สมุนไพรป้องกันโรค NCDs

ชีวจิต ชวนรู้จัก 6 สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs

สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs

สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs  หรือโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่สร้างความตื่นตระหนกในสังคมทั่วโลก เพราะทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างมหาศาล แถมยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาประชาชนในแต่ละประเทศสูงลิ่วด้วย

เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนในประเทศมีความแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ วัฒนธรรมการกินอาหารจั๊งฟู้ดมากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รีบกิน รีบทำงาน รีบกลับบ้าน จนลืมออกกำลังกาย ทำให้ลักษณะการดำเนินชีวิตแบบเดิมหายไป

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรับมืออาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่เราอาจต้องเปลี่ยนกลวิธีเป็นการปรับเข้าหาโรค NCDs โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างให้ห่างจากโรค NCDs แทนก็แล้วกัน

ในทางการแพทย์แผนไทย ระบุว่า โรคเรื้อรังเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากความร้อนจากธาตุไฟพัดพาธาตุลม และธาตุน้ำ ส่งผลให้แรงดันเลือดผิดปกติ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะกลายเป็นลมอัมพฤกษ – อัมพาต ทำให้การรักษายุ่งยาก และสุดท้ายก็จะกลายเป็นอัมพาตแทนได้

ชีวจิตออนไลน์ ขอแนะนำ ชาสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้

ตะกร้าสมุนไพรป้องกันโรค NCDs  

1. ชากระเจี๊ยบแดง ลดไขมัน รักษาความดันโลหิตสูง

กลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบ มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งจัดเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ และสามารถลดไขมันในเลือดได้ มีรายงานวิจัยระบุว่า การกินสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบ 2 แคปซูลระหว่างมื้ออาหาร วันละ 3 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์  ระดับคอเลสเตอรอลลดลงภายใน 2 สัปดาห์

วิธีกิน ใช้กลีบดอกกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม บดเป็นผงหรือดอกแห้ง ชงกับน้ำเดือด 300 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น

นอกจากนี้กระเจี๊ยบแดงยังช่วยขับปัสสาวะ รักษาระดับความดันเลือด และฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะฤทธิ์ของความเปรี้ยวที่มีลักษณะเป็นกรด เป็นสารฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี

2. ชาดอกคำฝอย ป้องกันไขมันอุดตัน

ดอกคำฝอย มีสารสีเหลืองส้ม ที่คนโบราณใช้ในการแต่งสีอาหาร  รายงานวิจัยระบุว่า น้ำมันดอกคำฝอยสามารถป้องกันไม่ให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงและป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดได้

วิธีกิน ใช้ดอกแห้งปริมาณ 1 หยิบมือ ต้มหรือชงกับน้ำเดือด แล้วดื่ม

ข้อควรระวังการใช้น้ำมันดอกคำฝอย อาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ แผลในกระเพาะอาหาร และประจำเดือนมามากผิดปกติ เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้นกว่าเดิมได้

3.ชาใบหม่อน รักษาระดับน้ำตาลในเลือด

ต้นหม่อนปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารของตัวไหม จากงานวิจัยระบุว่า สารสกัดสารใบหม่อนด้วยน้ำร้อน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหารได้ อีกทั้งไม่พบอาการข้างเคียงอีกด้วย

วิธีกิน ใช้ใบแห้งหรือสด ปริมาณ 1 หยิบมือ ต้มหรือชงกับน้ำเดือด แล้วดื่มวันละ 1-2 ครั้ง

ระวังในผู้ป่วยที่ใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน เพราะใบหม่อนอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลลดต่ำลงมากไปอีก

 4. ชามะระขี้นก ปรับฮอร์โมนอินซูลิน

รสขมของมะระขี้นก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น เพราะเข้าไปช่วยลดระดับการใช้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย

วิธีกิน กินมะระสด มื้อละ 2 ผล หรือกินในรูปแบบของชาชง

แต่อย่าเผลอกินเมล็ดผลสุกของมะระขี้นก เพราะว่ามีพิษ และการใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวาน อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

5.ชาปัญจขันธ์ ลดการดูดซึมน้ำตาล

ปัญจขันธ์มีอีกชื่อเรียกว่า เจียวกู่หลาน มีสารสำคัญที่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของหนูในหลอดทดลอง ทำให้มีความทนต่อกลูโคสดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และไม่พบอาการข้างเคียง

วิธีกิน ใช้ชาปริมาณ 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน ดื่ม วันละ 2 ครั้ง  ก่อนอาหาร เช้าและเย็น

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เนื่องจากชาอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก

6.ชาผักเชียงดา ดีท็อกซ์น้ำตาล

ปัจจุบันญี่ปุ่นได้วิจัยและจดสิทธิบัตรผักเชียงดาในรูปแบบอาหารและชาชงสุขภาพ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพราะพบว่าผักเชียงดามีสารจิมนีมิค เอซิด  (Gymnemic acid) ที่ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

วิธีกิน ใช้ชาปริมาณ 3 กรัม ชงกับน้ำร้อนดื่ม วันละ 1-2 ครั้ง

มีตะกร้าของขวัญสุขภาพ สมุนไพร ป้องกันโรค NCDs ให้คนที่คุณรัก หรือจะเพื่อตัวคุณเองก็ได้ รับรองว่า สุขใจผู้ให้ อิ่มใจผู้รับ แน่นอน

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เยียวยาภาวะ ตับอักเสบ ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

“ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบของคนอ้วน รักษาด้วยสมุนไพร

แจ่วมะเขือเทศ อร่อย ทำง่าย กินต้านการเกิดมะเร็ง

เยียวยาเบาหวาน ด้วยการ เดินย่อย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

Summary
Review Date
Author Rating
51star1star1star1star1star

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.