แชร์เรื่องต้องรู้ก่อนทำ บอลลูนหัวใจ

บอลลูนหัวใจ อาการแบบไหนต้องทำ ก่อนทำตรวจยังไง

พูดถึง บอลลูนหัวใจ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวจนลืมสังเกตอาการ และความผิดปกติของร่างกาย วันนี้แอดเอาประสบการณ์จริง ของปอมอ หรือ คุณประมวล โกมารทัต นักเขียนรุ่นใหญ่ชื่อดัง ที่นักอ่านรุ่นเก๋าน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว มาเล่าให้ฟังค่ะ เรียกได้ว่าเป็นการตรวจเจอโดยบังเอิญ และทำบอลลูนกันในวันนั้นเลย จะฉุกเฉินขนาดไหน อาการเป็นยังไง ลุงมวลมาให้ทุกคนฟังแล้วค่ะ

บอลลูนหัวใจ

วันที่ 15 พฤศจิกายน นี้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียก “วันเพ็ญดือนสิบสอง” เป็น “วันลอยกระทง”

วันนี้ยังได้ชื่อว่า “วันแปดพันล้าน” ด้วย

องค์การสหประชาชาติตั้งให้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 วันที่ประชากรโลกมีจำนวน 8,000 ล้านคนพอดี 

ส่วนวันที่ 11 กรกฎาคม ที่เป็น“วันประชากรโลก” เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 ประชากรโลกมีจำนวน 5,000 ล้านคน แล้วองค์การสหประชาชาติก็ตั้งชื่อให้ว่า “วันห้าพันล้าน” ชาวโลกตื่นเต้นกันมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อวันในลักษณะนี้  ในปี 2533 สหประชาชาติจึงประกาศตั้งให้ วันที่ 11 กรกฎาคม เป็น World Population Day (ซะเลย)   

ปีนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8.1 พันล้านคน อินเดียมีประชากรมากที่สุด โดยแซงจีนขึ้นมาครองอันดับหนึ่งแทน ส่วนประชากรไทยตามทะเบียนราษฎร์มี 66.05 ล้านคน (ในจำนวนนี้เป็นบุคคลไม่ใช่สัญชาติไทย 9.91 แสนคน) มากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก (ชาติที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทยคือ ฝรั่งเศส อันดับที่ 20 และอังกฤษ อันดับที่ 22)

มีตัวเลขที่น่าสนใจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ประชากรไทยเคยมีมากสุดถึง 66.56 ล้านคนเมื่อปี 2562 แล้วหลังจากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องมาทุกปี เหตุเพราะคนไทยเกิดลดลง แต่ตายเพิ่มขึ้น อย่างล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2566 มีคนเกิดใหม่ 519,660 คน แต่คนตายมีถึง 567,055 คน การลดลงของประชากรไทยมากขนาดนี้นับเป็นอัตราการลดลงเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากญี่ปุ่น) แล้วยังคาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปีข้างหน้า คือปี 2626 ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคน !!!

ตกใจหรือ

อย่าเลย อย่าตกใจไป คนไทยเคยมีน้อยกว่านี้อีก จำได้ว่าเมื่อตอนที่ปอมออายุสักสิบขวบได้ (ก็ราว 70 กว่าปีมาแล้ว) มีเพลงปลุกใจเพลงหนึ่ง จบด้วยประโยคสุดท้ายว่า

“18 ล้านภาคภูมิในใจ ชาติไทยไชโย”

เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก     

นี่ก็น่าสนใจนะ มาดูกัน คือเมื่อไม่นานนักมีตัวเลขสถิติแสดงว่า ประชากรโลกราว 26 % จะเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 14 ปี และอีก 66 % จะเสียชีวิตที่อายุระหว่าง 15 – 64 ปี

รวมแล้วประชากรโลกที่เสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปี จะสูงถึง 92 %

นั่นหมายความว่า ประชากรโลกจะมีชีวิตอยู่ถึง 65 ปีหรือกว่านั้น เพียง 8%   

สถิตินี้ยังบอกอีกว่า ถ้าคุณยังไม่อยากตาย สู้ทนหายใจ สูดเอาออกซิเจน (ที่ไม่ค่อยจะสะอาดนัก) เข้าปอดไปเรื่อย ๆ จนอายุยืนยาวถึง 90 ปี หรือกว่านั้น คุณจะมีเพื่อนร่วมโลกที่อายุ 90 ปีหรือมากกว่าเพียง 2 % เท่านั้น

นั่นคือ ในบรรดาประชากรโลกทุก 100 คน จะเหลือคนที่มีชีวิต 90 ปีขึ้นไปเพียงแค่ 2 คนเอง !

นี่จะหาเพื่อนร่วมโลกวัยเดียวกันหรือมากกว่าได้น้อยนิดอะไรขนาดนี้เชียวหรือ

แล้วไปตั้งชื่อเรื่องว่า “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” ทำไม

อย่างนี้ต้องว่า “เพื่อนกินหาไม่ง่าย เพื่อนยังไม่ตายยิ่งหายากกว่า” ซี

(เนอะ)

โรคหัวใจนี่ช่างตายง่ายจังเลย

จริงๆนะ ไม่กี่วันนี่เอง เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง วัยยังไม่ทันเกษียณ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งไปพบหมอโรคหัวใจมาแท้ๆ

เขาไม่ใช่นักดื่ม(แอลกอฮอล์) เพียงแค่พอจะร่วมวงกับเพื่อนสนิทๆ บ้างเป็นครั้งเป็นคราว อาหารที่กินก็ไทยๆ ธรรมดานี่แหละ แต่สูบบุหรี่จัดมาก คุณภรรยาของเขาเล่าว่า ไม่น่าจะต่ำกว่าวันละ 2 ซอง (อย่างนี้ต้องเรียก ขี้ยา แล้ว)  จะตรวจร่างกายประจำปีเกือบทุกปี (คือบางปีไม่ไป อ้างว่าสบายดีอยู่แล้ว จะเอาเงินไปแจกหมอทำไม !)

จนวันหนึ่ง หลังกินมื้อค่ำแล้ว ก็งัดเอางานที่อุตส่าห์หอบจากที่ทำงานมาทำต่อที่บ้าน ทำไปอัดบุหรี่ไป สักพักเริ่มไอ (อย่างเคย) แต่วันนี้ดูจะหนักหน่อย ดังและถี่ ซ้ำมีอาการเหนื่อยผิดปกติอีก

หายใจแรงจนเกือบจะเป็นหอบ บ่นกับภรรยาว่าแน่นหน้าอกและเจ็บนิดๆ คุณภรรยาเห็นว่ายังหัวค่ำจึงเอ่ยชวนไปหาหมอ (เจ้าประจำ) ที่คลินิกใกล้บ้าน

“พรุ่งนี้เถอะ” ตามประสาคนชอบผัดวันประกันพรุ่ง

คุณภรรยาเล่าว่า รุ่งเช้าไปต่อคิวที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยนาม) พอดีเป็นวันเวรตรวจของคุณหมอผู้เคยตรวจกันจนคุ้น

คุณหมอตรวจเน้นไปที่ช่วงอก พบว่าปอดอาจมีอะไรนิดหน่อยเพราะได้ยินเสียงเมื่อหายใจ แต่ไม่แรงนัก ส่วนเรื่องไอนั่นหมอว่าคงจะระคายคอเพราะบุหรี่มากกว่า ดูแล้วไม่น่าเกี่ยวกับปอด

แต่หัวใจซี มีข้อบ่งชี้สำคัญบางอย่างที่ชวนสงสัยและน่ากังวล แต่ก็ยังไม่กล้าวินิจฉัยหรือชี้ชัดอะไรลงไป

คุณหมอแนะนำว่า จากอาการทั้งหมด ที่มีเหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก แม้จะนิดหน่อยก็ควรตรวจดูให้ละเอียดขึ้น เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แม้จนฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดปกติทั้งหัวใจและหลอดเลือด จะได้ดูการทำงานของหัวใจ และดูหลอดเลือดว่ามีตีบตันตรงไหนไหม ถ้าพบก็อาจต้องทำการขยายหลอดเลือดหัวใจกันเลยทีเดียว

สรุปก็คือ คุณหมอสงสัยเรื่องหัวใจและหลอดเลือดหัวใจมากกว่าปอด

คนไข้ฟังแล้วเฉยๆ ไม่ออกอาการวิตกกังวลอันใด ซ้ำยังต่อรองกับคุณหมออีก

“ช่วงนี้ผมไม่ว่างเลย มีงานติดพัน ขออีกสามสี่วันค่อยมาใหม่ได้ไหมครับ”

“ก็แล้วแต่คุณนะ หมอบังคับคนไข้ไม่ได้” น้ำเสียงคุณหมอดูเรียบ ๆ ทว่าออกทางกังวลๆ   

“แต่ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ควรจะเร็วหน่อยนะ”

คนไข้ไม่พูดต่อ แต่กลับเอ่ยลาคุณหมอกลับบ้าน

คุณภรรยาเล่าว่า เมื่อถึงบ้าน ดูเขาคงเหนื่อยมาก ตรงไปนั่งเอนตัวบนโซฟา แล้วเปิดโทรทัศน์ดูรายการโปรดที่มาพอดี  จุดบุหรี่สูบด้วยความเคยชิน แล้วเสียงไอก็ดังเป็นระยะๆ เธอไม่ทันได้ใส่ใจ  หันไปทำธุระอื่นๆ อยู่ภายในบ้าน

บอลลูนหัวใจ

จากนั้นประมาณสักหนึ่งชั่วโมง คุณภรรยาผ่านมาหน้าห้อง มองเห็นคุณสามีนอนเอกเขนกดูโทรทัศน์อยู่บนโซฟา ไม่มีเสียงไอแล้ว ในที่เขี่ยบุหรี่มีที่ดับแล้ว 4 ก้น กับอีกหนึ่งมวนพาดอยู่ ไฟยังติดแต่ลามจนเถ้ายาวเฟื้อย เธอก็ไม่ได้สนใจ

จนใกล้ค่ำ จึงกลับมาอีกครั้ง ตรงเข้าไปหาคุณสามี หมายว่าจะชวนไปเตรียมตัวกินอาหารด้วยกัน

พบว่า….

คุณสามีนอนหันหน้าไปทางจอโทรทัศน์ก็จริง แต่ดวงตาปิดสนิท คิดว่าคงหลับ จึงปิดโทรทัศน์แล้วเข้าไปสะกิดเพื่อให้รู้สึกตัวตื่น แต่ก็ต้องแปลกใจ เมื่อพบว่าร่างที่นอนอยู่ดูนิ่งผิดปกติ  หรือจะหลับสนิท เลยลองเขย่าเบาๆ  ก็ยังไม่รู้สึกตัว

คุณภรรยาชักเอะใจ จึงก้มลงไปมองใกล้ๆ และจับแขนเขย่าแรงๆ  ยิ่งตกใจมากขึ้นเมื่อพบว่า ท่อนแขนตรงที่มือเธอสัมผัสนั้นเย็นอย่างประหลาด ด้วยความตกใจถึงขนาด จึงตะโกนเรียกลูกๆให้เข้ามาช่วยกัน…….

ในที่สุด ร่างคุณสามีก็ไปถึงโรงพยาบาล (ที่มาเมื่อเช้า) อีกครั้ง

ต่างกันเพียงว่า ค่ำนี้เขาไม่มีโอกาสได้พูดจาต่อรองอะไรกับคุณหมออย่างตอนเช้าอีกแล้ว

ไม่มีแม้จะได้พูดได้จาหรือร่ำลาใครๆทั้งสิ้น ทั้งภรรยาและลูก

(เพื่อนเอ๋ย น้องเอ๋ย เราจะพบกันอีก…. นะ)

ประสบการณ์ทำ บอลลูนหัวใจ

อีกเดือนกว่าๆ ก็จะครบ 12 ปีแล้วสำหรับประสบการณ์นี้ แต่ก่อนหน้านั้นหลายปี มีภารกิจประจำ คือต้องไปพบคุณหมอโรคความดันโลหิตสูงทุกสามเดือนตามนัด มีคุณภรรยา(คนเก่ง) คุมตัวไปส่งหมอทุกครั้ง

จบจากเรื่องความดันโลหิตแล้ว คุณหมอจะต้องแถมเรื่องสุขภาพอื่นๆ ด้วย เช่นน้ำหนักตัว ที่เกิดจะต้องมาสูงขึ้นทุกทีที่เจอหน้าหมอ (สิน่า) แล้วคุณหมอก็จะพูดซ้ำๆ ด้วยประโยคเดิม ๆ (จนติดหู)

“ลดๆ ลงหน่อยนา”

วันหนึ่ง เมื่อตรวจกันเสร็จสรรพ กำลังจะร่ำลาคุณหมอกลับบ้าน คุณภรรยา(คนเก่ง) ก็เอ่ยขึ้นว่า

“คุณหมอรู้สึกไหมคะ เสียงหายใจเขาดูแปลกๆ คล้ายเหนื่อย แต่ก็ไม่เคยบ่นเจ็บหรือแน่นหน้าอกเลยนะคะ”

“เออ นั่นซี หมอก็รู้สึกเหมือนกัน” คุณหมอรีบรับลูกทันที (ใจเรานึกไปอย่างนั้นเองน่ะนะ)

“เอางี้ พอดีวันนี้หมอว่าง เรามาทดสอบกันหน่อยไหมล่ะ” คุณหมอเสนอ

“ลองไปเดินสายพานดู” พูดแล้วจ้องหน้าคนไข้

“แล้วแต่ครับ ถ้าคุณหมอเห็นว่าควร”

เคยเอ่ยปาก “ยกหัวใจให้คุณหมอ“ ตั้งแต่วันแรกที่พบกันเมื่อหลายปีก่อน ถ้าเห็นสมควรจะบำบัดรักษาท่าไหน เชิญเลยนะครับ (ที่เชื่อมือกันขนาดนี้ก็เพราะได้ศึกษาประวัติมาแล้วว่า คุณหมอท่านนี้เก่งและเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจริงๆ)

“ตอนนี้เพิ่งห้าโมงเย็นเอง คุณกินอาหารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่น่ะ”  

“พอดีเมื่อเช้ายุ่งๆ และมีนัดมาหาคุณหมออีก ผมเลยกิน brunch สักสี่โมงเช้าได้ครับ”

“งั้นไปกัน”

อย่าเข้าใจผิดนะ คุณหมอไม่ได้ชวนไปกินข้าวหรอก แต่พาไปห้องออกกำลังกาย เพื่อให้ทดสอบร่างกายด้วยการเดินสายพาน หนึ่งในกระบวนการตรวจสอบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคนไข้จะต้องอดข้าวอดน้ำมาไม่ต่ำกว่า 4 – 6 ชั่วโมง พอดีเรากิน “บรั๊นช์” (คือกินรวบมื้อเช้ากับมื้อกลางวัน) นานเกิน 6 ชั่วโมงแล้ว จึงทดสอบได้เลย     

คุณหมอให้เปลี่ยนเป็นชุดคนไข้ คุณผู้ช่วยพยาบาลเอาอุปกรณ์วัดระบบหายใจมาแปะที่หน้าอก แล้วให้ขึ้นสายพาน ก่อนแจ้งว่า จะให้เดินช้าๆ ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นเร็วขึ้น ถ้ารู้สึกเหนื่อย หรือคิดว่าไม่ไหว ให้รีบบอก คุณหมอยืนคุมอยู่ข้างๆ

คนไข้ก้าวเดินยาวๆ บนสายพานตามคุณหมอสั่ง เดินไปได้สักสองนาทีกว่าๆ ก็ขอหยุด เพราะรู้สึกเหนื่อยมาก

“ปกติแล้ว ด้วยความเร็วขนาดนี้ ผู้ป่วยทั่วไปๆ จะอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 8 -10 นาที” คุณหมอไม่ได้บ่น แค่บอกให้รู้

“งั้นกลับไปที่ห้องหมอก่อน ขอดูการทำงานของหัวใจหน่อย”    

เมื่อมาถึง คุณหมอสั่งคุณพยาบาลประจำห้องให้จัดการพาไปนอนบนเตียง แล้วเอาอุปกรณ์การแพทย์สำหรับตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นแผ่นเป็นปุ่ม (หลายอัน) มีสายต่อระโยงระยาง มาปะมาปะตามจุดต่างๆบนร่าง

“หมอจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนะ”

เรื่องใหญ่กำลังจะตามมา

หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเสร็จ ยังไม่ทันเปลี่ยนเสื้อผ้า ก็มานั่งอยู่ตรงหน้าคุณหมออีกครั้ง (มีคุณภรรยาคนเก่งขนาบข้างตลอด)

“หมอคิดว่า 90% น่าจะมีเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแน่ ๆ อาจจะตีบที่ใดที่หนึ่งหรือหลายที่ แต่ถ้าจะให้ 100% ต้องฉีดสี เพื่อดูว่ามีการตีบตรงไหนและกี่เส้น” คุณหมอมองหน้าคนไข้ แล้วหันไปที่คุณภรรยา

“เรื่องนี้ไม่ควรช้า ถ้าพบว่าตีบตรงไหน เราก็ใส่ stent ถ่างหลอดเลือดตรงนั้น” คุณหมอดูจริงจังมาก

(สเตนท์ คือขดลวดตาข่ายทำด้วยโลหะผสมชนิดพิเศษขนาดพอๆกับหลอดเลือด ยาวราว 1 เซนติเมตร อาบน้ำยาสารโพลิเมอร์เพื่อช่วยการรักษาเฉพาะที่และลดการเติบโตของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นไม่ให้กลับมาตีบอีก ทั้งช่วยลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้)

บอลลูนหัวใจ

เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชน จึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คุณหมอเปิดคอมฯดูแล้วแจกแจงว่า ในการตรวจหลอดเลือดหัวใจหาจุดตีบด้วยการฉีดสี หากพบว่าไม่มีการตีบตันตรงไหนเลย หรือพบว่ามีตีบตันแต่คนไข้ไม่ต้องการให้แพทย์ทำการรักษาต่อ จะคิดค่าใช้จ่ายเฉพาะการวิ่งสายพาน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและฉีดสี  รวมทั้งหมด 3 หมื่นบาท แต่ถ้าให้ทำการรักษาต่อไป ด้วยการทำ บอลลูนหัวใจ ใส่สเตนท์ขยายหลอดเลือดหัวใจ จะคิดรวมในอัตราหนึ่งเส้น 150,000 บาท ถ้าสองเส้น 250,000 บาท ยังไม่รวมค่ายา และห้องนอนพักฟื้นพร้อมอาหารอีก 1-3 คืน หากตกลงทำ ญาติต้องลงชื่อรับรองการจ่าย และคนไข้ต้องลงชื่อยินยอมรับการรักษา (นี่เป็นอัตราเมื่อ 12 ปีก่อนนะ -เดี๋ยวนี้เท่าไรไม่รู้)

“แล้วเราจะทำกันเมื่อไรค่ะ”

“เดี๋ยวนี้เลย”

คุณหมอตอบแบบไม่ต้องคิด เล่นเอาคนไข้ตกใจ เพราะยังไม่ทันได้ตั้งตัวน่ะ

“นี่เพิ่งหกโมงกว่าๆ” คุณหมอดูเวลา แล้วพูดต่อ

“หมอว่านะ ถ้าพบมีตีบตรงไหน เราก็จัดการทำบอลลูนใส่สเตนท์ไปเลย จะได้ไม่ต้องมาเริ่มกันใหม่”

“หมอว่า คงเสร็จและได้กลับถึงห้องพัก ไม่เกินสองหรือสามทุ่ม”  

“อยากให้เลยวันที่ 11 ไปก่อนได้ไหมครับ พอดีหลานผมจะเกิดวันนั้น” น่าจะเป็นด้วยนิสัยชอบต่อรองของผู้ชาย

“อยากเห็นหน้าหลานวันแรกเกิดน่ะครับ”

“ก็ตามใจคุณนะ หมอบังคับคนไข้ไม่ได้” คุณหมอพูดเสียงเนิบๆ

“แต่นี่ก็เพิ่งวันที่ 4 มีเวลาอีกตั้งอาทิตย์ คงทันได้เห็นหน้าหลานแรกเกิดหรอก”

“ทำไมต้องรีบด่วนล่ะคะ”  

“เส้นเลือดหัวใจตีบนี่ ถือว่าอันตรายมาก” เสียงที่คุณหมอพูดดูขึงขังหนักแน่น

“เรามองภายนอกไม่เห็น ว่ามันตีบตันมากน้อยแค่ไหน ผมไม่ได้ขู่ให้กลัวนะ แต่เรื่องนี้รับประกันกันไม่ได้หรอก เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เต็มที่ จนมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจแรง แม้ยังไม่รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก” พูดจบมองหน้าคนไข้ก่อนพูดต่อ

“คุณเดินไปนี่ อาจล้มลงเมื่อไรก็ได้”

“งั้นทำเลยค่ะ” จอมเผด็จการประกาศ (ด้วยความเคยชิน)

กระบวนการฉีดสีหาจุดตีบในหลอดเลือดหัวใจ

ถึงเวลานี้กลายเป็นคนไข้อย่างเต็มตัวไปแล้ว คุณพยาบาลเรียกรถเปลนอนมาให้คนเข็นไปห้องปฏิบัติการ  

พบว่าเป็นห้องกว้างใหญ่ทีเดียว มีอยู่หลายเตียงห่างๆกัน บนเพดานสูงมีจอโทรทัศน์ขนาดราว 24 นิ้ว ประจำแต่ละเตียง แขวนห้อยลงทางปลายเท้าสูงเหนือศีรษะ เห็นภาพพอดีกับสายตา คงไว้ให้คุณหมอได้ดูชัดๆ ขณะทำหัตถการ (คิดเองนะ)

ย้ายไปนอนบนเตียงเรียบร้อย คุณพยาบาลเข้ามาวัดระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งอุณหภูมิ ความดันโลหิต และชีพจร  ส่วนเรื่องยาที่กินอยู่และอื่นๆ ไม่ต้อง เพราะเป็นคนไข้ประจำที่นี่จึงมีอยู่ในเวชระเบียนแล้ว

จากนั้นคุณพยาบาลจึงมาฉีดยาชาที่ข้อมือขวา สักพักเดียวก็รู้สึกเหมือนไม่มีข้อมือและมือขวาแล้ว

“เราจะเริ่มกันเลย”

คุณหมอเดินเข้ามายืนใกล้ๆ เมื่อเห็นคุณพยาบาลจัดการทุกอย่างเสร็จ

“ไม่ต้องกลัว หมอทำมาเกินกว่าพันรายแล้ว รับรองความปลอดภัย 99.99 %” ใจคิดว่าคุณหมอคงพูดเล่น

(ในความเป็นจริงนั้น กรณีการผ่าตัดหรือปฏิบัติการลักษณะนี้ ล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น จึงไม่มีใครรับประกัน 100 % หรอกนะ สำหรับสารทึบรังสีที่ฉีดนี้มีสารไอโอดีนจากทะเลด้วย ถ้าคนไข้แพ้อาหารทะเลก็ต้องบอกก่อน)     

“หมอจะเจาะหลอดเลือดแดงที่ข้อมือขวาของคุณ แล้วสอดสายพลาสติกอ่อนเล็กราว 2 มิลลิเมตร เล็กกว่าหลอดเลือดเล็กน้อย นำทางไปจนถึงเส้นเลือดหัวใจ แล้วจึงฉีดสารทึบรังสีเข้าไป ทำให้เห็นจุดที่มีการตีบตันของหลอดเลือด หมอเห็นและคนไข้ก็จะเห็นบนจอภาพนั่นด้วย”

คุณหมออธิบายซะละเอียดเลย

“ไม่มีการใช้ยาสลบ เพราะจะไม่เจ็บและไม่น่ากลัวเลย”

ขณะที่คุณหมอฉีดสารทึบรังสีเข้าไปตามหลอดเลือดแดงนั้น ภาพที่ปรากฏบนจอข้างบน แสดงให้เห็นเลยว่าสารทึบรังสีเดินทางตามสายไปถึงไหน ๆ แล้ว รวมทั้งจุดที่ตีบของผนังหลอดเลือดก็จะได้เห็นชัดๆด้วยตาของคนไข้เองเลย

ขณะคุณหมอสอดสายพลาสติกเข้าไปในหลอดเลือด คนไข้ไม่มีความรู้สึกเจ็บหรืออะไรเลย เมื่อถามคุณหมอ ก็ได้รับคำตอบว่า เพราะที่ผนังหลอดเลือดไม่มีระบบประสาทหรือเส้นประสาทนั่นเอง

(ขอสารภาพตามตรงว่า ขณะนอนดูอยู่นั้นใจสั่นระทึกเชียว ทั้งเสียวทั้งตื่นเต้น แต่ก็ไม่ยอมหลับตา กลับจ้องมองอย่างตั้งใจ คล้ายจะเชียร์ให้เจอจุดตีบสักที แม้จะไม่น่าให้เจอเลย – เหมือนคนดูหนังผีก็อยากเห็นผีไง – ไม่ใช่อะไรหรอก ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยเห็นแบบนี้น่ะ)

ใส่สเตนท์ขยายหลอดเลือด

“หมอเห็นจุดตีบที่หลอดเลือดหัวใจทั้งหมด 3 เส้น แต่หมอจะทำบอลลูนขยายเพียง 2 เส้นเท่านั้นนะ เพราะอีกเส้นหนึ่งยังตีบน้อย เอาไว้ทีหลังได้”

คนไข้ไม่พูดอะไร ฟังอย่างเดียวและรู้สึกเพลียๆ ง่วงๆ (คงตื่นเต้นมากไปบวกกับอากาศเย็นกำลังสบาย น่านอน)

วิธีใส่สเตนท์ก็คือ คุณหมอจะสอดสายท่ออีกเส้นหนึ่งเข้าไปในสายแรก ตรงปลายสายใหม่นี้มีบอลลูนที่มีสเตนท์สวมอยู่ โดยยังไม่ได้ขยาย เมื่อเข้าไปถึงจุดที่ตีบแล้ว จึงขยายบอลลูนให้พองขึ้น สเตนท์ที่เป็นขดลวดตาข่าย(ที่ครอบบอลลูนอยู่) จะกางขยายออกตามไปด้วย 

ไขมันและหินปูนที่ผนังหลอดเลือดถูกสเตนท์ที่ถ่างออกบีบดันจนแบนราบไปตามผนังหลอดเลือด หลอดเลือดตรงที่ตีบนั้นก็ขยายออก ทำให้เลือดไหลเป็นปกติ

ที่เล่ามานั้นคือประสบการณ์ที่เห็นด้วยตาตัวเองนะ จนเมื่อทำสำเร็จแล้ว คุณหมอจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านใส่สายสวนที่มีบอลลูนและสเตนท์ สอดแทรกเข้าไปตามสายท่อเส้นแรกจนถึงจุดที่หลอดเลือดตีบ แล้วใช้อุปกรณ์ภายนอกทำให้บอลลูนขยายตัวพองขึ้น สเตนท์ก็จะพองตาม และไปกดทับบีบไขมันกับหินปูนให้แบนราบไปตามผนังหลอดเลือด จากนั้นก็ทำให้บอลลูนแฟบลงและนำออกมาพร้อมสายท่อทั้งหมด ปล่อยให้สเตนท์ทำหน้าที่ถ่างผนังหลอดเลือดอยู่ เพื่อให้เลือดไหลไปตามหลอดเลือดได้เป็นปกติ สเตนท์นี้จะคงถ่างหลอดเลือดอยู่ตลอดไปไม่ให้กลับมาตีบอีก มีอายุใช้งานนาน 15 – 20 ปี หรือกว่านั้น  มีน้อยรายหรือแทบจะไม่มีเลยที่กลับมาตีบอีก (เหมือนคุณหมอช่วยขยายเรื่องราวที่เล่าไปตอนแรกทั้งหมดเลย เนอะ)

หลังการ ขยายหลอดเลือดหัวใจ

ตามความรู้สึก คิดว่าคุณหมอน่าจะใช้เวลาในการฉีดสีและทำบอลลูนใส่สเตนท์ขยายหลอดเลือดนี้ นานกว่าหนึ่งชั่วโมง  ข้อดีของการใช้วิธีเจาะตรงข้อมือก็คือ เมื่อทำเสร็จ คุณหมอก็เอาสายท่อและบอลลูนออกมาได้เลย แล้วปิดปากแผลที่ข้อมือไม่ให้เลือดไหลเท่านั้น เป็นอันเสร็จงาน ให้คนไข้นอนรถเปลเข็นมาส่งห้องพักฟื้นได้เลย

(แอบถามคุณหมอภายหลังว่า ทำไมไม่เจาะแถวข้อพับอื่น เช่นที่ศอกหรือรักแร้ ซึ่งใกล้หัวใจกว่า คำตอบคือ เคยทำแล้ว แต่สู้ที่ข้อมือไม่ได้ สะดวกกว่า ถามว่า แล้วทำไมไม่เจาะข้อมือซ้าย คำตอบคือ เส้นเลือดจะเข้าหัวใจทางด้านขวา ข้อมือขวาจึงตรงและใกล้จุดที่ตีบมากกว่า แม้จะใช้วิธีเจาะตรงโคนขาก็จะเป็นขาขวาเช่นกัน)

คุณหมอสั่งว่า งดใช้แขนขวาสักสิบวัน อย่าให้แผลที่ข้อมือถูกน้ำ จะต้องมาให้คุณพยาบาลดูว่าปากแผลแห้งสนิทแล้วจึงเอาพลาสเตอร์ที่ปิดออกให้ ‘อย่าทำเอง’ ถามว่าจะต้องนอนอยู่นานไหม จะลุกไปห้องน้ำได้ไหม คำตอบคือ เชิญตามสบาย แต่พักให้มากๆ แหละดี พรุ่งนี้เช้าท่านจะกลับมาดู  ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ อาจให้กลับบ้านได้เลย แต่ตอนนี้เกือบสามทุ่มแล้ว ขอกลับก่อน (จริงซี อยู่ด้วยกันมากว่าครึ่งค่อนวันแน่ะ)

เมื่อคุณหมอจากไป คุณพยาบาลเข้ามาถามว่า หิวไหม เลยบอกไปว่า วันนี้เพิ่งกินไปมื้อเดียวตั้งแต่เมื่อสี่โมงเช้า คุณพยาบาลใจดีจัดการสั่งไปตามสาย ไม่นานนักพนักงานห้องอาหารก็ยกถาดอาหารเข้ามา คุณพยาบาลว่า คุณหมอสั่งไว้ให้เสิร์ฟอาหารอ่อน ๆ ก่อน จึงจะเป็นซุปร้อนๆกับข้าวต้มปลา และพรุ่งนี้เช้าก็จะเป็นแบบนี้อีก

(มารู้ภายหลังว่า การจะเจาะหลอดเลือดที่ข้อมือหรือโคนขา ขึ้นอยู่กับความชำนาญของคุณหมอแต่ละท่าน ถ้าเป็นที่โคนขา เมื่อทำเสร็จแล้ว ยังไม่เอาสายสวนออกทันที แล้วต้องนอนนิ่งๆ อยู่นาน 6 – 8 ชั่วโมง ยังกินอาหารไม่ได้ทันที และต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 5 -7 วัน เคยมีเพื่อนที่ถูกเจาะโคนขาเล่าว่า หลังทำเสร็จแล้ว ต้องทนนอนเจ็บแผลมากๆ อยู่นานเชียว)

สายวันรุ่งขึ้น คุณหมอมาตามนัด ตรวจแผลที่ข้อมือและร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ใบหน้าท่านเปื้อนยิ้มอย่างผู้ประสบความสำเร็จ  ทำให้คนไข้ใจฟู นึกรู้ได้เองว่า คงจะ “อาการเป็นที่น่าพอใจของแพทย์”

คุณหมอมายืนข้างเตียง ขณะที่คนไข้ลุกขึ้นนั่ง

“หมอคิดว่า จะให้กลับบ้านได้วันนี้เลย แต่ขอเป็นตอนเย็นนะ บ่ายๆหมอจะมาดูอีกที แล้วจะให้ยาไปกินด้วย”

คุณหมอพูดแล้วมองหน้าคนไข้

“ตกลงไหม”

“ขอบพระคุณคุณหมออย่างมากครับ”

“อ้อ เห็นหน้าหลานแล้ว อย่าลืมมาบอกกันด้วยนะ ชายหรือหญิง”

คุณหมอพูดยิ้มๆ เชิงสัพยอกอย่างอารมณ์ดี แล้วหันไปสั่งคุณพยาบาลให้บอกญาติคนไข้ไปทำใบนัดและไปฝ่ายการเงินเลย คุณหมอหันมายิ้มให้อีกครั้ง ก่อนออกจากห้องไป

“ขอบพระคุณมากครับ”

นึกถึงประสบการณ์นี้แล้ว ยังงงๆ อยู่เลย เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงสองวัน เริ่มจากมาพบหมอตามนัดด้วยโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง พัฒนาไปเป็นถึงต้องทำบอลลูนใส่ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลอีกหนึ่งคืน

สุดท้าย…. ต้องจ่ายค่าประสบการณ์ครั้งนี้ไป 258,500 บาท !!!

อ่านเรื่องเล่า ประสบการณ์รักษามะเร็ง ของปอมอ ได้ที่  ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 1

ที่มา นิตยสารชีวจิต ฉบับ เดือนพฤศจิกายน วิตามิน & แร่ธาตุ กินน้อยไปป่วยง่าย กินมากไปก็ไม่ดี สั่งซื้อ คลิก

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หัวใจวายเฉียบพลัน รู้เท่าทันก่อนชีพวาย 

4 เทคนิค ออกกำลังกายสำหรับคนเป็น โรคหัวใจ

เจ็บหน้าอก จำต้องเป็นโรคหัวใจหรือไม่? หมอหัวใจมาตอบเอง

ติดตามชีวจิตได้ที่ :

Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.