สูตรลดอ้วน กับสารพัดประโยชน์ที่ตามมาหลังน้ำหนักลด
สูตรลดอ้วน ไม่ใช่แค่รูปร่างดี แต่ยังทำให้เข่าข้อดีขึ้นด้วย! คุณหมอสุมาภา ชัยอํานวย หรือคุณหมอยุ้ย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ ซึ่งความผิดปกติของกระดูกและข้ออาจไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นความตายของคน แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก
นอกจากนี้การรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกและข้อจําเป็นต้องใช้เวลานาน จึงทําให้คุณหมอมีโอกาสดูแลคนไข้นานๆ ซึ่งทําให้เห็นปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขควบคู่กัน
ล่าสุด คุณหมอมีโอกาสดูแลคนไข้ที่มีอาการปวดข้อต่างๆ โดยโรคที่พบบ่อยและดูจะบ่อยขึ้นทุกๆ วันคือ โรคข้อเสื่อมและโรคเกาต์ ซึ่งพบว่า “โรคอ้วนจะแสลงต่อโรคข้อ” หมายความว่า ถ้าลดน้ำหนักลง จะทําให้อาการต่างๆ เกี่ยวกับข้อดีขึ้น
ยิ่งอ้วน ยิ่งปวดเข่า
คุณหมอ เล่าตัวอย่างคนไข้ที่มาปรึกษาด้วยอาการปวดเข่า เธอมีอายุ 58 ปี ส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 78.3 กิโลกรัม มีอาการปวดเข่าทั้งสองข้างมานานราว 5 ปี และมีอาการมากเวลาทํางานบ้าน หรือเดินไกลๆ เธอไปพบแพทย์มาหลายแห่ง โดยมากจะวินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคข้อเสื่อมและได้รับการรักษาด้วยการกินยา ซึ่งทําให้เธอมีอาการแสบท้อง ต้องหาอะไรกินเพิ่ม จึงยิ่งทําให้น้ำหนักมากขึ้น แต่หากหยุดยา อาการปวดก็จะกลับมาอีกสุดท้ายจึงไปซื้อยาลูกกลอนกินเอง ซึ่งช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยาได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลดความอ้วนที่ถูกต้อง คงหนีไม่พ้นเรื่องของการปรับพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกําลังกาย ปัญหาการลดความอ้วนในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือวิธีการออกกําลังกาย เพราะคนปวดเข่าไม่สามารถลงน้ำหนักได้มาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการออกกําลังกาย ด้วยการเดินหรือการวิ่ง
นอกจากนี้ เวลามีอาการปวดเข่า ผู้ป่วยจะไม่อยากเคลื่อนไหว โดยไม่จําเป็น ซึ่งทําให้น้ำหนักมากขึ้นได้ อีก ปัญหาอีกประการหนึ่งของคนปวดเข่าคือ การกินยาแก้ปวดบางตัวมีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทําให้ต้องกินอาหารมากขึ้น ส่งผลให้ยิ่งอ้วนขึ้นเป็นลำดับ ดังเช่นคนไข้รายนี้
เมื่อได้ตรวจร่างกายพบว่า ความดันโลหิตของเธอสูงเล็กน้อย ข้อเข่าไม่บวมและไม่มีโครงสร้างผิดปกติ คือไม่พบว่าขาโก่ง กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่ายังแข็งแรง ไม่ลีบฝ่อ โครงสร้างของเข่ายังดีอยู่ การรักษาเริ่มจากการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย
ผลการตรวจพบว่า ร่างกายเธอสมบูรณ์แข็งแรงดี มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย แต่ไม่ถึงเกณฑ์โรคเบาหวาน ลําดับต่อมาจึงวิเคราะห์อุปนิสัยการกินอาหารที่เธอชอบคือ ของทอดและผัด ไม่ชอบกินจุบจิบ กินเป็นมื้อใหญ่
ลดน้ำหนักด้วยการกิน
การลดความอ้วนให้ได้ผลดีสําหรับผู้ป่วยปวดเข่าควร “หาทางสายกลาง” ของตนเองให้พบ โดยแต่ละบุคคลจะมีโปรแกรมการลดน้ำหนักที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจําวัน อุปนิสัยส่วนตัว อาชีพ เพศ วัยของผู้ปฏิบัติ เป็นหนทางที่สามารถทําได้โดยไม่ฝืน ตนเอง อาหารที่กินควรเป็นจําพวกให้พลังงานต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ไม่หวาน งดเนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เลือกกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์สีขาว หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ งดอาหารหวานและมัน
ควรกินให้ครบทุกมื้อ ไม่ควรอดมื้อใดมื้อหนึ่ง ปรุงอาหารด้วยวิธีนึ่ง อบ ต้ม แทนการทอดหรือผัดด้วยน้ำมัน เมื่อได้ฟัง เธอจึงตั้งใจว่าจะงดอาหารผัดและทอด นอกจากนี้ หมอยังแนะนําให้กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด “อย่างมีสติ” เพราะกว่าอาหารที่กินเข้าไปจะถึงศูนย์หิวศูนย์อิ่มในสมองต้องใช้เวลา 20 นาที คนอ้วนมักกินเร็ว ทําให้ได้รับปริมาณอาหารมากเกินความต้องการ
ผอมด้วยการออกกำลังกาย
ลําดับต่อมา จึงวิเคราะห์อุปนิสัยการออกกําลังกาย การขยับตัว ซึ่งเธอไม่ชอบ เพราะทําให้อาการปวดเข่าแย่ลง หมอจึงแนะนําการออกกําลังกายที่ไม่ทําให้ปวดเข่าและเหมาะกับอุปนิสัย สามารถทําในท่านอนหรือท่านั่ง โดยให้นอนตะแคงยกขาขึ้น-ลง สลับซ้าย-ขวา แล้วนอนหงายยกขาขึ้น-ลง สลับซ้าย-ขวา หรือยกพร้อมกันเลยก็ได้ถ้าทําไหว ทําต่อเนื่อง 20–30 นาทีต่อวัน และสามารถบรรจุเข้าไปในชีวิตประจําวันได้
เธอชอบดูละครช่วงค่ำ จึงให้ออกกําลังกายพร้อมกับดูละคร และยังแนะนําท่าที่ช่วยฟื้นฟูสภาพเข่า เพราะถ้าไม่เคลื่อนไหวข้อที่ปวดเลย ข้อจะแข็งขัดและเคลื่อนไหวลําบาก ในที่สุดกล้ามเนื้อจะอ่อนแอ จุดประสงค์ของการออกกําลังกายฟื้นฟูสภาพเข่าในผู้ที่มีอาการปวดเข่า เพื่อให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่น เคลื่อนไหวได้ง่าย คงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทําหน้าที่เหมือนเกราะกําบัง ข้อนั้นๆ วิธีการคือ นอนหงายโดยเหยียดเข่าตรง กดขาลงให้ติดพื้นพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที ทําเป็นเซต เซตละ 12-15 ครั้ง สลับซ้ายขวาข้างละ 3 เซต และสามารถเพิ่มจํานวนได้
การเกร็งเข่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงโดยไม่ต้องขยับข้อต่อ จะมีผลดีต่ออาการปวดเข่ามาก หลังจากออกกําลังกายแล้ว ไม่ควรมีอาการปวดเพิ่มขึ้น ควรทําร่วมกับการประคบร้อนและเย็นบริเวณข้อ รวมทั้งระวังไม่ให้มีการบาดเจ็บหรือเพิ่มแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าในชีวิตประจําวัน เช่น ควรเดินขึ้นลงบันไดเท่าที่จําเป็น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการงอข้อเข่ามากๆ งดการนั่งงอเข่าบนพื้น นั่งส้วมแบบยอง รักษาสมดุลระหว่างการยืน เดิน นอน และพัก เป็นต้น
ผลการรักษาพบว่า
สัปดาห์แรก น้ำหนักของคุณป้าท่านนี้ลดลง 2.8 กิโลกรัม
มาต่อ สัปดาห์ที่ 2 น้ำหนักลดลง 1.5 กิโลกรัม
เมื่อถึง สัปดาห์ที่ 3 น้ำหนักลดลง 1.2 กิโลกรัม
และสัปดาห์ที่ 4 น้ำหนักลดลง 1.2 กิโลกรัม
หลังจากนั้นน้ำหนักลดลงมาเรื่อยๆ โดยเฉลี่ย 0.5–1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ จนน้ำหนักเหลือ 64 กิโลกรัม (เดิม 78.3กิโลกรัม) ภายใน 20 สัปดาห์ ที่สําคัญคือ เธอสามารถรักษาน้ำหนักได้ค่อนข้างดี ความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดลดลง โดยสามารถหยุดยาได้ สุขภาพแข็งแรงขึ้น กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี รู้สึกมีพลังมากขึ้น อาการปวดเข่าทั้งสองข้างดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา
ปัจจุบัน เธอยังคงควบคุมดูแลเรื่องอาหารและออกกําลังข้ออย่างสม่ำเสมอ ท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมาเพียงแค่ท่านไม่ยึดยาเป็นที่พึ่ง และระลึกไว้เสมอว่ายาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือ “พฤติกรรมสุขภาพ” ต่างๆ ที่ต้องทําควบคู่กันไป ได้แก่ การออกกําลังกาย การทําให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม มีอิริยาบถที่ถูกต้องแล้วท่านจะมีคุณภาพชีวิตดังเช่นคนปกติทั่วไป
ใครที่กำลังปวดเข่า และมีน้ำหนักตัวเกิน ลองทำตามที่คุณหมอแนะนำสิคะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน
โปรแกรมวิ่งให้ ขาเรียว ภายใน 7 สัปดาห์
ติดตามชีวจิตได้ที่