ป้องกันหวัด แก้หวัด

รวมอาหาร วัตถุดิบก้นครัว ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด ในหน้าฝน

อาหารเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด ในฤดูฝน

วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด ในฤดูฝนแบบนี้กันค่ะ มาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างหาไม่ยาก สรรพคุณเหลือล้นมากๆ

กระเทียม ป้องกันหวัดยันมะเร็ง

สารอัลลิซิน (Allicin) ในกระเทียมสดช่วยต่อต้านแบคทีเรียและลดการติดเชื้อ โดยกระเทียมสด 1 กลีบ มีสารอัลลิซิน 5 – 9 มิลลิกรัม
งานวิจัยในวารสารทางการแพทย์Advances in Therapy ทดลองให้ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงเสริมสารอัลลิซิน (สกัดจากกระเทียม) วันละ 180 มิลลิกรัม เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo)

กระเทียม ป้องกันหวัด ไข้หวัด แก้หวัด

หลังเฝ้าสังเกตความถี่การเกิดไข้หวัดและความรุนแรงของอาการป่วยนาน 12 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารอัลลิซินป่วยเป็นไข้หวัดน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกถึงร้อยละ 64 และสามารถฟื้นไข้ได้เร็วกว่า

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า การกินกระเทียมสดร่วมกับอาหารวันละ 6 กลีบ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) ร้อยละ 30 และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer) ร้อยละ 50

กินอย่างไร

มหาวิทยาลัยรัฐออริกอน (Oregon State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การบดและสับทำให้กระเทียมหลั่งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า อัลลิอิเนส (Alliinase) ช่วยกระตุ้นการสร้างสารอัลลิซินมากขึ้น

หลังการบดหรือสับควรวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 10 นาที เพื่อให้กระเทียมหลั่งเอนไซม์หากใช้ปรุงอาหารทันที อาจยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ควรผัดกระเทียมสดด้วยความร้อนต่ำหรือปรุงในอาหารประเภทยำ หากกังวลเรื่องกลิ่นปากหลังกินกระเทียม แนะนำให้ดับกลิ่นปากโดยเคี้ยวเมล็ดผักชี ใบฝรั่ง หรือมะนาวฝานชิ้นเล็กๆจิ้มเกลือ และแปรงฟันให้สะอาด

ยอดมะม่วงหิมพานต์ พริกหวาน หัวหอม เพิ่มพลังภูมิคุ้มกัน

มลพิษจากสิ่งแวดล้อม เชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร ตลอดจนยารักษาโรคบางชนิด เป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งให้เกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกาย ส่งผลให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ เชื้อโรคจากภายนอกจึงเข้าโจมตีร่างกายอย่างง่ายดาย

นายแพทย์โคอิชิโร ฟุจิตะ (Koichiro Fujita) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ ให้ความกระจ่างว่า อนุมูลอิสระมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน จึงส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ

หัวหอม แก้หวัด ป้องกันหวัด

ฉะนั้นควรกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเพื่อเพิ่มพลังภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ได้แก่ ผักและผลไม้ที่มีสีสันสดใส มีสารพฤกษเคมีสูง (Phytochemical) เช่น สารพอลิฟีนอล (Polyphenol) พบมากในยอดมะม่วงหิมพานต์ ใบมันปู ใบส้มแป้น กะหล่ำปลีม่วง ผักกระเฉด สารแคโรทีนอยด์(Carotenoid) พบมากในพริกหวานสีแดง แครอต ผักชีล้อม ตำลึง ฟักทอง หรือสารประกอบซัลเฟอร์(Sulfur compounds) ซึ่งพบในพืชที่มีกลิ่นแรง เช่น หัวหอม หัวผักกาด

กินอย่างไร

กินผักและผลไม้สดให้หลากหลาย ร่างกายจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระสูง หรือดื่มเป็นน้ำเอนไซม์ ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว

สามารถคั้นน้ำเอนไซม์โดยสับหรือตำผักและผลไม้ครั้งละ 1 ชนิด จากนั้นคั้นด้วยผ้าขาวบางหรือใช้เครื่องปั่นแยกกาก เสร็จแล้วดื่มทันที ไม่ควรตั้งทิ้งไว้นานเกินครึ่งชั่วโมง

ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ลดเสี่ยงติดเชื้อไวรัส

ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เลย์อุดมไปด้วยเบต้ากลูแคน (Betaglucan) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกัน ต่อต้านแบคทีเรียและลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ

ข้าวโอ๊ต แก้หวัด

การศึกษาในประเทศนอร์เวย์พบว่า สัตว์ทดลองที่กินอาหารซึ่งมีส่วนประกอบของข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เลย์มีความถี่ป่วยเป็นโรคหวัด และโรคเริมซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสลดลง ส่วนการศึกษาในคน พบว่า ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กินอย่างไร

เลือกข้าวโอ๊ตชนิดสุกเร็ว (Quick Cooking Oats) นำมาต้มกับน้ำเดือด ใช้แทนข้าว ปรุงเป็นข้าวต้ม โจ๊ก หรือกินพร้อมกับเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น น้ำเต้าหู้ ส่วนข้าวบาร์เลย์ แนะนำให้ซาวเพียง 1 ครั้ง เพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการ จากนั้นหุงกับน้ำสะอาดในอัตราข้าวบาร์เลย์1 ส่วน ต่อน้ำ 2 ส่วน ในหม้อหุงข้าวตามปกติ หรืออาจเพิ่มน้ำสะอาดเป็น 3 ส่วน หากต้องการให้เมล็ดข้าวนุ่มยิ่งขึ้น

โยเกิร์ต ลำไส้สมดุล ภูมิคุ้มกันเพิ่มพูน

โยเกิร์ตมีส่วนประกอบของจุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotic) เช่น แล็กโตบาซิลลัส บัลการิคัส (L. bulgaricus) แล็กโตบาซิลลัส คาเซอิ(L. casei) แล็กโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลลัส (L. acidophillus) ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โดยตรงเข้าป้องกันโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ก่อโรคและจุลินทรีย์ฉวยโอกาสในระบบทางเดินอาหาร

หนังสือสุขภาพดีด้วยโปรไบโอติกอธิบายว่า จุลินทรีย์ก่อโรคเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียและติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ส่วนจุลินทรีย์ฉวยโอกาสจะซ้ำเติมให้ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือเจ็บป่วยมีอาการรุนแรงและฟื้นตัวช้า

โยเกิร์ต ป้องกันหวัด แก้หวัด ไข้หวัด

ทั้งยังมีรายงานว่า โพรไบโอติกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้จัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมช่วยเพิ่มระดับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำลายเชื้อโรค

ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต เป็นประจำเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้ และป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นด้วย

กินอย่างไร

กินโยเกิร์ตวันละ 1 – 2 ถ้วยเป็นประจำทุกวัน เลือกโยเกิร์ตรสธรรมชาติ สูตรไขมันต่ำ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับน้ำตาลจากการปรุงแต่งรสชาติและไขมันอิ่มตัวส่วนเกินมากเกินไป

ข้อมูลจาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 386


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพทย์จีนแนะอาหารควรงด เป็นหวัดห้ามกิน ทำอาการแย่ลง

วิธีอย่างง่าย ดูแล+ป้องกัน โรคระบบทางเดินหายใจ (หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด)

10 ข้อต้องรู้ ป้องกันและรักษา ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกแล้ว เตือนระวังโรคมากับฤดูฝน พบมากภาคกลางภาคอีสาน

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.