กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ปั่นจักรยาน สู้โรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง เฉียบพลัน

ปั่นจักรยาน รักษา กล้ามเนื้ออ่อนแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง อีกหนึ่งโรคร้ายแรงที่จะพาไปรู้จักในวันนี้เป็นโรคที่แทบจะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ และยังเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย แต่มีชายคนหนึ่ง ที่สามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ด้วยการปั่นจักรยาน ปั่นทุกวัน ฝืนร่างกาย จนในที่สุด เขาเป็นคนใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม ไปทำความรู้จักกับโรคนี้ และบุคคลผู้เอาชนะโรคร้ายด้วยการออกกำลังกายกันค่ะ

กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคร้าย ที่ในแสนคน จะเป็นแค่คนเดียว

การเดินทางเพื่อไปพูดคุยกับคุณภวัต เรืองเดชวรชัย หรือคุณโบ้ ชายหนุ่มวัย 38 ปี เจ้าของประสบการณ์สุขภาพในปักษ์นี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เขียนมากกว่าทุกครั้ง เมื่อรู้อยู่กลายๆ ว่าสิ่งที่จะได้รับฟังในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า เป็นเรื่องราวของโรคประหลาด ที่น้อยคนในประเทศไทยจะโชคร้ายมีโอกาสเผชิญ…โรคจีบีเอส (GBS) หรือ โรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome)

          จากการอธิบายของคุณหมอ โรคจีบีเอสนั้นคือโรคที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทส่วนปลายหลาย ๆ เส้นพร้อมกัน จากความผิดปกติภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยไม่ทำให้สมองและไขสันหลังเสียหาย แต่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ซึ่งในรายที่รุนแรง อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต หรือกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ที่สำคัญคือเป็นโรคที่ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ จึงไม่สามารถป้องกันได้ โดยโรคนี้มักพบในผู้ป่วยแถบยุโรป ในอัตรา 1-3 รายต่อ 100,000 คน แต่สำหรับในประเทศไทย พบเพียง 1 รายต่อ 300,000 – 500,000 คน

คุณโบ้ รักษา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้วยการออกกำลังกาย
ปั่นจักรยานหนีโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome)

1 ในผู้ป่วยหลายแสนคนของ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คือผมเอง

“ดูสิผมโชคดีขนาดไหน”คุณโบ้กล่าวติดตลกอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาไม่มีวันลืมให้ฟังว่า

“วันนั้นผมตื่นนอนทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือ ผมมีอาการชาที่มือทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ซึ่งตามความเข้าใจของผมแล้ว หากเกิดจากโรคออฟฟิศซินโดรม หรือเผลอนอนทับแขนเป็นระยะเวลานาน ๆ อาการชาที่มือและแขนจะไม่เท่ากันทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สดชื่น ขาอ่อนล้า ไม่ค่อยมีแรง

เมื่อตั้งข้อสังเกตเช่นนั้น ทำให้เขาอดวิตกกังวลไม่ได้ รวมถึงคาดคะเนเองว่าอาการทั้งหมดอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองจึงตัดสินใจเดินทางไปพบแพทย์ที่ศูนย์ประสาทวิทยา ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งหลังจากคุณหมอสอบถามและทดสอบอาการต่างๆ แล้ว สันนิษฐานว่าคุณโบ้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคจีบีเอส จึงแนะนำให้มาพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในวันรุ่งขึ้น

“ผมตื่นแต่เช้าเพื่อจะรีบไปพบคุณหมออีกท่านตามนัดหมาย แต่พอลุกขึ้นจากเตียง อาการผิดปกติก็เริ่มหนักขึ้น มือที่จากเดิมชาอยู่แล้ว มีอาการชามากยิ่งขึ้นและลามไปถึงแขน เท้า และปลายเท้าทั้งสองข้าง ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วจนผมเริ่มใจคอไม่ดี

“พอถึงโรงพยาบาล หลังจากสอบถามอาการไม่กี่คำถาม และลงมือตรวจร่างกาย ผมสังเกตเห็นสีหน้าคุณหมอไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ สักพักก็หันมาถามผมว่า ทำอาชีพอะไรอยู่ เดินทางไปต่างประเทศมาบ้างหรือเปล่า มีประกันสุขภาพไหม ผมและครอบครัวมีศักยภาพทางการเงินเพื่อรักษาตัวเองมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคจีบีเอส ซึ่งสันนิษฐานว่า ผมน่าจะได้รับเชื้อไวรัสมาจากการเดินทางไปยุโรป ในเดือนก่อนหน้านี้”

ถอดรหัส กล้ามเนื้ออ่อนแรง

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน นี้ เกิดจากการที่ปลอกหุ้มเส้นประสา่ทอักเสบเฉียบพลัน จากภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำงานผิดปกติ และตอบสนองเพื่อฆ่าแอนติบอดี้จากนอกร่างกาย ส่งผลให้ไปทำลายปลอกหุ้มเส้นประสา่ท จนไม่สามารถส่งกระแสประสาทไปที่อวัยวะต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ การผ่าตัด หรือการฉีดวัคซีน

จากอาการที่เกิดกับคุณโบ้ นั้น เป็นลำดับขั้นของการเกิดโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน หรือ GBS โดยอาการจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งของโรคอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันที่มักแสดงให้เห็น คือ

  • รู้สึกชาๆ ซ่าๆ คล้ายเป็นเหน็บ ที่ปลายมือ ปลายเท้า ไม่รู้สึกเจ็บแสบ หรือปวดร้อนใดๆ
  • กล้ามเนื้อจะเริ่มอ่อนแรงจากขา ลามไปที่กล้ามเนื้อลำตัว และแขน ทำให้ทรงตัวไม่ดี เซ ขึ้น-ลง บันได หยิบจับสิ่งของไม่ได้
  • ปวดกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ปวดตามร่างกายโดยเฉพาะเวลาที่เคลื่อนไหวตัว และอาจเพิ่มมากขึ้นในเวลากลามคืน
  • เคี้ยวอาหาร กลีนอาหารลำบาด
  • หายใจไม่สะดวก ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
  • การมองเห็นแย่ลง เห็นภาพซ้อน บังคับทิซทางลูกตาไม่ได้
  • กล้ามเนื้อฝ่อ
  • บางรายอาจมีภาวะกับหัวใจ ทำให้ชีพจรเต้น และความดันโลหิต ผิดปกติ
  • กลั่นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้

อย่าเอาลมหายใจผมไป จากห้องไอซียู

ขั้นตอนการรักษาของคุณโบ้ เริ่มจากการแอดมิทเพื่อสังเกตอาการในห้องไอซียูทันที รวมถึงให้ยาในกลุ่มต้านไวรัสร่วมกับน้ำเกลืออย่างต่อเนื่องผ่านหลอดเลือดดำ โดยคุณหมอได้ให้ข้อมูลกับเขาว่า ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการค่อยๆ ดีขึ้น แต่บางรายอาจทรุดหนักลงจนถึงจุดต่ำสุดในช่วง 8-10  วันแรก ซึ่งโชคอาจไม่เข้าข้างคุณโบ้เท่าไรนัก

โบ้-ภวัต เรืองเดชวรชัย
ปั่นจักรยานหนีโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome)

“อาการผมทรุดหนักถึงขั้นวิกฤติในวันที่ 8 ของการรักษา ผมเริ่มหายใจลำบาก กลืนอาหารและน้ำไม่ได้ รูปหน้าเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้รับผลกระทบจากอาการของโรค รวมถึงรู้สึกว่าร่างกายค่อยๆ ชาลงทีละส่วนๆ เริ่มจากมือ เท้า แขน ขา ลำตัว คอ และใบหน้า”

ซ้ำร้ายกว่านั้น ชีพจรและค่าออกซิเจนในร่างกายของเขาก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก และมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง…

“กลางดึกคืนนั้น ผมได้ยินสัญญาณจากเครื่องมอนิเตอร์ของผมร้องดังขึ้น จนเจ้าหน้าที่ห้องไอซียูเข้ามาดูด้วยความตกใจและพยายามติดต่อคุณหมอด้านทางเดินหายใจเพื่อมาดูอาการและเตรียมตัวรักษาในช่วงวิกฤติ”

แน่นอนว่าในสภาวะที่ลมหายใจเริ่มแผ่วเบา และความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม ทางออกจึงมีให้เลือกไม่มากนัก หนึ่งคือการสอดท่อเหล็กเข้าไปในช่องปาก หรือสองคือ เจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งครอบครัวของคุณโบ้ตัดสินใจเลือกวิธีแรก

“ผมรู้สึกตัวอีกทีก็มีท่อช่วยหายใจขนาดยาวกว่า 1 ฟุตอยู่ในปากเรียบร้อยแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และอึดอัดมาก ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่มาพลิกตัว เอ็กซเรย์ หรือแม้แต่ทำความสะอาดร่างกายเล็กๆ น้อยๆ ความเจ็บปวดจะยิ่งถาโถมมาหาผมอย่างไม่ปรานี

“ทุกๆ วัน ผมจะเฝ้ามองนาฬิกาว่าเมื่อไหร่เข็มยาวสั้นจะวนมาถึง 10 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ผมจะได้พบคุณหมอ และลุ้นว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ และสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้แล้วหรือยัง”

ขั้นตอนการรักษา กล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • ขั้นตอนแรกของการรักษาคือ ฉีดอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยยับยั้งแอนติบอดี้ที่ผิดปกติ
  • ถ่ายเลือดออกจากร่างกาย และแยกแอนติบอดี้ที่ผิดปกติออกมา และนำเลือดที่ปกแล้วคืนสู่ร่างกาย
  • รักษาอาการปวด
  • ในรายที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ และการให้อาหาร จะใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้อาหารผ่านทางสายอาหาร
  • กายภาพบำบัด

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ และฟื้นฟูร่างกายนานประมาณ 6 เดือน หรือมากกว่านั้น เมื่อหายแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ หรือเกิดความผิดปกติของระบบประสาทอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้

และแล้ววันที่คุณโบ้รอคอยก็มาถึง เมื่อเช้าวันที่ 19 ของการรักษา คุณหมอแจ้งข่าวดีว่าอนุญาตให้ถอดเครื่องช่วยหายใจออก และย้ายเขาออกจากห้องไอซียูไปห้องผู้ป่วยธรรมดา เพื่อเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูและกายภาพบำบัด

“ผมเริ่มขยับตัว นิ้วมือ และเท้าได้บ้างเล็กน้อย ทำให้ใจชื้นขึ้น จนกระทั่งวันที่เริ่มทรงตัวนั่งเองได้ ผมเห็นสภาพร่างกายตัวเองครั้งแรก แล้วช็อคมาก ขาลีบลงอย่างห็นได้ชัด น้ำหนักลดฮวบจาก 84 กิโลกรัม เหลือ 69 กิโลกรัม ในระยะเวลาแค่ 2-3 อาทิตย์เท่านั้น”

“เพราะกลัวว่าจะเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต ผมจึงทุ่มเทให้กับการทำกายภาพที่ทั้งหนักหน่วงและเหนื่อยสาหัส โดยทำวันละ 2 รอบ รอบละ 2-3 ชั่วโมง หลังเสร็จโปรแกรมในแต่ละวัน ผมเหนื่อยจนแทบสลบ แต่ก็สู้ใจขาดดิ้น”

โบ้-ภวัต เรืองเดชวรชัย
ปั่นจักรยานหนีโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome)

หลังจากทำกายภาพได้ไม่นาน  ร่างกายของคุณโบ้ก็เริ่มตอบสนองดีขึ้น จนกระทั่งสามารถประคองตัวเดินในระยะทางสั้นๆ โดยใช้วอล์คเกอร์ได้ คุณหมอเจ้าของไข้จึงอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน และนัดหมายให้มาตรวจติดตามโรคที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ

คุณโบ้ใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาลในการฟื้นฟูร่างกาย จนสามารถกลับมาเป็นปกติได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงอาการชา แขนขาอ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบแบน เขาจึงตัดสินใจพึ่งพาผู้ช่วยคนสำคัญที่เคยถูกหมางเมินอย่าง “การออกกำลังกาย”

ปั่นจักรยาน พิชิต กล้ามเนื้ออ่อนแรง

เมื่อก่อนผมไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย แต่พอป่วยขาผมลีบมาก ก็เลยหันมาปั่นจักรยาน เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง พอมีกำลังมากขึ้น ก็เริ่มวิ่งทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2-3 วัน อาจไม่เยอะสำหรับคนดูแลสุขภาพ แต่สำหรับผมถือว่าเยอะมาก เพราะเดิมไม่เคยทำ และมีข้ออ้างให้ตัวเองตลอดเรายุ่ง เราทำงานหนัก ไม่มีเวลา แต่เดี๋ยวนี้ทุกเย็นวันจันทร์ อังคาร พฤหัส สามวันนี้ผมจะบรรจุการวิ่งไว้ในตารางชีวิตเลย ให้เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่เราต้องทำ

“ส่วนอาหารการกิน แต่ตั้งแต่ป่วยและหลังป่วย ผมใช้หลักกินอาหารเป็นยา พยายามกินแต่ของดีมีประโยชน์ ให้ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยเรื่องระบบประสาท เช่น ข้าวแดง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวมถึงผักผลไม้ต่างๆ

“ทุกวันนี้สุขภาพของผมแข็งแรงขึ้นมาก ใครเห็นก็ทักว่าดูดีขึ้น สดใสขึ้น ที่สำคัญคือผมไม่ต้องไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลอีกแล้วครับ”

นี่แหละค่ะ บทพิสูจน์ของการดูแลสุขภาพ ที่เห็นผลทันตาเห็นจริงๆ

ที่มา

  • ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  • นิตยสารชีวจิต

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ป่วยแบบนี้บ่อยๆ เพราะ ขาดวิตามิน อะไร?

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการดูไม่หนัก แต่ซ่อนปัญหาสุขภาพใหญ่ให้เราต้องตกใจ

แค่ออกกำลังกาย ก็เท่ากับ ลดเสี่ยงโรคมะเร็ง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.