บริหารสมอง

บริหารสมอง ทำได้เองที่บ้าน ห่างไกลอัลไซเมอร์

เทคนิค บริหารสมอง แบบง่าย ๆ ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพสมอง

ไม่อยากความจำเสื่อม ต้องเริ่มออกกำลังกาย บริหารสมอง แต่จะต้องทำอย่างไร วันนี้เรามี ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย มีคำแนะนำ

บริหารสมอง ชวนคุณฝึกความจำดี ห่างไกลอัลไซเมอร์

คุณผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า “การฟื้นฟูสมรรถกาพสมอง” กันหรือเปล่าครับ ใช่เลยครับ …สมรรถภาพการทำงานของสมองนั้นสามารถฟื้นฟูได้ หรือที่เรียกกันว่า “เบรนนิวโรพลาสติกชิตี้” (Brain Neuroplasticity) ซึ่งหมายถึง ความยึดหยุ่นของระบบประสาทในการฟื้นตัว หรือปรับโครงสร้างหลังอาการบาดเจ็บ หรือเกิดควานเสื่อมต่าง ๆ รวมถึงโรคสมองอย่างโรคอัลไซเมอร์ด้วย

วันนี้หมอจะมาแนะนำเทคนิคการสร้างทางเชื่อม หรือพาทเวย์เพื่อฟื้นฟูสมองและความจำกันกันครับ

ขอเล่าประสบการณ์ตรงสักนิดว่า ที่ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ซึ่งหมอทำงานอยู่ มีคนไข้มาหาหมอด้วยอาการขี้หลงขี้ลืมจำนวนไม่น้อย จุดที่น่าสังเกตคือ เป็นคุณผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แถมส่วนใหญ่คุณอาคุณลุงทั้งหลาย ก็ไม่ได้มาคนเดียว มักมีคุณป้าประกบตามมาด้วย และเป็นคนคอยแจกแจงอาการไปพร้อมกับการบ่นถึงเหตุการณ์การลืมกุญแจบ้านไว้ในรถ ลืมกุญแจรถไว้ในบ้าน ลืมนั่นลืมนี่ ให้ผมฟังแทนผู้ป่วย เมื่อสืบไปสืบมา ส่วนใหญ่คุณภรรยาในวัยนี้ก็มีอาการหลงลืมซึ่งเป็นผลจากวัยทอง หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่นกัน

แต่แหม…ใครจะกล้าบ่นภรรยาล่ะครับ เรื่องจะยาวว่าไหม (ฮา) ดังนั้นเมื่อทราบสาเหตุ นอกจากจะให้วิตามินเสริมต่าง ๆ เพื่อบำรุงสมองแล้ว หมอมักให้ “การบ้าน” กลับไปฝึกฝนดูแลตัวเองด้วย ที่สำคัญหมออยากให้ คนในครอบครัวช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการเยียวยาภาวะสมองเสื่อม ลดปัญหาอาการหลงลืมในผู้ป่วย

เทคนิคเหล่านี้ หมออ่านมาจากหนังสือของแพทย์ด้านประสาทชื่อดังท่านหนึ่ง เป็นเทคนิคที่ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ หรือถ้าเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์แล้ว ก็ช่วยให้ดีขึ้นได้ นั่นคือการฝึกการทำงานของเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerves) ที่สำคัญทั้ง 12 คู่ อาทิ เส้นประสาทการรับกลิ่น เส้นประสาทการรับรส เส้นประสาทตา เส้นประสาทหู และเส้นประสาท เฟเชียลที่ควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้า เป็นต้น

ทีนี้จะทำอะไรบ้าง มาลองทำพร้อมกันนะครับ

ปรับวิถีชีวิต บริหารสมอง

เริ่มจากที่บ้านก่อน หมออยากได้ความร่วมมือจากคนในบ้านลุกขึ้นมาปรับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เปลี่ยนการตกแต่งบ้านมุมต่าง ๆ ทาสีบางพื้นที่ใหม่ เปลี่ยนสีสันการแต่งตัว เพื่อกระตุ้นการทำงานเส้นประสาทตาของผู้ป่วย ตกแต่งบ้านด้วยดอกไม้สดที่มีกลิ่นอย่างมะลิ กุหลาบ เพื่อกระตุ้นประสาท

ตัวช่วยอีกอย่างคือ การชวนผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุไปเดินเล่นในห้าง เพื่อพบเจอสิ่งของและผู้คนที่ไม่จำเจ พาลงไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง เพราะเป็นแหล่งรวมของสีสันและกลิ่นต่าง ๆ พาไปชมและดมผลไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีกลิ่นไม่เหมือนกัน เพื่อให้เส้นประสาทการรับกลิ่นซึ่งไม่ค่อยได้ใช้งานได้ทำงานต่อเนื่อง อย่าห่วงแต่ว่าท่านจะเหนื่อย แล้วให้นั่งปิดแอร์รออยู่ในรถเลยครับ แบบนี้มีประโยชน์กับท่านมากแน่นอน

เปลี่ยนความเคยชิน

หากผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุถนัดขวา ก็แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา เช่น จากเคยถือช้อน ถือตะเกียบมือขวา ถือฝักบัว หรือถูสบู่มือขวา ก็เปลี่ยนมาทำด้วยมือซ้าย ซึ่งเมื่อไรที่มีการเชื่อมโยง สมองจะทำงานดีขึ้น ความจำก็จะดีขึ้น หรือไม่ก็ลองปิดไฟขณะที่ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย เช่น การอบน้ำ แปรงฟัน (แต่กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย หรือยังไม่อยู่ในวัยสูงอายุนะครับ สำหรับผู้สูงอายุผมไม่แนะนำเท่าไร เพราะอาจเกิดอันตรายได้)

ฝึกฝนทักษะ

ฝึกบวก-ลบเลขในใจ เช่น เอา 7 มาลบ 100 ในใจ ได้ผลลัพธ์เท่าไรก็ลบด้วย 7 ไปเรื่อย ๆ เพื่อฝึกให้สมองทำงาน หรือฝึกนิ้วมือทั้งสองข้างให้ทำท่าต่างกัน หากมือขวาทำนิ้วเป็นรูปตัวแอล มือซ้ายก็ทำท่าจีบ สลับกันไปเรื่อย ๆ เทคนิคที่แน่นนำมาทั้งหมดนี้ คนป่วยหรือยังไม่สูงวัยก็ทำได้นะครับ และจริง ๆ อยากให้ฝึกทำไปพร้อมกันด้วย จะได้ฝึกสมองและระบบประสาทให้ยังคงแข็งแรง ความจำดีไปตลอด เห็นไหมว่า ไม่ยากเลย แต่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องลงมือทำนะครับ จึงจะเห็นผล

อาหารที่ช่วยบำรุงสมองมีดังนี้

  • อาหารที่มีวิตามินB1 ได้แก่ ข้าวทุกชนิดที่ไม่ขัดขาว ถั่วลิสง ผักทุกชนิด ยีสต์ และปลา
  • อาหารที่มีวิตามินB2 ได้แก่ ยีสต์ เนยแข็ง ผักใบเขียว ปลา
  • อาหารที่มีวิตามินB6 ได้แก่ ยีสต์ รำข้าว จมูกข้าว แคนตาลูป กะหล่ำปลี
  • อาหารที่มีวิตามินB12 ได้แก่ ปลา
  • อาหารที่มีไอโนซิทอลและคอลิน ได้แก่ ผักใบเขียว ยีสต์ จมูกข้าว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง แคนตาลูป ส้มโอ องุ่นแห้ง ถั่วลิสง และกะหล่ำปลี
  • อาหารที่มีเลซิทิน ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด
  • อาหารที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว แคนตาลูป มะเขือเทศ ฟักน้ำ ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วย และมันฝรั่ง
  • อาหารที่มีกำมะถัน ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ปลา กะหล่ำปลี
  • อาหารที่มีสังกะสี ได้แก่ จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง ยีสต์ มัสตาร์ดผง

ซึ่งถ้ากินอาหารตามสูตรของชีวจิต (แป้งไม่ขัดขาวปริมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ผัก 25 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 15 เปอร์เซ็นต์ และเบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์) วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารจำเป็นอื่นๆก็น่าจะเพียงพอ …. สมองเสื่อม รักษาไม่ได้ แต่เป็นความชราแบบชะลอและป้องกันได้

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

ยืดเหยียด ปั่นจักรยาน ช่วยความจำดี

สมองเสื่อม … ความชราที่สามารถชะลอได้

แก้กรดไหลย้อน ด้วยอาหารอร่อย ลดการใช้ยา

เบาหวาน อยากกินผลไม้ต้องอ่าน!

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่าง ๆ ได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.