กินยานอนหลับ ไปนานๆ จะทำให้สุขภาพเสีย หรือมีผลกระทบอะไรบ้าง วันนี้นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ อธิบายไว้ในหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดี ตลอดชีวิตว่า
กินยานอนหลับ กินได้แค่ไหน
ไม่ควรกินยานอนหลับติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ หากต้องกินนานกว่านั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ มีผลงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การกินยานอนหลับติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะการกินยานอนหลับนั้นแม้ทำให้สมองได้พัก แต่เป็นการพักแบบดับเครื่องไปเลย เปรียบได้กับการถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ออก
โทษของยานอนหลับ
ปกติสมองของคนเราเมื่อนอนหลับจะไม่ได้ปิดตัวเอง แต่ทำงานอีกแบบคือ สั่งให้ฮอร์โมนไปซ่อมแซมร่างกายส่วนต่างๆ ทว่าเมื่อกินยานอนหลับ ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ตอนกลางคืนจะไม่ได้ทำงาน ร่างกายจึงไม่ได้รับการซ่อมแซมนั่นเอง เมื่อไม่ได้รับการซ่อมแซมทั้งร่างกายและสมองจึงแก่และเสื่อมโทรมลง ก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมายเช่น
โรคทางสมองและระบบประสาทอัลไซเมอร์
ยานอนหลับมีฤทธิ์กดสมองทำให้เซลล์สมองเสื่อมลง จำอะไรไม่ค่อยได้ เลอะเลือน และหลงลืมเรื่องสำคัญๆ แล้วยังพบว่า ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย สมองสับสน และหุนหันพลันแล่น หากไม่หยุดกินยานอนหลับและไม่ได้รับการบำบัดที่เหมาะสมอาจทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย
ดื้อยานอนหลับ
เมื่อใช้ยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งโดยใช้ยาเท่าเดิม จะได้ผลน้อยลงๆ แล้วต้องใช้ยาขนาดที่สูง่ขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิดพิษหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาได้ คือ “กดการหายใจ” ซึ่งทำให้หายใจผิดปกติ มีลักษณะหายใจช้า หายใจตื้น หายใจแผ่วเบา และอาจถึงขึ้นหยุดหายใจได้
ติดยานอนหลับ
คือ เมื่อใช้ยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งแล้วหยุดไม่ใช้ยา อาจทำให้นอนไม่หลับ จึงต้องใช้ยาอยูตลอดทุกวัน เหมือนกับการติดยา หรือต้องพึ่งยาจึงจะช่วยให้นอนหลับได้
ยานอนหลับทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ยานอนหลับบางชนิดอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้โดยเฉพาะในผู้ชาย ดร.อาร์มอน บี. นีล จูเนียร์ กล่าวถึงสาเหตุที่ยานอนหลับประเภท benzodiazepine ส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศว่า ยาชนิดดังกล่าวมีฤทธิ์กล่อมประสาทและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ
ของกินช่วยนอนหลับ
ในเมื่อยานอนหลับเป็นสิ่งไม่ดีกับร่างกาย ดังนั้นแล้ว ชีวจิตก็จะแนะนำ 3 ของกินที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นแบบไม่ต้องพึ่งยา ซึ่งเป็นของกินหาง่าย และรสชาติอร่อยด้วยค่ะ
เก๋ากี้
หรือที่หลายคนเรียกว่า โกจิเบอร์รี่ เป็นทั้งผลไม้และสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุมากมาย จากผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Alternative and Complementary Medicine เมื่อปี ค.ศ. 2008 พบว่า อาสาสมัครทั้งหมด 75 คนที่ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่เป็นประจำนาน 15 วัน มีแนวโน้มสุขภาพแข็งแรงขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีพลังงานมากกว่าที่ผ่านมา นอนหลับได้ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
ซึ่งเมื่อทดลองดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ค้นพบว่ากลุ่มอาสาสมัครมีความเครียดน้อยลง ความอ่อนเพลียเหนื่อยล้าลดลง ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีความสุขสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ได้ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่เป็นประจำ
คำเตือน: หนังสือ พฤกษบำบัด ยาดีจากธรรมชาติ สำนักพิมพ์บ้านและสวน ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่กำลังรับการบำบัดด้วยเคมีหรือฉายแสงควรหลีกเลี่ยงการใช้เก๋ากี้ รวมทั้งผู้ที่กำลังกินยารักษาความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานควรขอคำแนะนำก่อนใช้เช่นกัน เนื่องจากเก๋กี้อาจเสริมฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน จึงควรหลีกเลี่ยงการกินร่วมกัน
พุทราจีน
เป็นสมุนไพรยาอายุวัฒนะของจีนที่ใช้กันมานาน ช่วยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ให้พลังงานที่ดี สร้างความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และที่สำคัญยังสามารถช่วยลดอาการเครียด ทำให้นอนหลับสบาย พร้อมช่วยซ่อมแซมเซลล์สมองในขณะที่หลับ จึงตื่นขึ้นมาด้วยความสุดชื่น กระปรี้กระเปร่า
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายฉบับยืนยันว่า พุทราจีนช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น จึงช่วยป้องกันหวัด ช่วยให้อาการภูมิแพ้ต่างๆ ทุเลาลง ช่วยบำรุงตับและเลือด ลดความดันเลือดที่เลี้ยงลูกตา จึงลดอาการปวดตา แสบตา และตาแห้งได้ดี
คำเตือน: ผู้สูงอายุไม่ควรกินเกิน 20 ผล เนื่องจากทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมาก ท้องอืด ท้องผูก ทำลายระบบย่อยอาหาร จนอาจเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบและโรคกรดไหลย้อน
ใบบัวบก
เป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่พร้อมจะนอนหลับพักผ่อนได้ง่ายขึ้น มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับสนิท ถือได้ว่าตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ใบบัวบกช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอารมณ์ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีสุขภาพดีได้ โดยการใช้ใบบัวบกวันละ 750 มิลลิกรัมในผู้สูงอายุสุขภาพดีที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 28 คน พบว่า เริ่มเห็นผลการรักษาในเดือนที่ 2 หลังจากกินใบบัวบก ผู้สูงอายุมีการเรียนรู้ ความจำและอารมณ์ที่ดีขึ้น
คำเตือน: การกินใบบัวบกในปริมาณมากอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะหากกินร่วมกับยานอนหลับหรือยาคลายกังวล เช่น โคลนาซีแพม ลอราซีแพม ฟีโนบาร์บิทอล และโซลพิเดม
แต่ถ้าใครเป็นสายชา ก็มีชาดอกไม้ปลอดคาเฟอีนแนะนำนะคะ ไปตามอ่านได้ที่
5 ดอกไม้ช่วยนอนหลับ พร้อมต้านมะเร็ง
5 ดอกไม้ช่วยนอนหลับ สีขาว พร้อมต้านมะเร็ง
ที่มา : นิตยสารชีวจิต
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง
แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ
มหัศจรรย์แห่ง การเดิน แรงกระแทกต่ำ ทำได้ทุกคน