เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,เนาวรัตน์,น้ำพริก,น้ำพริกเผา

สงบเย็น เป็นประโยชน์ ด้วยวิถีชีวจิต กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับวิถีเรียบง่าย สไตล์กวีซีไรต์

สำหรับบุคคลที่จะมาแบ่งปันเทคนิคและเคล็ดลับการดูแลสุขภาพในตอนนี้ ผู้เขียนขอเลือกอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรางวัลซีไรต์ที่โด่งดังและเป็นที่จดจำจากรุ่นสู่รุ่น

“อย่าเอาแต่  สงบเย็น  เห็นโทษแท้
อย่าเอาแต่  เป็นประโยชน์  จิตโลดเร่า
สงบเย็น  เป็นประโยชน์  ลดมัวเมา
ส่วนตัวเอา  เผื่อแผ่  แก่ส่วนรวม”

น้ำเสียงหนักแน่นขับกลอนพลางเว้นจังหวะชัดเจนอันเป็นเอกลักษณ์ ส่งผ่านหลักการครองตนครองชีวิตของมนุษย์ให้แก่ผู้ฟังนี้ คงไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากกวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ประพันธ์ผลงานทรงคุณค่ามากมายและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนได้เสมอ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,เนาวรัตน์,น้ำพริก

นี้ชีวจิตมีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับอาจารย์เนาวรัตน์ที่ร้าน“แมวหูหนา” ซึ่งเป็นร้านหนังสือเล็กๆบรรยากาศสบายๆใจกลางกรุงเทพฯ

“ชื่อของนิตยสารชีวจิตเป็นชื่อที่บอกองค์ประกอบของมนุษย์ได้ครบอยู่แล้ว  คือ  ชีวิตและจิตใจ  ในด้านชีวิต  เราควรดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติ  อย่านำสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในร่างกาย  อย่ากินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือก่อให้เกิดโทษ  และอย่าใช้ร่างกายไปในทางที่ผิด อย่าทำกิจกรรมที่จะทำให้ร่างกายผิดปกติ

“เรื่องของจิตใจก็ควรดูแลอยู่เสมอ  คนเรามักรู้เรื่องนอกจิตใจตัวเองเสียเยอะ  แต่มักไม่รู้ไม่เข้าใจจิตภายในของตัวเอง  เราจึงต้องฝึกควบคุมจิตใจของตัวเองหากทำได้ทั้งสองอย่าง  เพียงเท่านี้ก็จะมี‘ชีวจิต’ที่สมบูรณ์”

อาจารย์เนาวรัตน์ได้เล่าถึงหลักการง่ายๆในการใช้ชีวิตที่ยึดถือและปฏิบัติอยู่เป็นนิจ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไว้ดังนี้

ชีวิต

แม้จะอายุกว่า 78 ปีแล้ว อาจารย์เนาวรัตน์ยังคงทำงานทุกวัน สร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ทรงคุณค่าออกมาเรื่อยๆ และผลงานทุกชิ้นของท่านล้วนมีความวิจิตรบรรจง เรียงร้อยถ้อยคำได้งดงาม ซึ่งต้องยอมรับว่าคลังคำที่ท่านสะสมไว้นั้นมีมากมายมหาศาล เราจึงถามถึงเคล็ดลับการบำรุงสมองและความจำ ซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับนักเขียน

“การอ่านและการเขียนเป็นสิ่งที่ผมทำมาตั้งแต่เด็กจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ผมจะอ่านหรือเขียนงานทุกวัน  พออยู่กับสิ่งเหล่านี้จนเป็นนิสัย  จึงช่วยให้มีพัฒนาการ  มีความชำนิชำนาญ และช่วยให้สามารถทำงานตรงนี้ได้ถึงแม้จะอายุมาก  การอ่านและการเขียนเป็นประจำช่วยได้จริงๆครับ”

นอกจากนั้นอาจารย์เนาวรัตน์ยังแนะนำให้กินอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนและเลือกสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน โดยท่านจะจัดให้ในหนึ่งวันมีมื้อใหญ่หนึ่งมื้อ ซึ่งต้องเป็นมื้อที่ให้คุณประโยชน์ครบ เมนูที่อาจารย์แนะนำคือ

“ข้าว -ผัก -น้ำพริก -ปลาทู”

เพราะได้พลังงานจากข้าว ได้วิตามินและแร่ธาตุจากผักและน้ำพริกได้โปรตีนจากปลา ทั้งในปลาทูยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ดีและจำเป็นต่อร่างกาย เพราะช่วยในการทำงานของระบบประสาท เมนูนี้จึงเป็นอาหารไทยพื้นบ้านที่อาจารย์เนาวรัตน์ยกให้เป็นมื้อโปรดเลยก็ว่าได้

“ผักที่นำมากินกับน้ำพริกนั้นผมชอบกินผักป่า  ซึ่งเป็นผักตามฤดูกาล  ขึ้นเองตามธรรมชาติ  พอถึงฤดู  ชาวบ้าน
ก็จะไปเก็บมาขายครับ” อาจารย์เนาวรัตน์กล่าว

สาเหตุที่แนะนำให้เลือกกินผักป่าตามฤดูกาลเพราะว่าเป็นผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในฤดูกาลต่างๆ ไม่ใช่การปลูกเชิงพาณิชย์ ผักเหล่านี้จึงเป็นผักออร์แกนิก ทั้งยังมีราคาถูกและช่วยให้เรากินผักได้หลากหลายตลอดปีอีกด้วย

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,เนาวรัตน์,น้ำพริก

สูตรเด็ดกวีซีไรต์ น้ำพริกเผาเมืองกาญจน์

เพราะชื่นชอบน้ำพริกเป็นพิเศษ อาจารย์เนาวรัตน์จึงให้สูตรน้ำพริกถ้วยโปรดที่มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากมานำเสนอในรูปแบบของบทกลอนที่ท่านถนัด

พริกแห้งเผา  หอมเผา  กระเทียมเผา
เอาลงครก  โขลกเคล้า  ผสมผสาน
กะปิเผา  มะขามเปียก  น้ำปลา  น้ำตาล
“น้ำพริกเผาเมืองกาญจน์”  บ้านฉันเอง

นับว่าเป็นสูตรเด็ดที่ทำตามได้ง่ายและสามารถปรับสัดส่วนได้ตามชอบใจ เมนูนี้อาจารย์เนาวรัตน์บอกว่ามีลักษณะเด่นตรงที่มีรสหวานและรสเค็มเป็นรอง ไม่หวานนำเหมือนน้ำพริกเผาสูตรอื่น หากกินคู่กับผักลวกจะอร่อยมาก ทำแล้วสามารถเก็บไว้กินได้หลายมื้อ เป็นกับข้าวคู่ครัวเวลาหิวได้ค่ะ

จิตใจ

งานเขียนของอาจารย์เนาวรัตน์หลายชิ้นให้ข้อคิดเรื่องการครองตนและการใช้ชีวิตที่มีประโยชน์ไว้มากมาย เมื่อลองสอบถามถึงหลักในการใช้ชีวิตของตัวท่านเอง อาจารย์เนาวรัตน์เล่าว่า

“ผมใช้หลักพุทธธรรมนำชีวิต  ซึ่งมีคำสอนมากมายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง  แต่มีหลักการอยู่ 4 ข้อที่ผมอยากจะแนะนำ อาจทำได้ยากเสียหน่อย  แต่หากรับรู้ไว้ก็จะช่วยให้เราชั่งใจและมีสติในการควบคุมตนเองมากขึ้น” โดยอาจารย์เนาวรัตน์ได้สรุปแนวคิดไว้ดังนี้

1. อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด คิดถึงตัวเองให้น้อยที่สุด โดยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลงดีๆ เป็นต้น เพราะกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง จิตใจจะรับรู้เรื่องราว ณ ขณะนั้น ไม่มัวพะว้าพะวังกับสิ่งไม่ดีที่สุมในจิตใจ ทำให้เกิดความสุขและไม่เหงา

2. สงบเย็นเป็นประโยชน์ เมื่อให้เวลาอยู่กับตัวเองมากที่สุด คิดถึงตัวเองน้อยที่สุดแล้ว จะได้ความสงบเพลิดเพลินไม่เร่าร้อน ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง จึงใช้ความสงบนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม เช่น การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์หรือไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็นับว่าเป็นประโยชน์แล้ว

3. สงบเย็นเป็นปกติ เวลามีความสุข จิตใจจะพองโตขึ้น แต่เมื่อมีความทุกข์ จิตใจจะห่อเหี่ยว ซึ่งทั้งสองภาวะนี้จัดว่าไม่เป็นปกติ ดังนั้นเมื่อมีความสุขหรือทุกข์ หากเรารู้เท่าทันและดึงจิตใจให้กลับมาเป็นปกติเร็วที่สุด จะช่วยให้จิตใจสงบ ถึงจะทุกข์ ทุกข์นั้นก็จะอยู่ได้ไม่นาน

4. ว่าง พึงระลึกและมองเห็น“ความไม่มี ในความมี” มองเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ แม้แต่ชื่อของทุกคนก็เป็นสิ่งสมมติขึ้นมา เรียกว่า “คน”คำนี้ก็เป็นสิ่งสมมติขึ้นมา ดังนั้นการทำจิตให้ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมดจะทำให้
จิตใจเป็นปกติสุข

กระนั้นอาจารย์เนาวรัตน์บอกว่าไม่จำเป็นต้องทำได้ทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่ทำยาก เพียงแต่การรับรู้ไว้จะช่วยให้ได้ทบทวนตัวเราและมีสติรับรู้จิตใจตนเอง ก่อนนอนลองนำหลักทั้ง 4 ข้อมาทบทวนดู จะช่วยให้หลับง่ายขึ้นด้วย

เมื่อดูแลทั้งชีวิตและจิตใจให้เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติแล้ว ก็จะช่วยให้ทุกท่านมี“ชีวจิต”ที่สมบูรณ์

ขอบคุณสถานที่ ร้านหนังสือ Mahuna books et cetera (แมวหูหนา) Aree Garden เลขที่ 62 ซอยพระราม 6 ซอย 30 ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์0-2278-0944

(บทสัมภาษณ์จากคอลัมน์ Younger Everyday นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 382)


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

การรู้จักตัวเอง คือการดูแลตัวเอง นิรุตติ์ ศิริจรรยา ผู้รับบท ออกญาโหราธิบดี

มีธรรมครองจิต ชีวิตยืนยาว เรื่องราวการดูแลสุขภาพกาย-ใจดีๆ จาก ชรัส เฟื่องอารมย์

ประสบการณ์สุขภาพ หยุดทรมานจาก เบาหวาน เรื้อรัง (20ปี) ด้วยวิธีแบบชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.