ปัจจุบันนี้ โรคหัวใจในวัยรุ่น พบได้มากขึ้น โดยโรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเยอะที่สุดทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ในอดีตโรคหัวใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน
ข้อมูลจาก รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า
สาเหตุของโรคหัวใจในคนอายุน้อย
โรคหัวใจนั้นมีปัจจัยเลี่ยงหลายอย่าง แต่คนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พบมากที่สุดก็คือการสูบบุหรี่ บางคนอายุแค่ 30 – 35 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนัก ๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่
อาการของโรคหัวใจ
- อาการเหนื่อยง่าย เบื้องต้นสามารถสังเกตอาการตัวเองได้จากพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำได้ เช่น จากที่เคยขึ้นบันไดได้สองสามชั้นแบบสบาย ๆ ตอนนี้ขึ้นแค่ชั้นเดียวก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แสดงว่าร่างกายของคุณเริ่มผิดปกติแนะนำให้รีบไปเช็กด่วน เพราะนอกจากโรคหัวใจแล้วยังมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันอีกด้วย
- อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงมักจะเจ็บบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หายใจไม่ออก อึดอัดเหมือนมีของหนักมาทับที่หน้าอก บ่งบอกว่าอาจจะเป็นสัญญาณของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
- อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น
เป็นโรคหัวใจออกกำลังกายได้หรือไม่
ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ และควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 – 45 นาที สามารถออกกำลังกายหรือกิจกรรมแบบใดก็ได้แล้วแต่สภาพร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน ฯลฯ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป ส่วนผู้ที่ยกเว้นการออกกำลังกายเลยคือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
คนเป็นโรคหัวใจมีสิทธิ์จะวิ่งไหม
หนังสือคู่มือวิ่งเพื่อสุขภาพ ระบุว่า คนมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือมีโรคหัวใจจะออกกำลังกาย โดยการวิ่งได้ไหม เราจะพูดกันถึงคนที่เป็นโรคหัวใจแท้ๆ ชนิดเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ค่อยพอ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (แทนที่จะเต้นตุบ ตับ ตุบ ตับ กลับมีจังหวะแปลกๆ เข้ามาแทรกช้อน) ว่าพวกเขายังมีสิทธิ์คิดวิ่งอยู่หรือเปล่า เมื่อไม่นานมานี้ คนที่เป็นโรคหัวใจ ถูกบังคับให้นั่งๆ นอนๆ ภาษาแพทย์ใช้คำง่ายๆ สบายหูว่า “พักผ่อน” คนไข้พวกนี้เลยได้ทั้งพักและ “ผ่อน” คือ จนจมไปในโลกและโรคของความสบายมากเข้าทุกวัน ไขมันยิ่งจับเพิ่มพูนเป็นดินพอกหางหมู โรคหัวใจเลยไม่รู้จักดีขึ้นสักที
ซึ่งมาบัดนี้ การแพทย์เปลี่ยนแนวทางการรักษาใหม่ เขาจับให้คนไข้เหล่านี้ออกกำลังทันทีที่ฟื้นคืนตัว พูดง่ายๆ คือบังคับให้รักษาตัวตั้งแต่อยู่ในห้องไอซียู เริ่มด้วยออกกำลังลุกนั่งบนเตียง เรียกว่าเอามาเลี้ยงดูให้รู้จักดำเนินชีวิตใหม่ กลับบ้านไปก็ให้ออกกำลังต่อตามกำหนด เพื่อที่จะลดการเป็นโรคหัวใจซ้ำอีก
การแพทย์ปัจจุบันรู้แล้วว่า โรคหัวใจป้องกันได้ พูดง่ายๆ ไม่น่าที่จะเป็น และเมื่อเป็นแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะต้องพิการใจไปตลอดชีวิต เขาสามารถสร้างชีวิตใหม่ได้โดยการออกกำลัง ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจ จึงเห็นวิ่งกันอยู่ทั่วไป เรียกว่าการออกกำลังสามารถใช้เป็น “กาวใจ” สำหรับผู้เป็นโรคหัวใจก็ไม่ผิด
บทความอื่นที่น่าสนใจ
นอนเยอะ ไม่ดีต่อสุขภาพ จริงหรือ!
ไขมันในเลือดสูง ตัวการสู่สารพัดโรค
อาการปวดฟัน ที่คุณควรรู้ พร้อมวิธีแก้แบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง