เป็นหรือเปล่า โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ
เคยไหมทั้งที่เมื่อคืนก็นอนเต็มอิ่ม ไม่ได้ตื่นกลางดึก แต่ตื่นเช้ามากลับรู้สึกอ่อนล้า เพลีย ๆ เหมือนนอนหลับไม่เต็มที่ หากมีอาการละก็ อาจเป็นสัญญาณว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือนอนกรน คราวนี้เรามาดูสัญญาณเตือนกันหน่อยว่า คุณอาจป่วย โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับหรือไม่
หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยด่วนจ้า
อาการ โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ
- นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ
- ญาติสังเกตเห็น ขณะนอนหลับมีหยุดหายใจ โดยอาจหายใจแรง ๆ เสียงดังเป็นพัก ๆ สลับกับนิ่งเงียบ แล้วหายใจเฮือก เหมือนจะสำลักน้ำลาย บางครั้งผู้ป่วย จะตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก
- ง่วงนอนกลางวัน บางครั้งเผลอหลับไปในสถานการณ์ที่ไม่สมควร เช่น ขณะทำงาน ประชุม หรือชับรถเป็นต้น บางครั้งอันตรายมาก ถึงขั้นชีวิตตนเอง และผู้อื่นจากการหลับใน ง่วงแล้วขับ จนเกิดอุบัติเหตุรถยนต์
- มีปัญหาเรื่องไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริต หรือ ซึมเศร้า
- ตื่นนอนตอนเช้ามีอาการ ปวดศีรษะ หรือ คลื่นไส้
- ตื่นบ่อย ปัสสาวะบ่อย ในช่วงนอนหลับกลางคืน
- ความต้องการทางเพศลดลง ผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลง ส่วนผู้หญิงอาจมีปัญหา ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- อาการเหล่านี้ผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่ได้มีทุกอย่าง และมีความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป
- และที่สำคัญปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน อย่างช้า ๆ ดังนั้น ตัวผู้ป่วยเอง อาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติอะไร หรือคิดว่าเป็นอาการผิดปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุทั่วไป จึงมิได้ใส่ใจ แต่คนรอบข้างในครอบครัว หรือ เพื่อนร่วมงาน อาจจะเป็นผู้ที่ผิดสังเกต มองเห็นถึงความผิดปกติว่า ผู้ป่วยมีความง่วงนอนผิดปกติ หรือมีอารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์
โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร
โรคนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจระหว่างหลับ ( Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA ) ตามนิยามของวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา ( AASM ) คือ ภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจไปเลย นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไป แล้วสะดุ้งตื่น ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง หรือมีดัชนีการรบกวนการหายใจ ( Respiratory Distress Index, RDI ) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าคนคนนั้นต้องสะดุ้งตื่น เพราะถูกรบกวนการหายใจแบบใด ๆ ( Respiratory Event–Related Arousals, RERA ) มากกว่าชั่วโมงละ 15 ครั้งขึ้นไปทั้งหมดนี้ต้องร่วมกับมีอาการง่วงตอนกลางวัน โดยที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาใด ๆ ช่วย
โดยการจะระบุจำนวนครั้ง ที่เกิดการหยุดหายใจ หรือจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะถูกรบกวนการหายใจระหว่างนอนหลับเพื่อวินิจฉัยโรคนี้ จำเป็นต้องทำการตรวจวัดค่าต่างๆ ขณะนอนหลับ ( Polysomnography, PSG ) ซึ่งต้องทำในห้อง Sleep Lab หรือเข้าเครื่องตรวจขณะนอนหลับก่อนเท่านั้น
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (EDS, Excessive Daytime Sleepiness) มึนงงตั้งแต่เช้า ความจำเสื่อม สมองไม่แล่น ไม่ว่องไว ซึมเศร้าวิตกกังวล บุคลิกและอารมณ์เปลี่ยนแปลงหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นโรคกรดไหลย้อน โดยการหยุดหายใจมักเกิดในระยะหลับฝัน หรือที่เรียกว่า REM Sleep
นอนกรน สาเหตุของโรคอีกมากมาย
อาการนอนกรนบ่งบอกถึงอาการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทําให้มีอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการสะดุ้งตื่นบ่อยๆ ทําให้เกิดความเหนื่อยอ่อน ความดันโลหิตสูงสมรรถภาพต่างๆ ในการทํางานลดน้อยลง มีปัญหาทางบุคลิกภาพและการอยู่ร่วมในสังคม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจพบว่าอาการนอนกรนมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย
จะทราบได้อย่างไรว่า คุณเป็นโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ
หากคุณมีอาการนอนกรนดัง เป็นประจำ หรือมีอาการ ดังที่กล่าวข้างต้น ควรจะไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อที่จะได้รับการรักษาต่อไป การตรวจวินิจฉัยจำเป็นต้อง มารับการตรวจการนอนหลับ ในห้องปฏิบัติการ การนอนหลับ ( Sleep Laboratory ) โดยจะมีการติดอุปกรณ์ลายอย่างเพื่อวัดคลื่นสมองขณะนอนหลับวัดระดับออกซิเจน และลมหายใจ เป็นต้น และนับเป็นข่าว ที่ชาวออฟฟิศสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคม ในการตรวจ Sleep Test ได้แล้ว อ่านรายละเอียด > ประกันสังคมตรวจ Sleep Test ได้แล้ว!!
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล