4 เทคนิค ออกกำลังกายสำหรับคนเป็น โรคหัวใจ
การออกกำลังกายมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วย โรคหัวใจ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจ และเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งผลให้หลอดเลือดมีการขยายตัว กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น นอกจากนั้น การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ ลดปัจจัยการเกิดโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง โรคหัวใจจากเส้นเลือดหัวใจตีบ และภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และที่สำคัญยังทำให้อัตราการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้หัวใจทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ต้องการออกกำลังกาย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อการเลือก ประเภทกีฬาที่เหมาะสม กับตัวเอง ประเภทกีฬาที่เหมาะสม กับผู้ป่วยโรคหัวใจ
ถ้าคนที่เป็น โรคหัวใจ ต้องออกกำลังกาย ต้องทำอะไรบ้าง
ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพื่อให้แพทย์ประเมินสภาพความพร้อมของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่าง หรือหลังการออกกำลังกาย ตลอดจนถึงความแรงของการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมว่าคว รออกกำลังกายด้วยกีฬาประเภทไหน ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้น
รู้จักประเมินอาการของตัวเอง เป็นต้นว่า การวัดชีพจร ความเหนื่อยของร่างกาย หากอาการที่แสดงออก บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ มึน วิงเวียนศีรษะ ให้รู้ว่าเป็นอาการของการออกกำลังกายหนักเกินไป ควรหยุดและปรึกษาแพทย์
มีเป้าหมาย ควรออกำลังกายให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30-60 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง เพื่อให้ร่างกาย มีความเคยชิน อีกทั้งควรออกกำลังกาย ให้เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะหากเผลอละเลย เป็นเวลานานแล้วกลับมาออกกำลังกาย หัวใจจะทำงานหนักขึ้น
ไม่ควรออกกำลังกายเพียงลำพัง เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัวใจมีภาวะเสี่ยงต่อการวูบได้ง่าย ดังนั้นเวลาออกกำลังกาย ไม่ว่าจะวิ่ง ว่ายน้ำ หรือประเภทอื่นๆ ควรมีเพื่อนอยู่ด้วย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น
เป็น โรคหัวใจ ออกกำลังกาย แค่ไหนถึงพอดี
นอก เหนือจากการกินยา ผ่าตัดแล้ว การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถรักษาโรคหัวใจให้หายได้ ทั้งนี้ การออกกำลังกายของคนที่เป็นโรคหัวใจนั้น ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วยว่า ควรออกกำลังกายประเภทไหน ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม แต่ให้ออกกำลังกายทีละน้อยและเพิ่มให้มากขึ้นหรือน้อยตามความเหมาะสมของ สภาพร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคหัวใจดีขึ้นได้
เราแบ่งการออกกำลังกายออกเป็นสองประเภทคือ
การออกกำลังกายชนิดแอโรบิก (Aerobic or isotonic exercise) คือการออกกำลังกายที่ต้องใช้พลังกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อน ไหว ซึ่งในขณะที่กล้ามเนื้อของเราออกแรงอย่างเต็มที่นั้น จะทำให้มีการรับออกซิเจนเข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น มีการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้นด้วย
การออกกำลังกายชนิดแอนแอโรบิก (Anaerobic or isometric exercise) โดยการออกกำลังกายชนิดนี้ ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวน้อย แต่ใช้แรงมาก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า เช่น การยกน้ำหนัก เป็นต้น
สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจคือ การออกกำลังกายชนิดแอโรบิกครับ ซึ่งดูได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
- การเดินเร็ว เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งอายุมากแล้ว เพราะการออกกำลังกายชนิดนี้ จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยจนเกินไป ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่มีการเดินเร็วสัปดาห์ละ 1-3 ชั่วโมง จะลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
- การวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาน้อยกว่า ทั้งยังให้ผลดีต่อหัวใจมากกว่าการเดิน เพราะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงสูบฉีดเร็วกว่า ลดความเครียด และช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แข็งแรงอีกด้วย
- การเล่นเทนนิส – เป็นการออกกำลังกายอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขนและขา นอกจากนั้นยังทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยดีขึ้น และเมื่อมีการออกกำลังกายอย่างเต็มที่จะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น
- การว่ายน้ำ – การออกกำลังกายในน้ำ มีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และมีความยืดหยุ่น อีกทั้ง น้ำยังเป็นตัวพยุงน้ำหนักที่ดี ทำให้แม้จะออกแรงมากแต่ก็รู้สึกว่าเหนื่อยน้อยกว่าการออกกำลังกายบนบก
ข้อมูลเรื่อง 4 เทคนิคออกกำลังกาย สำหรับคนเป็น โรคหัวใจ จากนิตยสาร ชีวจิต
ชีวจิต แนะนำ อาหารเพื่อผู้ป่วย โรคหัวใจ
หอม ทั้งหอมหัวใหญ่ หอมเล็ก และต้นหอม
มีข้อดีในเรื่องการช่วยบำรุงเลือดและหัวใจ เนื่องจากในหอมจะมี สารพลาโวนอยด์ที่ช่วยยับยั้งไม่ให้เกล็ดเลือดไปรวมตัวกันจนแข็งตัวแล้วไปอุดตันตามเส้นเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะป็นโรคหัวใจลงไปได้ นอกจากนี้หอมต่าง ๆ ยังช่วยลดอาารอักเสบ แก้หวัด คัดจมูก และยังมีสารเควอร์ซิทิน ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงป้องกันโรคมะเร็งได้
พริก
มีสารแคปไซซินที่ให้ความเผ็ด ช่วยทำให้จับกลุ่มของเกล็ดเลือด ลดการสร้างไขมันในร่างกาย ลดการดูดซึมไขมันในเส้นเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปใช้ได้สะดวก ไม่มีเลือดมาอุดตันตามหลอดเลือด
ใบบัวบก
มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งธาตุเหล็กเป็นสารช่วยบำรุงหัวใจ และยังมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันการเป็นโรดเลือดจางช่วยให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น และยังช่วยแก้อาการชำในและร้อนในด้วย โดยวิธีการทำใบบัวบกรับประทาน ให้นำก้านและใบมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดและคั้นเอาส่วนที่เป็นน้ำไปต้ม อาจจะเติมน้ำตาลหรือเกลือบ้างเล็กน้อย เสร็จแล้วก็นำมาดื่มได้เลย
กระเจี๊ยบแดง
นำกระเจี๊ยบแดงมาต้มกับน้ำ แล้วเติมน้ำตาลลงไปเล็กน้อยเพื่อลดความเปรี้ยว หากดื่มบ่อย ๆ จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความดันเลือด บำรุงเลือดให้ไหลเวียนดีขึ้น เป็นการบำรุงร่างกายได้ หรือจะนำกระเจี๊ยบแดงมาต้มกับพุทราจีนก็ช่วยกำจัด ไขมันไม่ดีในร่างกายได้
กระเทียม
เป็นสมุนไพรที่ถือได้ว่าต้องมีคิดอยู่ทุกบ้านมีสรรพคุณและประโยชน์ดี ๆ มากมายที่มีต่อสุขภาพหัวใจ ในกระเทียมนั้นมีสารอัลลิชินที่ช่วยลดไขมันเลวในเลือด และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของหัวใจ กระเทียมจึงช่วยลดโอกาสการอุดตันไขมันในหลอดเลือด ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่ากระเทียมมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดความดันเลือด รวมทั้งเป็นสารต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือดด้วยการทำให้เกล็ดเลือดบางลง จึงป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือดได้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าหากกินกระเทียมสดวันละ 2 – 3 กลีบ จะช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรงขึ้นได้
ดอกคำฝอย
นำมาต้มน้ำดื่มช่วยป้องกันโรคหัวใจและรักษาหลอดเลือดได้ เพราะน้ำมันจากดอกคำฝอยมีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความดันเลือดสูง บำรุงเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น ช่วยป้องกันโรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเส้นเลือดหัวใจตีบได้
เสาวรส
นำเสาวรสที่แก่จัดหลายๆ ลูกมาล้าง คั้นเป็นน้ำผลไม้ เติมเกลือกับน้ำตาลเข้าไปเล็กน้อย เมื่อดื่มกินบ่อยๆ จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ทำให้ไม่เป็นโรคหัวใจได้ เพราะการที่เส้นเลือดของเรามีไขมันสูงมากเกินไปจะไปกระตุ้นทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ในเสาวรสยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมถึง 384 มิลลิกรัมต่อเสาวรส 100 ซึ่งโพแทสเซียมมีความสำคัญต่อเซลล์และของเหลวในร่างกาย รวมทั้งช่วยควบคุมการทำงานของหัวใจและความดันโลหิตให้เป็นปกติได้ด้วย
ใบเตยหอม
ช่วยบำรุงหัวใจและลดความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งวิธีการคือนำใบสดมาคั้นดื่ม ครั้งละประมาณ 2 – 4 ช้อนแกง (4 -8 ช้อนโต๊ะ) หรือต้มใบเตยกับน้ำเปล่าแล้วดื่มเช้า – เย็น จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพราะใบเตยมีฤทธิ์บำรุงกำลังและระบบประสาท
บทความอื่นที่น่าสนใจ
การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน
เปิดตำราหมอ ฮิปโปเครตีส ผู้บัญญัติศัพท์ “Cancer” หรือมะเร็ง คนแรกของโลก
สังเกตลิ้น เช็ค แพ้อากาศ + ไรฝุ่น
เกลือและโซเดียม ภัยเงียบบั่นทอนสุขภาพ
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต