ง
  5. หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หากรับประทานก๋วยเตี๋ยว สามารถลดเค็มได้โดยการไม่เพิ่มน้ำปลา หรือลดหวานได้โดยการไม่เติมน้ำตาล รวมถึงพวกอาหารตามสั่งที่มักใส่พริกน้ำปลาเพิ่ม ควรหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงเพื่อลดการรับประทานอาหารรสจัด
  6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน เครื่องดื่มรสหวานเป็นตัวการสำคัญของโรคเบาหวาน เช่น เครื่องดื่มอัดลม น้ำหวาน ชา กาแฟ ส่วนมากมีปริมาณน้ำตาลสูง จึงควรหลีกเลี่ยง
  7. หลีกเลี่ยงอาหารติดมันและของทอด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้รับประทานอาหารที่มันจัด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดมันและของทอด อาจเปลี่ยนไปรับประทานอาหารประเภทนึ่งหรือต้มแทน รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารประเภทกะทิ

รับประทานอาหารนอกบ้านอย่างไรดี

การรับประทานอาหารนอกบ้านอาจเป็นเรื่องยากในเรื่องของการควบคุมรสชาติ แต่สามารถทำได้ โดยการอ่านฉลากให้ละเอียด และเลือกอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่เหมาะสม หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีฉลากสีเขียวแสดงออกถึงอาหารสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้องค์กรต่าง ๆ ควรมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ในโรงเรียนควรห้ามขายเครื่องดื่มอัดลม ขนมกรุบกรอบ หรือองค์กรอื่น ๆ ตามบริษัท มีการกำหนดให้ขายอาหารสุขภาพ เป็นต้น

บทความอื่นที่น่าสนใจ

น้ำเต้าหู้ ของดีใกล้ตัว บำรุงสมอง ดูแลหัวใจ

ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน

พฤติกรรมอันตราย ก่อโรคหัวใจ

ซอสมะเขือเทศโฮมเมด จากห้องครัวปูเป้

งานวิจัยชี้ กุยช่าย ช่วยล้างไขมันในเลือด

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.