กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

บอกลา 4 ไลฟ์สไตล์ทำให้ น้องสาว อักเสบ

ดูแล น้องสาว ให้ดีกว่านี้ ก่อนที่จะป่วย!

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคฮิตของสาววัยทำงาน นั่นเพราะไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ จนทำให้นั่งติดโต๊ะเป็นเวลานาน และยังมีเรื่องของความสะอาดของ น้องสาว ที่หลายคนเข้าใจผิด ซึ่งเป็นที่มาของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ทำไม น้องสาว จึงป่วย?

สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นมาจาก ท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น มีความยาวเพียง 2 เซนติเมตร ดังนั้น เชื้อโรคจึงเข้าสู่ท่อปัสสาวะ และไต่ขึ้นกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบที่มาจากเชื้อโรคปนเปื้อนทางทวารหนัก เช่น เชื้ออีโคไล หรืออาจมาการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เป็นช่องคลอดอักเสบ เชื้อโรคจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ส่งผลให้ สาว ๆ ต้องปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบ ขัด ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีหนองปน

ทั้งนี้ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวขณะปัสสาวะ และพักผ่อนได้น้อย เนื่องจากต้องตื่นมาปัสสาวะตลอดทั้งคืน

ถึงจะไม่ใช่โรครุนแรงแต่ก็อย่า นิ่งนอนใจนะคะ เพราะโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากเชื้อโรคในกระเพาะปัสสาวะไต่เข้าสู่กรวยไต ยิ่งคนที่ภูมิต้านทานต่ำ หรือหญิงมีครรภ์ จะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และทำให้เสียชีวิตได้

4 ไลฟ์สไตล์ชวนเสี่ยง

เรามาดูกันดีกว่าว่า ไลฟ์สไตล์ไหน ที่จะทำให้คุณเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ้าง

  1. ไม่ดูแลร่างกาย

ผู้ที่ไม่ดูแลร่างกาย มักมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ซึ่งการมีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ การดื่มน้ำมาก ๆ จะทำให้เชื้อโรคถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงเลย ก็ง่ายที่เชื้อโรคจะเดินทางเข้าสู่กรวยไต

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยากดภูมิต้านทาน เช่น สเตียรอยด์ ผู้ป่วยโรคเอดส์ สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่เป็นมะเร็ง มักเสี่ยงแก่การเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้น จึงต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

  1. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะจะทำให้ปัสสาวะข้น มีการสะสมของแบคทีเรีย กระเพาะปัสสาวะจึงติดเชื้อง่าย แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ควรดื่มน้ำ 30-50 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม

การดื่มน้ำมากเกินความจำเป็น จะทำให้ปัสสาวะบ่อย ส่งผลให้ช่องคลอดเปียกชื้น เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ที่จะเข้าสู่ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้  ไม่ควรดื่มน้ำหวาน เพราะเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียมักชอบรสหวาน

  1. กลั้นปัสสาวะ

หลายคนมักกลั้นปัสสาวะ เพราะมุ่งมั่นกับการทำงาน แต่นั่นส่งผลเสียต่อกระเพาะปัสสาวะอย่างแน่นอน ดังนั้น ให้ปัสสาวะครั้งละ 2-3 ชั่วโมง กลางวันควรปัสสาวะ 4-5 ครั้ง ขณะที่กลางคืน ไม่ควรดื่มน้ำมาก เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พักผ่อน

กระเพาะปัสสาวะของผู้หญิง สามารถเก็บปัสสาวะได้ราว 300 ซีซี ซึ่งตอนกลางคืน ไม่ควรปัสสาวะเกิน 1-2 ครั้ง หากมากกว่านั้น อาจมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

น้องสาว อักเสบ

  1. ใช้ห้องน้ำสาธารณะแบบผิด ๆ

เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน หลายคนจึงพึ่งพาห้องน้ำสาธารณะ แต่โถสุขภัณฑ์และสายชำระที่สกปรก ก็มาเป็นของคู่กัน เรามีคำแนะนำดังนี้ค่ะ

  • นั่งยอง ๆ ปัสสาวะ เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น การนั่งยองๆ จะทำให้เชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียกระเด็นเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้ นอกจากนี้ การนั่งยอง ๆ มักทำให้ปัสสาวะไม่หมด ส่งผลให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
  • ถ้าจะนั่งโถชักโครก ควรใช้ผ้าหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนนั่ง ในกรณีที่ไม่สามารถ ก็ไม่ควรสัมผัสกับโถชักโครก การเกร็งขาจะปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากเชื้อโรครอบ ๆ โถปัสสาวะ
  • เลี่ยงการใช้สายชำระ สาว ๆ มักติดการใช้สายชำระ ซึ่งสายชำระนอกบ้าน เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค น้ำที่ค้างอยู่ที่หัวฉีด หรือเชื้ออีโคไลในห้องน้ำ จะทำให้น้องสาวของเราติดเชื้อได้ง่าย การใช้ทิชชูเปียก น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
  • ไม่ควรรีบร้อน การเข้าห้องน้ำสาธารณะมักมาพร้อมความรีบร้อน เพราะเกรงใจคนที่ต่อคิว แต่นั่นจะยิ่งทำให้คุณมีเชื้อโรคตกค้างในกระเพาะปัสสาวะได้

ไลฟ์สไตล์ของคุณเข้าข่าย 4 ข้อนี้รึเปล่า ถ้าใช่ รีบปรับพฤติกรรมโดยด่วน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของเรานะคะ

ต่อกันอีกนิดกับ ภาวะการกลั้นปัสสาวะลำบาก

หรือ ปัสสาวะเล็ดในผู้สูงวัยนั้น นับเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน และก่อให้เกิดความกังวลใจในการเข้าสังคม โดยความรุนแรงของอาการนั้นเริ่มตั้งแต่การมีปัสสาวะหยดมาเปื้อนกางเกงในปริมาณที่ไม่มากนัก ไปจนถึงมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาเป็นปริมาณมาก

ที่บอกไปว่าภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุนั้น เพราะนอกจากพบได้บ่อยแล้วยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในแง่ของสุขภาพกายเช่นปัสสาวะที่ราดออกมาจะทำ ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเพิ่มอุบัติการณ์ในการหกล้มเป็นต้นส่วนในแง่ของสุขภาพจิต พบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะดังกล่าวจะรู้สึกว่าตนเองไม่ปกติมีภาวะซึมเศร้า อายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และไม่ยอมเดินทางออกนอกบ้าน

บางครั้งอาจมีอุจจาระเล็ดร่วมด้วย ผู้สูงวัยบางท่านแม้ยังไม่เริ่มมีอาการดังกล่าวแต่ก็อาจเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกอยากปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ทั้งสิ้น

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเป็นกรดในปัสสาวะและภูมิคุ้มกันลดลง รวมถึงมีแหล่งสะสมเชื้อโรคเพิ่มในร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการปัสสาวะเล็ด ทั้งนี้ เมื่อระบบทางเดินปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้เกิดการอักเสบ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ติดเชื้อส่วนบนของระบบทางเดินปัสสาวะจะมีผลต่อไตและท่อไต 2. ติดเชื้อส่วนล่างของระบบทางเดินปัสสาวะจะมีผลต่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

โดยมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขุ่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ถ้าติดเชื้อที่กรวยไตจะมีไข้ ปวดหลังร่วมด้วย ส่วนสาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุลดลง เช่น ผู้ชายจะติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อลดลง ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีเชื้อ แลคโตบาซิลลัสบริเวณช่องคลอดน้อย ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อรักษาอาการปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือใส่ในช่วงผ่าตัด อาจเสี่ยงทำให้เชื้อโรคเข้าไปในทางเดินปัสสาวะได้

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมองทำให้ประสาทในการควบคุมการทำงานของ กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้ปัสสาวะค้าง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และโรคอื่นๆ เช่น เก๊าท์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

ด้านสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า ผู้สูงอายุเมื่อมีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และควรดื่มน้ำให้มาก อย่างน้อยวันละ 8 -10 แก้ว เพื่อขับเชื้อออกจากปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นภายใน 5 – 7 วัน

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนี้

1. ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร เพื่อทำให้ปัสสาวะเจือจางและล้างเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แบคทีเรียลดลง
2. ดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาด
3. สวมเสื้อผ้า กางเกงที่โปร่งสบายเพื่อป้องกันการอับชื้น
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ ชา น้ำอัดลม
5. ไม่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันท้องผูกเพราะมีผลต่อการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขอนามัย ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

บทความอื่นที่น่าสนใจ

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

แกงไทย กับการช่วยป้องกันมะเร็ง

“ฝันดี – ฝันร้าย” ความฝัน เกี่ยวข้องอย่างไรกับสุขภาพ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.