STORY SHARING … ถอดประสบการณ์รักษาคนไข้ ด้วย “สมุนไพรไทย”
มีเรื่องเล่า ถอดประสบการณ์รักษาคนไข้ ในระยะเวลา 30 ปีที่เป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ทำการรักษาคนไข้มาโดยตลอด ได้พบเห็นอาการเจ็บป่วยที่มีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน บางคนเจ็บป่วยเหมือนกันแต่ใช้ยาต่างกัน
เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความแตกต่างของธาตุในร่างกาย เหตุเริ่มต้นต่างกัน ความแข็งแรงหรืออายุต่างกัน เพศต่างกัน พฤติกรรมต่างกัน บางครั้งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยารักษาเฉพาะ โรคที่มาทำการรักษาแบบแพทย์แผนไทยนั้นไม่ได้เป็นโรคหรือมีอาการที่รักษาง่าย ๆ ส่วนใหญ่ที่พบมักมีความซับซ้อนและเรื้อรัง บางรายรักษาที่โรงพยาบาลดีอยู่แล้วหรือกำลังจะหาย แต่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่ไม่หายไป มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งถึงขั้นที่ป่วยหนักมากขึ้น มีอาการแทรกซ้อน หรือมีโรคอื่นเพิ่มขึ้นมา
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาให้หายได้ในเร็ววัน บางรายต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่และต้องรักษากันอย่างต่อเนื่อง บางรายโชคดีที่พื้นฐานร่างกายเดิมแข็งแรง ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาและรักษาไม่นานนักก็หายหรือดีขึ้นได้ การประเมินคนไข้ ประเมินโรค และการวางแผนการรักษาจึงมีความสำคัญยิ่ง และต้องดูปัจจัยที่จะส่งเสริมการรักษา ทั้งหมดนี้มีความสำคัญในการรักษาทางการแพทย์แผนไทยที่ต้องบูรณาการการรักษาแบบองค์รวม
ตัวอย่างคนไข้ที่เคยรักษารายหนึ่งเป็นหญิงอายุ 43 ปี มาด้วยอาการเป็นหวัดแพ้อากาศเป็น ๆ หาย ๆ มาตลอด เป็นมาประมาณ 2 ปีกว่า เมื่อแรกตื่นนอนตอนเช้ามักมีอาการคล้ายหวัด มีน้ำมูกและจามมาก ในตอนเช้า พอสาย ๆ อาการดีขึ้น หรือเวลาอากาศเปลี่ยนมักมีน้ำมูกและจามบ่อยแต่ไม่มีไข้ ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน งานส่วนใหญ่เป็นงานในสำนักงานเกี่ยวกับเอกสาร จึงไม่ใช่งานหนัก เคยรับการรักษามาระยะหนึ่ง พอเริ่มดีขึ้นจึงไม่ได้รักษาต่อเนื่องให้หายขาด ชอบดื่มน้ำเย็น อาบน้ำก่อนเข้านอนประมาณห้าทุ่ม นอนห้องแอร์ ไม่ค่อยได้ออกกำลัง
ผู้ป่วยกลับถึงบ้านประมาณสองทุ่มทุกวัน วันหยุดทำงานบ้านและไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ นาน ๆ ได้ออกต่างจังหวัด ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกสบายและอาการหวัดมีน้ำมูกน้อยลง ถ้าช่วงไหนฝนตกอากาศเย็นจะเป็นหวัดบ่อย บางครั้งแน่นจมูกหายใจไม่ออก แต่ไม่มีอาการหอบ หน้าร้อนจะมีอาการน้อยกว่าในหน้าฝน ชอบดื่มน้ำแตงโม และน้ำมะพร้าวปั่นหรือชานมไข่มุก ความดันโลหิตปกติ ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ นอกจากอาการแพ้อากาศ
HOW TO วิธีฟื้นฟูสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย
คนไข้รายนี้รักษาโดยการใช้ยาแผนไทยอย่ปู ระมาณ 3 – 4 เดือน สาเหตุที่ต้องใช้เวลาเนื่องจากผู้ป่วยป่วยเรื้อรังมานาน และมีพฤติกรรมหลายอย่าง ที่ส่งเสริมให้อาการป่วยนั้นหายช้า ต้องปรับพฤติกรรมการกิน การทำงาน การพักผ่อน การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้การรักษาเป็นไปด้วยดี เช่น
- งดดื่มน้ำเย็นน้ำแข็ง ถ้าช่วงไหนมีอาการหวัดให้ดื่มน้ำอุ่น น้ำขิงน้ำมะนาวอุ่น หรือน้ำมะขามป้อม
- งดรับประทานผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น มะระ ฟัก แตงโมหรือถ้าจะรับประทาน อาหารในมื้อนั้น ควรมีอาหารที่มีรสร้อนจากเครื่องเทศ สมุนไพร เช่น ขิง กะเพรา เครื่องต้มยำ เพื่อปรับสมดุลของธาตุอาหารให้เป็นกลางหรือมีรสร้อน
- งดอาบน้ำในตอนดึก ควรอาบน้ำหลังกลับถึงบ้านทันที และควรดื่มน้ำอุ่นหลังอาบน้ำเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- ถ้านอนในห้องที่อุณหภูมิเย็นควรสวมเสื้อ เพื่อให้ความอบอุ่น และหาผ้าปิดหน้าอกและคอเพื่อไม่ให้กระทบความเย็นโดยตรง
- เวลากลางวันในที่ทำงาน ถ้าอากาศเย็นควรสวมเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง
- ควรออกกำลังกายและฝึกการหายใจที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ เพราะจะส่งเสริมให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ด้านการรักษา กรณีที่ไม่มีไข้ ให้ใช้ยาตำรับปราบชมพูทวีป รับประทานเช้าและเย็น (ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ) และให้ดื่มน้ำตรีผลาอุ่น ๆ หรือน้ำขิง
กรณีที่มีไข้ ควรรักษาอาการไข้ให้หายหรือดีขึ้นก่อน โดยอาจใช้ยาตำรับจันทลีลาให้รับประทานแก้ไข้ แก้หวัด รับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเวลามีไข้ เมื่อไข้หายแล้วจึงให้รับประทานยาปราบชมพูทวีป หรือในกรณีที่ไม่อยากรับประทานยา อาจรับประทานตรีผลากับขิง ใส่น้ำต้มดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง หรือรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซี ในตำรับยาจันทลีลา ประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านฤทธิ์ไข้ ลดปวดลดบวม ทำให้อาการป่วยหายเร็ว และร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เอง
ในส่วนของยาปราบชมพูทวีปนั้นเป็นยาค่อนข้างร้อน จึงส่งผลดีต่อการรักษาอาการหวัดแพ้อากาศ ดังนี้ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของสารน้ำต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้เสมหะไม่จับตัวเป็นก้อน ช่วยกระจายเสมหะไม่ให้คั่งค้าง (เสริมระบบธาตุลมและธาตุน้ำ) ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย (เสริมระบบไฟธาตุ)
เมื่อธาตุในร่างกายสามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ และสมดุล ร่างกายจะกระตุ้นให้มีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ร่วมกับปัจจัยอื่นอย่างข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่คนไข้ต้องให้ความร่วมมือในการรักษาภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ใส่ หรือนำเข้าสู่ร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการกระตุ้นของร่างกายเองที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะถ้าเมื่อไรก็ตามที่ร่างกายยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ นั่นก็หมายถึงภูมิต้านทานโรคของร่างกาย
มีความแข็งแรง การเจ็บป่วยก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้
ในทางการแพทย์แผนไทยระบบภูมิคุ้มกันที่ดี จึงหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีความสมดุลของธาตุ ฉะนั้นการรักษาสมดุลธาตุจึงมีความจำเป็น และไม่ว่าจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นทั้งไข้หวัดใหญ่หรือโควิด–19 การป้องกัน การเฝ้าระวัง และการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
หวังว่าการใช้ชีวิตวิถีใหม่จะช่วยให้คนส่วนใหญ่ตระหนักในการดูแลสุขภาพ เพื่อการมีชีวิตและสุขภาพที่ดีมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
- ตำราการแพทย์แผนไทยสำหรับแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข
- มาตรฐานสมุนไพรจีนในประเทศไทย เล่ม 1 เล่ม 2 เล่ม 3 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- ตำราเภสัชกรรมไทย ประมวลสรรพคุณยาไทย เล่ม 1 เล่ม 2 เล่ม 3 วัดพระเชตุพนฯ
- เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ อาจารย์สมศักดิ์ นวลแก้ว
- สมุนไพรไทยต้านจุลินทรีย์ อาจารย์ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย และอาจารย์สุกัลญา หลีแจ้
เรื่อง พทป.วันทนี เจตนธรรมจักร ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 527 – 22 สมุนไพรไทย ยาอายุวัฒนะใกล้ตัว
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 กันยายน 2563
บทความน่าสนใจอื่นๆ
HOW TO เลือกซื้อแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และ วิธีทิ้งหน้ากากอนามัย ในช่วงโควิดhttps://unitus.synergy-e.com/custom/inread/sf/src/html/r.html?ox_ver=8.6
ห้องน้ำสาธารณะ ใช้อย่างไร ให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด19
เช็ก! โรคหอบหืด หรือ โควิด -19 กันแน่
Happy Hypoxia อาการแปลก ในผู้ป่วยโควิด 19 เหนื่อยปุ๊บ เสียชีวิตฉับพลัน
การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยวิธีนอนคว่ำ ?
เหลือเชื่อ! พบแม่ติดโควิดคลอดลูกมีภูมิต้าน
สิทธิโชค ศรีโช วิหคคืนรังอีสาน กับสวนครัว เกษตรอินทรีย์ อิ่มท้อง อิ่มใจ สู้ภัย โควิด