สมุนไพร สำหรับผู้สูงอายุ

สมุนไพร สำหรับผู้สูงอายุ แก้โรคลม อัมพาต

สมุนไพร สำหรับผู้สูงอายุ วัยแห่งการเปลี่ยนแปลงและต้องระวังโรคลม

สมุนไพร สำหรับผู้สูงอายุ เป็นวัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างร่างกาย อวัยวะ ระบบเผาผลาญ และระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 เริ่มทรุดโทรมตามระยะเวลาของการใช้งาน เช่น ดวงตาก็จะเริ่มมองไม่ชัด เป็นต้อกระจก ความดันโลหิตสูงขึ้น จอประสาทตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคกระดูกเสื่อม ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ และท้องผูกง่าย เป็นต้น

การแพทย์แผนไทยได้จำแนกกลุ่มคนนี้ ไว้ในกลุ่มของ “ปัจจิมวัย” คือ มีอายุตั้งแต่ 32 ปีขึ้นไป  กล่าวได้ว่า เป็นช่วงอายุที่มีความคาบเกี่ยวกับวัยผู้ใหญ่ตอนปลายและกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความถดถอยในการทำงานของธาตุต่างๆในร่างกาย ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หากไม่มีการเตรียมตัวและรักษาสุขภาพไว้ตั้งเเต่เนินๆ จะเร่งความเสื่อมของร่างกายให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

จุดอ่อนด้านสุขภาพของคนวัยนี้ คือ ระบบวาตะหรือลมกำเริบ วาตะเป็นธาตุเจ้าเรือนหลักของคนวัยนี้ โดยวาตะจะทำงานร่วมกับลมและอากาศ(ช่องว่างในร่างกาย) มีคุณสมบัติเบา แห้ง เคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา

ตำแหน่งของวาตะ จะอยู่บริเวณศีรษะ หัวใจ  กลางท้อง และช่องว่างต่างๆของร่างกาย มีหน้าที่ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานการเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด อารมณ์ความรู้สึก เป็นต้น จึงไม่แปลกที่คนในวัยนี้จะใช้ความคิด และสติปัญญาในการคิดสิ่งต่างๆมากเป็นพิเศษ

ดังนั้น เราจำเป็นต้องเตรียมการดูแลสุขภาพตั้งเเต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย เช่น อาการนอนไม่หลับเพราะธาตุลมผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียน รวมไปถึงปัญหาระบบย่อยอาหาร(ธาตุไฟ) ที่ทำงานน้อยลง ทำให้ท้องอืดง่าย เพราะระบบการเผาผลาญลดลง

รสยาที่เหมาะกับคนวัยนี้ คือ รสเผ็ดร้อน หอมเย็น ขม เค็ม ฝาด สมุนไพรที่แนะนำ เช่น อบเชย บัวหลวง ขิง กะเพรา ตะไคร้ บอระเผ็ด ฯลฯ

สมุนไพร สุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุ

1. ตำรับยาหอม บำรุงธาตุลม

ยาหอมในทางการแพทย์แผนไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ยาหอมที่เน้นไปทางรสสุขุมร้อน แก้ลมกองหยาบ เช่น การขับลมในทางเดินอาหาร แก้อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ

ส่วนอีกชนิดเป็นยาหอมที่มีรสค่อนไปทางสุขุมเย็น  แก้ลมกองละเอียด เช่น ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้รู้สึกชุ่มชื่น จิตใจสงบลง ไม่มีอาการงุดหงิด หรือโมโหร้าย

  • ยาหอมเนาวโกฐ ช่วยบำรุงหัวใจ คลื่นไส้อาเจียน ย่อยอาหาร ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

วิธีกิน กินครั้งละ 1-2 กรัม ก่อนนอน ละลายในน้ำต้มสุก หรือเมื่อมีอาการ แต่ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง  ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือในนมบุตร คนที่แพ้เกสรดอกไม้ และกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  • ยาหอมอินทจักร ช่วยทำให้อาการหงุดงิด จิตใจไม่สงบ ลดลง หรือทางแพทย์แผนไทยเรียกว่าลมบาดทะจิต

วิธีกิน กินปริมาณ ½ -1 ช้อนชา ก่อนนอน ละลายกับน้ำต้มสุก หรือถ้าจะให้ได้ฤทธิ์ดียิ่งขึ้นให้ละลายกับน้ำดอกมะลิ แต่จะต้องเป็นมะลิที่ปลูกเองหรือออร์แกนิก

ไม่แนะนำให้ซื้อดอกมะลิในตลาดเพราะอาจได้รับสารเคมีมาด้วย และที่สำคัญคนที่มีประวัติแพ้เกสรดอกไม้ไม่แนะนำให้กิน แต่เลือกรูปแบบการใช้วิธีอื่นแทน

2. ตำรับยาประสะไพล รักษาอาการหมดประจำเดือน

ตำรับยาประสะไพล เป็นอีกตำรับยาที่มีส่วนผสมของไพลเป็นส่วนประกอบหลัก เหมาะสำหรับผู้หญิงทั้งวัยหมดประจำเดือนและมีประจำเดือน เพราะสามารถใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ และขับน้ำคาวปลา

วิธีกิน กินครั้งละ 500-1000 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น  เป็นระยะเวลา 3-5 วัน

กรณีปวดประจำเดือนเป็นประจำ ให้กินก่อนมีประจำเดือน 2 – 3 วัน ไปจนถึงวันแรกและวันที่สองที่มีประจำเดือน

กรณีขับน้ำคาวปลาให้กินจนกว่าน้ำคาวปลาหมด แต่ไม่เกิน 15 วัน และที่สำคัญห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ

3. ตำรับยาลูกแปลกแม่ บำรุงผิว อ่อนเยาว์

ยาลูกแปลกแม่ มีสรรพคุณ ช่วยในการบำรุงผิวพรรณให้ดูสดใสและอ่อนวัย และช่วยให้ฮอร์โมนในร่างกายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นยาอายุวัฒนะนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ตำรับลูกแปลกแม่มีฤทธิ์เป็นสารแอนติออกซิแดนท์อีกด้วย

วีธีกิน   ผู้หญิงแลลผู้ชาย แนะนำให้กินในปริมาณ 500 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า และเย็น

อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้กินเยอะเกินไป เพราะจะทำให้มีอาการร้อนภายในท้องได้ และไม่ควรกินในขณะท้องว่าง และคนที่มีอาการร้อนใน ท้องผูก หรือเป็นโรคกระเพาะอาหาร ให้ระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากยา ที่มีรสเผ็ดร้อน

ส่วนผสม กล้วยน้ำไท 1 หวี มะตูมนิ่ม 1 ผล และพริกไทย 1 กิโลกรัม

วิธีทำ

  1. หั่นกล้วยน้ำไทเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบดหรือปั่นให้ละเอียด
  2. คว้านเนื้อผลมะตูมนิ่ม บดขยี้หรือปั่นให้ละเอียด
  3. บดพริกไทยล่อนหรือพริกไทยดำ ให้ละเอียด
  4. นำส่วนผสมทั้งหมด ใส่ลงกระทะทองเหลือง ใช้ไฟอ่อนๆ กวนให้เข้ากัน สังเกตเมื่อส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียวไม่ติดกระทะ จึงยกลง แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
  5. นำมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบ แล้วเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิด

4. ขี้เหล็ก ช่วยนอนหลับ

ขี้เหล็กเป็นสมุนไพรที่สามารถหาได้ทั่วไป มีสารสำคัญคือบาราคอล (Baracol) มีฤทธิ์เป็นยานอนหลับธรรมชาติ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยทำให้นอนหลับ แถมรสขมของขี้เหล็กยังเป็นยาเจริญอาหารอีกด้วย

วิธีกิน นำใบที่ไม่แก่จัด หรือดอกตูม มาต้มประมาณ 3-5 ครั้ง  เพื่อกำจัดพิษความขมจากขี้เหล็กออกก่อน แล้วนำไปแกงหรือกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ได้เช่นกัน

5. ชาเกสรดอกไม้ บำรุงหัวใจ

แพทย์แผนไทยมีตำรับยาหลากหลายที่นิยมใช้เกสรดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะตำรับยาหอม หรือตำรับยาดมสมุนไพร ล้วนมีเกสรดอกไม้เป็นส่วนประกอบ เพราะมีรสเย็น และช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้กระชุ่มกระชวย เช่น เกสรดอกบัวหลวง เกสรดอกบุนนาค เกสรดอกพิกุล เกสรดอกสารภี เกสรดอกมะลิ ฯลฯ

มีรายงานวิจัยระบุว่า เช่น น้ำมันหอมระเหยเกสรดอกมะลิ ช่วยกระตุ้นให้ชุ่มชื่นหัวใจ เกสรดอกบัวหลวง มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฯลฯ

วิธีกิน ดื่มในรูปแบบของชา โดยนำมาตากแห้ง ชงดื่มกับน้ำร้อน แนะนำให้ดื่มตอนบ่ายๆหรือก่อนนอน แต่ไม่แนะนำให้คนที่แพ้เกสรดอกไม้ดื่มนะครับ รวมไปถึงยาหอมชนิดต่างๆที่มีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ด้วย

6. ยาดมส้มมือ แก้อาการวิงเวียน

ยาดมส้มโอมือ คือ การนำเปลือกส้มโอมือหรือเปลือกส้มโอ มาผสมกับเครื่องเครา ใช้ดมแก้หวัด วิงเวียน เป็นลม  สามารถทำได้เองง่ายๆ หรือซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

แต่ครั้งนี้ขอแนะนำ สูตรยาดมท่านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นสูตรของคนในวัง

วิธีทำ นำพิมเสน 1 ส่วน  การบูร 2 ส่วน  เมนทอล 3 ส่วน  และน้ำมันหอมระเหยกลิ่นกุหลาบ 1 ส่วน มาละลายเข้าด้วยกัน พักไว้ โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมไว้เพื่อป้องกันการระเหย จากนั้นฝนอบเชยเทศและชะเอมเทศอย่าละ 2 ส่วน กับหินหรือตะไบ ให้ละเอียด พักไว้

หั่นเปลือกส้มโอมือหรือส้มโอเป็นชิ้นเล็กๆ ปริมาณ 3 ส่วน นำไปตากแดด เมื่อเตรียมตัวยาครบให้นำทั้งหมดมาผสมรวมกันปั้นเป็นก้อน แล้วบรรจุใส่ถ้ำยาดม หรือห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ขวดไว้ดม

7. บัวบก ป้องกันอัลไซเมอร์

          บัวบกเป็นสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์คล้ายกับกิงโกะของประเทศจีน เพราะมีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายในหลอดเลือดฝอยได้เป็นอย่างดี ช่วยบำรุงสมอง เสริมความจำ ป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ แถมยังลดอาการของเส้นเลือดขอดได้อีกด้วย

วิธีกิน ใช้ชาแห้ง ปริมาณ 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อนหรือต้มดื่ม หรือชนิดแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 แคปซูล ก่อนอาหารเช้า เย็น

แต่มีข้อควรระวัง สำหรับคนที่ชอบกินใบบัวบกสด แนะนำให้เลือกซื้อจากแหล่งปลูกที่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะใบบัวบกมีคุณสมบัติดูดซับตะกั่ว และสารพิษได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ถ้าให้ดีก็ควรปลูกกินเองนะครับ

อย่าลืมติดตาม ชีวจิตออนไลน์ นะครับ

บทความ ผู้สูงอายุ

ห้องน้ำผู้สูงอายุ กับวิธีออกแบบง่ายๆ

เช็กแพ็คเก็จ+ราคา วัคซีนแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ จากโรงพยาบาลชั้นนำ

แชร์! วิธีวิ่งในผู้สูงอายุ ทำตามด่วน

สวางคนิเวศ บ้านพักผู้สูงอายุ ภายใต้สภากาชาดไทย

ไข้เลือดออก ผู้สูงอายุ ต้องดูแลอย่างไร

ยาหอม 5 แบรนด์ไทย ตำรับขึ้นหิ้ง ไม่มีติดบ้าน ถือว่าพลาดมาก!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.