อาการกรดไหลย้อน

เช็กกันดีกว่า อาการกรดไหลย้อน เป็นแบบไหนกันแน่

เช็กกันดีกว่า อาการกรดไหลย้อน ที่แท้จริงแล้วเป็นแบบไหน

อาการกรดไหลย้อน นั้นหากเมื่อเกิดอาการ เรอเปรี้ยว มีรสขมในปาก ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน ปวดบริเวณหน้าอก ให้คุณคิดไว้ก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการโรคกระเพาะอาหาร ทั้งที่ความจริงอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อน จากกระเพาะสู่หลอดอาหารได้

ซึ่งโรคกรดไหลย้อนในปัจจุบัน เราจะได้ยินผู้คนพูดถึงเรื่องโรคนี้กันบ่อยมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้

แบบไหนเรียกกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน ในทางการแพทย์ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ จัดเป็นโรคทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

สาเหตุของ โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนนั้นเรียกได้ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น  การรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที การทานอาหารมันๆ การทานเยอะเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และกรดจากกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารได้มากขึ้นนั่นเอง

อาการกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนนั้นมีหลายอาการที่แสดงออกมาทั้งแบบเด่นชัดและแบบซ่อนเร้น อาการที่ชัดเจนของโรคนี้ คือ อาการแสบร้อนกลางอก มีอาการเรอเปรี้ยวบ่อยๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน หลายๆ อาการที่แตกต่างกันไป เช่น เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือหูอักเสบ ซึ่งอาจทำให้แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของโรค อาจต้องทำการตรวจโดยแพทย์จากหลายสาขา จนพบสาเหตุที่แท้จริง

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ก็คือ ภาวะน้ำหนักเกิน

พฤติกรรมการรับประทานและการนอน อย่างการรับประทานแล้วนอนทันที การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อย่างส้ม มะนาวบ่อยๆ การรับประทานช็อคโกแลต หรืออาหารที่มีส่วนผสมของมิ้นท์

สิ่งเหล่านี้จะทำให้หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวได้บ่อยขึ้นนำไปสู่การเกิดกรดไหลย้อนได้ นอกจากนั้น ความอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสริมที่มีส่วนทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

ความเครียดกับ อาการกรดไหลย้อน

ความเครียดสัมพันธ์กับเรื่องกรดไหลย้อนโดยตรง เพราะความเครียดส่งผลในด้านลบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ในทางการแพทย์เรามักจะพบว่าคนที่มีความเครียด มักจะมีภาวะที่เรียกว่า ภาวะหลอดอาหารมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (Esophageal hypersensitivity) หลอดอาหารจึงอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที คือรู้สึกได้ไวมากกว่าคนปกติทั่วไป

อันตรายของโรคกรดไหลย้อน หากไม่รักษา

หากเป็นโรคกรดไหลย้อนแล้วปล่อยเนิ่นนานจนเป็นเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล หรือหลอดอาหารตีบ ทำให้กลืนติด กลืนลำบาก หรือบางคนร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารเลยก็ได้ เพราะหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

เรามีวิธีแก้อาการกรดไหลย้อน โดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต มาฝากทุกคนค่ะ

  1. งดกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต หอมหัวใหญ่
  2. งดอาหารรสจัด อาหารมัน หรืออาหารที่มีกรดมาก
  3. ควรดื่มเครื่องดื่มระหว่างมื้ออาหารแทนการดื่มพร้อมอาหาร
  4. ควรอยู่ในอิริยาบถหลังตรงหลังมื้ออาหาร
  5. งดอาหารก่อนเข้านอนสัก 2 – 3 ชั่วโมง
  6. ลดความอ้วน
  7. กินอาหารจำพวกเมล็ดแบน ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด

ถ้าหากไม่อยากเจอโรคกรดไหลย้อน ย้อนมาทำร้าย มาสร้างความทุกข์ทรมานและต้องทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนสามารถป้องกันหรือดูแลตนเอง ทำได้ง่ายๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงทุกรูปแบบ เพื่อชีวิตที่มีความสุขของตัวคุณ

กินแล้วนอน ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ก็คือ พฤติกรรม “รับประทานแล้วนอน” ซึ่งการนอนจะทำให้หูรูดมีการทำงานที่ไม่ดี เกิดอาการกรดไหลย้อนขึ้นไปได้ รวมไปถึงท่านอนราบยังทำให้กรดไหลย้อนขึ้นไปได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้แล้ว การรับประทานอาหารและนอนทันที ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนถึง 2 เท่า

เพราะเรารู้ดีว่าเมื่อเป็นแล้วโรคนี้ทรมานสุดๆ ดังนั้นเมื่อเป็นแล้วก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี ด้วยการทำตามวิธีลดอาการกรดไหลย้อนที่เราเอามาฝากดูค่ะ คณะแพทยศาสตร์ Johns Hopskins University สหรัฐอเมริกา แนะวิธีปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ดังนี้

ควบคุมน้ำหนัก
  • ควบคุมน้ำหนัก กรณีที่มีน้ำหนักเกินจะไปเพิ่มแรงกดบริเวณกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น
งดอาหารต้องห้าม
  • งดอาหารต้องห้าม ได้แก่ ของทอด ของมัน กระเทียม หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ส้ม มะนาว น้ำอัดลม รวมถึงสุรา บุหรี่ ชา กาแฟ
ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ
  • ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ ปรับจาก 3 มื้อเป็น 6 มื้อเล็กๆ โดยลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง วิธีนี้ช่วยให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมาน้อยลงตามไปด้วย
งดนอนหลังอาหาร
  • งดนอนหลังอาหาร อย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง หลังกินอาหารห้ามงีบหรือนอนหลับเด็ดขาด เพราะการเอนตัวราบขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะจะทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบได้
สวมเสื้อผ้าหลวมๆ
  • สวมเสื้อผ้าหลวมๆ การสวมเสื้อผ้าที่รัดช่วงกลางลำตัวจะทำให้รู้สึกอึดอัดและดันให้อาหารในกระเพาะพร้อมกับกรดเอ่อขึ้นมาได้

ทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ – 1 เดือน อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง

บทความอื่น ที่น่าสนใจ 

วิธีป้องกัน กรดไหลย้อน โจมตีกลางดึก สำหรับคนเป็นไม่หาย

กรดไหลย้อน โรคฮิตที่ต้องรู้

3 พฤติกรรมต้องห้าม เสี่ยงกรดไหลย้อน

สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.