เครียดลงกระเพาะ ภัยเงียบที่ควรระวัง
ทุกคนรู้หรือไม่คะว่าการที่คุณทำงานหนักหรือเครียดเกินไปจะทำให้คุณมีภัยเงียบที่ร้ายกาจตามมาโดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งภัยเงียบเหล่านั้นก็คือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศซินโดรม โรคเครียด โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
เคยอ่านเจอบทความที่คุณหมอจากโรงพยาบาลรามคำแหงบอกเอาไว้ว่า เครียดลงกระเพาะ ก็เป็นอีกโรคยอดนิยมของคนวัยทำงาน หรือมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ซึ่งโรคเครียดลงกระเพาะ แท้จริงแล้วก็คือโรคกระเพาะที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา (ไม่มีแผลที่กระเพาะอาหาร) แต่เป็นการสั่งการของสมอง ยิ่งเครียดก็ยิ่งกระตุ้นให้กระเพาะเกิดการบิดตัว และหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ทำให้เมือกในกระเพาะอาหารเสียสมดุลและเกิดการระคายเคืองในช่องท้องได้
เวลาเครียดลงกระเพาะเมื่อไหร่ บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจเร็ว ขนลุก อยากอาหารมากกว่าปกติ คลื่นไส้ รู้สึกหงุดหงิด หรือนอนไม่หลับ ถ้าใครมีอาการดังกล่าวนอกจากปวดท้องเวลาเครียดล่ะก็ สันนิษฐานได้เลย ว่าคุณเข้าสู่ลัทธิเครียดลงกระเพาะไปครึ่งก้าวแล้ว
เครียดลงกระเพาะ หายได้ไหม
แต่ข่าวดีของโรคนี้ก็คือ โรคเครียดลงกระเพาะสามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการก็พื้นๆ เลย ตามที่เราเคยได้ยินกันมาตลอด ทั้งการกินอาหารให้เป็นเวลาครบ 3 มื้อ เลี่ยงอาหารรสจัด ย่อยยาก อาหารหมักดอง ของมัน ของทอด ไม่สูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ต่างๆ
ทั้งนี้เรื่องการควบคุมการกินถือเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ความจริงส่วนที่ทำยากที่สุดในการรักษาโรคนี้ คือการรับมือกับความเครียด ซึ่งการผ่อนคลายความเครียดในแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันไป บางคนก็เล่นเกม บางคนออกกำลังกาย บางคนก็ท่องเที่ยว บางคนเล่นกับสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการช็อปปิ้งก็สามารถช่วยลดความเครียดได้ด้วย แต่การช็อปปิ้งต้องระวังนิด บางทีช็อปเสร็จเห็นยอดบัตรเครดิตสิ้นเดือนอาจเครียดกว่าเก่าได้ด้วย
เครียดลงกระเพาะเกิด?
ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความแปรปรวน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกและกระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลทำให้ระบบการทำงานย่อยอาหารแย่ลง
อาการของโรคเครียดลงกระเพาะ
- ปวด จุก แน่น แสบบริเวณลิ้นปี่ มักเกิดหลังกินอาหาร
- เรอบ่อย อาหารไม่ย่อย มีอาการท้องเฟ้อ
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในท้องมาก
- ขับถ่ายออกมาเป็นเลือดหรือมีสีดำ
รีบรักษาให้ถูกวิธี
– กินอาหารให้เป็นเวลาและครบ 3 มื้อ
– เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก
– งดสูบบุหรี่ งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
– ออกกำลังกาย กระตุ้นให้อารมณ์สดใสขึ้น
– ทำกิจกรรมคลายเครียด ลดอารมณ์แปรปรวนต่างๆ
การที่เรารับรู้สาเหตุของความเครียดนั้น ถือว่าเป็นต้นทางในการป้องกันความเครียดที่ดี และยังสามารถช่วยให้เราขจัดความเครียดได้อย่างตรงจุดและถูกวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้ตัวเราห่างไกลจากความเครียดคือการรักษาสมดุลของสภาพร่างกายและจิตใจให้ได้ ทั้งเราความคิด อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยป้องกันความเครียดจากจิตในเราได้ดีที่สุดค่ะ
ข้อมูลประกอบบทความจาก: กระทรวงสาธารณะสุข และ รพ.วิชัยยุทธ