บริหารหัวไหล่ ข้อศอก แก้อาการออฟฟิศซินโดรม
วันนี้เรามีท่าบริหารร่างกายแบบง่าย ๆ มาฝากกัน เป็นการ บริหารหัวไหล่ และข้อศอก เพื่อคลายกล้ามเนื้อ
นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา อธิบายว่า
สาเหตุเกิดจากการอักเสบและการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ เกิดเป็นพังผืด อาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการหันหรือเอื้อมหยิบของเร็วๆ แบบผิดท่า การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การใช้งานข้อไหล่ซ้ำ ๆ ระยะเวลานาน อาทิการนั่งพิมพ์งาน หรือท่าทางต่างๆ การบาดเจ็บต่างๆ หรืออาจเคยเกิดอุบัติเหตุที่ข้อไหล่เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อและเอ็นข้อไหล่ หรือแม้แต่ผู้มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ไทรอยด์
อาการภาวะข้อไหล่ติด เป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะปวด อาการจะเริ่มปวด และค่อย ๆ ปวดเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง แม้เวลากลางคืนเมื่อขยับไปโดนหัวไหล่ข้างที่ปวดก็จะเกิดอาการปวดมากจนรบกวนเวลานอน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในร่างกายไม่เป็นปกติ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
- ระยะข้อติด เคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ติดขัดมากขึ้น แม้ขยับเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร และการติดกระดุมเสื้อผ้า หรือการสวมเสื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
- ระยะฟื้นตัว อาการข้อไหล่ติดจะสามารถฟื้นตัวได้เอง อาการจะค่อยๆดีขึ้น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี พบว่าจะยังมีอาการข้อติดหลงเหลือ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ส่งผลให้การใช้งานไม่เหมือนปกติแต่เดิม
สังเกตอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์
- ปวดไหล่
- ขยับแขนไม่ได้
- ยกแขนไม่ขึ้น
- นอนก็ปวด เมื่อทับแขนด้านที่ปวด
- เอื้อมแขนหยิบของด้านหลัง ไขว้แขนไม่ได้ เอื้อมหยิบของที่สูงไม่ได้
- ยกแขนขึ้นสวมเสื้อลำบาก
- ปวดร้าวลงแขน
- หิ้วของหนักลำบาก
ท่าบริหารหัวไหล่ ข้อศอก
ทำได้ง่าย ๆ เราไปดูพร้อม ๆ กัน มีแค่ 3 ขั้นตอนดังนี้
1. คุกเข่าทับส้นเท้าหรือนั่งขัดสมาธิราบมือทั้งสองข้างแตะบริเวณหัวไหล่ หันศอกเข้าหากัน จากนั้นหมุนหัวไหล่ไปทางด้านหลังและวนมาด้านหน้าจนศอกกลับมาแตะกัน ทำซ้ำ 4 – 5 รอบ แล้วเปลี่ยนหมุนหัวไหล่มาด้านหน้าโดยเสยหัวไหล่ขึ้นมาด้านหน้า ทำซ้ำ 4 – 5 รอบ
2. นั่งในท่าเดิม เหยียดแขนขวา ไปข้างหน้า แล้วใช้แขนซ้ายคล้องบริเวณข้อศอกแขนขวา หายใจเข้า ขณะหายใจออกดึงแขนขวาไปทางซ้าย หันหน้าไปทางขวา ค้างไว้ 5 ลมหายใจ จากนั้นสลับข้างโดยเหยียดแขนซ้ายไปด้านหน้า ใช้แขนขวาคล้องบริเวณข้อศอก และดึงแขนซ้ายไปทางขวา หันหน้าไปทางซ้าย
3. นั่งในท่าเดิม พับข้อศอกงอเข้าหาลำตัวมือทั้งสองข้างแตะบริเวณหัวไหล่ จากนั้นเหยียดแขนออกด้านหน้าจนศอกตึง ทำซ้ำ 3 – 5 รอบ
แก้อาการไหล่ติด ปวดไหล่ ด้วยเทคนิคแพทย์แผนจีน
1. หลีกเลี่ยงการปะทะความเย็น
เช่น ตากพัดลมตากแอร์เย็น ๆ เพราะนอกจากความเย็นทำให้มีอาการไหล่ติดแล้ว ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นปวดเอว ปวดหลัง ปวดหัวเข่า ดังนั้นจึงควรอยู่ในอุณหภูมิปกติ
2. บริหารกล้ามเนื้อไหล่
โดยการฝึกท่า “ไต่กำแพง” คือ ค่อย ๆ ไต่นิ้วมือไปบนกำแพงให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือฝึกท่า “จับมือประสานหลัง” โดยยกแขนข้างหนึ่งขึ้น พับข้อศอกลง วางมือบนแผ่นหลัง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งอ้อมไปด้านหลัง แล้วพยายามเกี่ยวนิ้วของมือทั้งสองเข้าด้วยกัน ค้างไว้ 5 – 10 นาที ทำวันละหลายรอบยิ่งดี
3. ถ้ามีอาการปวดให้ประคบร้อนเพื่อคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยลดความปวดได้
จะเห็นได้ว่า ลม ความเย็น ความชื้น สามารถก่อโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศดังกล่าว เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ก็สามารถป้องกันอาการปวดทั่วร่างกายได้
รำกระบอง ท่าบริหารหัวไหล่ รักษาโรคและอาการไหล่ติดได้
รำกระบอง แก้อาการไหล่ติดได้ เพื่อนสาวที่เคยไปเข้าคอร์สชีวจิตบอกมา เมื่อต้องอธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถึงประโยชน์ของการรำกระบองในการรักษาโรค เพื่อนคนนั้นแนะนำว่า อยากรู้ลึก รู้จริง ลองไปปรึกษาปัญหาสุขภาพกับอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำหรับชีวจิต และผู้คิดค้นท่า รำกระบอง คนแรกและคนเดียวในประเทศและในโลกที่ ชีวจิตโฮม ดูสิ
เมื่อได้พบอาจารย์สาทิส ฉันพรั่งพรูคำถามคาใจเกี่ยวกับการรำกระบองโดยทันทีว่า จริงหรือไม่ที่รำกระบองช่วยรักษาโรคและอาการไหล่ติดได้
การรำกระบอง = บริหาร + ออกแรง
อาจารย์สาทิสกรุณาอธิบายปูพื้นฐานประโยชน์ของการออกกำลังกายให้ฟังก่อนว่า
“การออกกำลังกาย มีความสำคัญต่อชีวิต ชอบเปรียบเทียบชีวิตกับเครื่องจักรซึ่งประกอบด้วยวงจรไฟ กระบอกสูบ น้ำมันแม้จะมีทุกอย่างครบ แต่เครื่องจักรไม่ติด วงจรไฟหรือน้ำมันที่มีก็ใช้ไม่ได้ การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายทุกระบบได้เคลื่อนไหว เหมือนทำให้เครื่องจักรติดได้
“การออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ การได้ออกแรงและบริหารไปพร้อมกัน ซึ่งการรำกระบองแบบชีวจิตมีพร้อมทั้งการบริหารและออกแรง เราได้บริหารทุกส่วน แม้แต่ระบบสมองและระบบการหายใจ ซึ่งถ้าหายใจถูกต้องจะทำให้การหมุนเวียนเลือดดี ซึ่งก็จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อดีขึ้น ระบบข้อต่อดีขึ้นระบบกระดูกก็ดีขึ้น การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็สมบูรณ์ขึ้น”กว่าจะเป็นท่ารำกระบอง
ท่ารำกระบองทั้ง 12 ท่าซึ่งฉันได้อ่านจากหนังสือ เตะสุดชีวิตสำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพนั้น อาจารย์สาทิสคิดค้นอย่างไรและเมื่อไร ท่านเล่าว่า
“ตั้งแต่เรียนอยู่ที่อเมริกา (กว่า 50 ปีแล้ว) หน้าหนาวอากาศจะหนาวแทบตาย เวลาจะเดินไปไหนก็จะหนาวจนเจ็บจนปวด จึงคิดท่าบริหาร ท่าดัดตน มาแก้อากาศหนาว และต่อมาได้มาเรียนหลักอนาโตมี (กายวิภาคศาสตร์) และหลักฟิสิโอโลจี (สรีรวิทยา) ก็ป๊อกเลยว่า เราต้องใช้เรื่องที่เรียนมาแก้ โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกเจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ เช่น ข้อต่ออักเสบแก้ด้วยวิธีธรรมชาติ”
เมื่ออาจารย์สาทิสกลับมาประเทศไทยและเผยแพร่องค์ความรู้ชีวจิตอย่างจริงจัง โดยนอกจากประยุกต์หลักอนาโตมีและฟิสิโอโลจีมาใช้แล้ว อาจารย์ยังประยุกต์หลักไอโซเมตริกและไอโซโทนิกหลักการบริหารกระดูกสันหลัง หลักโยคะ รำมวยจีน และชี่กงมาประกอบเป็นท่ารำกระบองด้วย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาหารที่ผู้สูงอายุควรกินเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมตามวัย
เจาะลึกการดูแลผิว บำรุงข้อ ด้วยการ ใช้คอลลาเจน
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน
ติดตามชีวจิตได้ที่