ร้อนวูบวาบ

ท่าบริหารแก้อาการ ร้อนวูบวาบ

ร้อนวูบวาบ แก้ได้ ด้วยการออกกำลังกาย

อาการ ร้อนวูบวาบ ไม่ใช่ปัญหาเดียว ที่คนซึ่งกำลังเข้าสู่วัยทองจะต้องเผชิญ แต่ดูเหมือนว่า จะมีให้เห็นบ่อยเมื่อเทียบกับหลายอาการ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงอื่นๆ โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นมากถึง 80 เปอร์เซ็น และพบว่าอาการนี้ จะรุนแรงกับคนที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสุขภาพเท่าที่ควร เมื่อมีอาการ จึงรู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาว เหงื่อออกโทรมกายได้ในช่วงเวลาตอนกลางดึก มากกว่าคนที่ดูแลสุขภาพเป็นประจำ
สำหรับเพื่อนๆ คนไหน ที่กำลังทรมานกับอาการนี้อยู่ ลองปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นได้

  • นั่งขัดสมาธิตัวตรง ชิดกำแพง และให้หันหน้าเข้าหากำแพง
  • นอนลง พร้อม  คลายขาและเท้าออก ค่อยๆ วาดขาขึ้น วางชิดกัน พาดไปบนกำแพง จนตัวเรานั้น จะมีลักษณะเหมือนรูปตัว “L”
  • วางมือลงบนท้อง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออก รู้สึกถึงมือที่เคลื่อนที่ขึ้นลง ตามการยุบพองของหน้าท้อง ปล่อยความรู้สึกให้ผ่อนคลาย
  • ให้จิตใจ จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา อาจเลือกวิธีกำหนดพุทธ โธ ตามลมหายใจเข้า ออก เพื่อให้มีสมาธิดียิ่งขึ้นด้วยก็ได้
  • ปล่อยตัว ตามสบาย อย่าเกร็งจนเกินไป จนกว่าจะรู้สึกว่า ร่างกายของเราได้จมดิ่งหายลงไปในพื้น
  • เริ่มต้นทำครั้งแรกๆ ให้ค้างท่านาน 3-5 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นให้ถึง 10 นาที

การบริหารเพื่อบรรเทา อาการร้อนวูบวาบ นี้ ควรทำเป็นประจำ และ ควรทำควบคู่กันไปด้วย คือ ปรับเปลี่ยน มารับประทานอาหารสุขภาพ ก็จะช่วยให้อาการร้อนวูบวาบ ค่อยๆ บรรเทาลง เมื่อร่างกายและจิตใจทำงานประสานกันดีขึ้น สุขภาพก็จะดีขึ้นด้วยค่ะ

ข้อมูลเรื่อง “ท่าบริหารแก้ อาการร้อนวูบวาบ ” จากนิตยสารชีวจิต

นอกจากการออกกำลังกายแล้ว อาหารก็ช่วยลดอาการวัยทองได้

ชีวจิต TIPS 6 อาหาร ลดอาการร้อนวูบวาบ ในสาววัยทอง

เมื่อเข้าสู่วัยทอง มักมีอาการไม่พึงประสงค์ตามมา การพักผ่อน นอนหลับ และออกกำลังกาย จะช่วยให้สาวๆ ผ่านพ้นอาการเหล่านี้ไปได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ นั้นก็คือ “อาหาร” ซึ่งจะช่วย ลดอาการร้อนวูบวาบ ที่ทำหลายคนหงุดหงิดกายและใจได้มาก ส่วนจะมีอะไรที่ควรกินบ้าง มาดูกันเลย

อาหาร ลดอาการร้อนวูบวาบ

  1. อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เทมเป้ แป้งถั่วเหลือง เพราะในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งคล้ายกับเอสโทรเจน จะช่วยชดเชยการขาดเอสโทรเจน และยังช่วยปรับระดับเอสโทรเจนให้ลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่สมดุลกับโพรเจสเทอโรนด้วย
  2. อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงและปรับระดับไขมันในเลือดให้สมดุล รวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในเวลากลางคืน และช่องคลอดแห้งได้
  3. อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันจากพืช เช่น ถั่วแดงหลวง ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก เมล็ดพืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์
  4. ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาทู ปลาซาบะ ปลาสวาย และ
    พุงปลาช่อน สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มกรดไขมันจำเป็นให้ร่างกายนำไปสร้างความชุ่มชื่นแก่ผิวหนัง ช่องคลอด และเยื่อบุช่องคลอด
  5. ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม แอ๊ปเปิ้ล เซอร์รี่ พลัม สับปะรด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ
  6. หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น กาแฟ เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ไวน์ ช็อกโกแลต ชีส และเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการร้อนวูบวาบมากขึ้น

คุณเข้าใจวัยทอง มากแค่ไหน

  1. วัยทองเริ่มต้นเมื่ออายุ 50 ปี ไม่เสมอไป วัยทองอาจเกิดได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 45 – 55 ปี (เฉลี่ย 52 ปี)
  2. วัยทองจะเป็นอยู่ถึง 10 ปี ไม่จริง วัยทองจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี
  3. ผู้หญิงทุกคนเมื่อเข้าสู่วัยทอง ความต้องการทางเพศจะหมดไป ไม่เสมอไป การวิจัยพบว่า ความต้องการทางเพศไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนครึ่งหนึ่งยังคงมีความต้องการทางเพศเหมือนเดิม มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาจเลิกสนใจเรื่องนี้
  4. วัยทองทำให้อ้วนขึ้น ไม่แน่เสมอไป ผู้หญิงบางคนยังคงรูปร่างเหมือนเดิม บางคนน้ำหนักลดลงด้วยซ้ำ
  5. วัยทองทำให้ผู้หญิงกลายร่างเป็นคนเกรี้ยวกราด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอาจทำให้ผู้หญิงอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่วิตกกังวลและไม่ได้รับคำแนะนำที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่ทุกคนจะเป็นเช่นนี้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สุขภาพของแต่ละคน การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ประวัติทางพันธุกรรม พฤติกรรมการบริโภคในอดีตและปัจจุบัน ความมั่นใจในตัวเอง สภาพแวดล้อมในบ้าน รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมในชุมชนนั้น
  6. ผู้หญิงวัยทองทุกคนต้องมีอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์แปรปรวน ไม่เสมอไป ผู้หญิง 15 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการดังกล่าวเลย บางคนอาจมีอาการบ้าง มากน้อยแตกต่างกันไป
  7. ผู้หญิงวัยทองต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนทุกคน วัยทองเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่โรค จึงไม่จำเป็นต้องรักษา ระดับฮอร์โมนของแต่ละคนก็แตกต่างหลากหลาย ผู้หญิงแต่ละคนต้องการฮอร์โมนทดแทนชนิดและปริมาณต่างกัน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ขณะที่บางคนไม่ต้องการเลย
  8. ฮอร์โมนทดแทนคือวิธีบำบัดอาการวัยทองที่มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่จริง อาการวัยทองแก้ได้ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น รับประทานอาหารจากถั่วเหลือง เพราะถั่วเหลืองมีไฟโตเอสโทรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งทำให้
    ฮอร์โมนของร่างกายสมดุล ลดอาการร้อนวูบวาบ และป้องกันกระดูกพรุน นอกจากนั้นสมุนไพร หรือการฝังเข็มเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ช่วยบำบัดอาการนอนไม่หลับ หรืออารมณ์แปรปรวนที่ได้ผลค่อนข้างชัดเจน
  9. ผู้หญิงประเทศไหนก็มีปัญหาเรื่องวัยทอง รายงานของนักมานุษยวิทยา ระบุว่า อาการวัยทองแทบไม่ปรากฏในบางสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มีความเป็นอยู่อย่างสงบเงียบตามธรรมชาติ ขณะที่ผู้หญิงในสังคมเมืองต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีแนวโน้มว่าจะมีอาการวัยทองมากกว่า
  10. วัยทองทำให้ความจำเสื่อม แม้วัยทองจะทำให้อารมณ์แปรปรวน แต่ไม่ถึงกับทำให้จิตวิปริตผิดเพี้ยน ทั้งหญิงและชายอายุ 30 ปีขึ้นไปเซลล์สมองจะลดลง โดยผู้ชายสูญเสียเซลล์สมองมากกว่าผู้หญิง แต่ไม่ได้แปลว่าความจำต้องเสื่อมไปด้วย

อาการวัยทองที่ควรไปพบแพทย์

หากรอบเดือนเปลี่ยนแปลงควรตรวจดูว่าเกี่ยวข้องกับภาวะหมดประจำเดือน หรือเพราะสาเหตุอื่น หากคุณเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือภาวะกระดูกพรุ่น หากรู้สึกทนไม่ได้กับอาการต่างๆ ที่รักษาด้วยวิธีธรรมชาติแล้วไม่ได้ผล ควรพบแพทย์ด่วน

ข้อมูลจาก หนังสือ 108 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับประจำเดือน

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต


© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.