ดาวอินคา กำลังอยู่ในกระแสสุขภาพที่มาแรงในยุคนี้ มื้อสุขภาพ ปักษ์นี้อยากให้ คุณผู้อ่านรู้ก่อนใคร จึงรวบรวมข้อมูล ทั้งประโยชน์ สารอาหาร วิธีกิน จนถึงงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยมานำเสนอแบบจัดเต็ม
ดาวอินคา มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ชาวเปรูใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้มาแล้วกว่า 3,000 ปี มีรูปร่างคล้ายดาว มี 4 – 7 แฉก ผลอ่อนมีสีเขียว และสีจะเข้มขึ้นตามอายุ ผลแก่มีสีน้ำตาลดำ มีเมล็ดรูปไข่อยู่ภายใน ต้องนำเมล็ดไปคั่วให้สุกก่อนกิน โดยทั่วไปจะทิ้งให้ผลแห้งคาต้นก่อนเก็บเกี่ยว และนำมาตากแดดต่ออีกประมาณ 1 วันก่อนจำหน่าย
ดาวอินคา…ทุกส่วนล้วนมีประโยชน์
ทุกส่วนของต้นดาวอินคาล้วนมีประโยชน์ ข้อมูลจากวารสารเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ยอดของต้นดาวอินคามีรสชาติอร่อย อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า – 3 โอเมก้า – 6 โอเมก้า – 9 วิตามินเอ และวิตามินอี
นิยมปรุงเป็นอาหารจานผัด เลือกใบจากต้นดาวอินคาที่ไม่แก่มาก นำมาหั่นแล้วผึ่งแดด 1 – 2 แดด หลังจากนั้นนำไปต้มดื่มเป็นน้ำชา หรือสกัดน้ำจากใบเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังใช้ใบประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงจืด แกงเลียง ห่อเมี่ยงคำ
เมล็ด นิยมสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า – 3 โอเมก้า – 6 โอเมก้า – 9 วิตามินเอ และวิตามินอี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ปรุงอาหาร ทำน้ำสลัด เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อาหารเสริม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ โลชั่น ครีมบำรุงผิว
เช็กสารอาหารในน้ำมันดาวอินคา
น้ำมันดาวอินคา มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว โดยเฉพาะโอเมก้า – 3 สูง ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้นโดยกรดไขมันชนิดโอเมก้า – 3 นี้ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
น้ำมันดาวอินคา มีกรดไขมันโอเมก้า – 3 สูง จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ และผู้ที่ไม่กินปลาทะเล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พร้อมลักษณ์ สมบูรณ์ปัญญากุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ในวารสาร สารหัวใจว่า
น้ำมันดาวอินคาไม่ได้มีเพียงกรดไขมันโอเมก้า – 3 ปริมาณสูงเท่านั้น แต่ยังมีวิตามินอีซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังมีสารแคโรทีน (Carotene) และสารพอลิฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ยังมีสารไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย
วิธีกินให้อร่อยและได้ประโยชน์
แนะนำให้กินส่วนของเมล็ดที่เรียกกันว่าถั่วดาวอินคา โดยกินเมล็ดที่คั่วสุกแล้วเป็นมื้อว่างร่วมกับถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ วอลนัท หรือใส่ในสลัด ส้มตำ ยำ หรืออาหารจานผักก็อร่อย โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา สนับสนุนให้กินถั่วเปลือกแข็ง วันละ 1 กำมือ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
หนังสือ Powerful Plant-Based Superfoods : The Best Way to Eat for Maximum Health เสริมว่า ถั่วดาวอินคา 1 กำมือ (28 กรัม)
นอกจากมีไขมัน โปรตีน และสารอาหารต่าง ๆ สูง ยังมีใยอาหารมากถึง 5 กรัม ซึ่งคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน
นอกจากนี้น้ำมันดาวอินคายังมีกลิ่นหอมคล้ายถั่วและรสชาติดี แต่อาจมีข้อติอยู่บ้างตรงที่มีจุดเกิดควันต่ำ จึงไม่เหมาะสำหรับทอดหรือผัดด้วยไฟแรง หากฝืนใช้อาจเกิดสารก่อมะเร็งที่ทำลายสุขภาพ
ฉะนั้นน้ำมันดาวอินคา จึงเหมาะสำหรับผัดไฟอ่อนหรือปรุงอาหาร โดยไม่ผ่านความร้อน เช่น ผสมในน้ำสลัด โดยแนะนำให้ผสมน้ำมันดาวอินคากับน้ำมะนาวในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 พร้อมเกลือและพริกไทยเล็กน้อย ปรุงเป็นน้ำสลัด กินร่วมกับผักสดหลากชนิด
กินน้ำมันดาวอินคาแค่ไหนจึงปลอดภัย
งานวิจัยคอนเฟิร์ม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ให้ข้อมูลผลการศึกษาความเป็นพิษของน้ำมันดาวอินคาในหนูทดลอง พบว่า การให้หนูทดลองกินน้ำมันดาวอินคาปริมาณ 0.45 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ติดต่อกันนาน 6 เดือน ไม่พบความเป็นพิษต่อร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในคน ซึ่งพบว่า การใช้น้ำมันดาวอินคาปรุงอาหารติดต่อกันนาน 4 เดือน ไม่พบความเป็นพิษต่อร่างกาย โดยการศึกษาจาก Food and chemical toxicology : an international journal published for the British Industrial Biological Research Association ทดลองให้อาสาสมัครใช้น้ำมันดาวอินคาปรุงอาหารวันละ
10 – 15 มิลลิลิตร นาน 4 เดือน จากนั้นตรวจการทำงานของตับและไต เปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง
ผลปรากฏว่า น้ำมันดาวอินคาไม่มีผลเสียต่อการทำงานของตับและไต แต่กลับพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด (total cholesterol) ลดระดับคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอล (LDL-cholesterol) ช่วยลดความดันโลหิต แถมมีผลเพิ่มคอเลสเตอรอลด ชนิดเอชดีแอล (HDL-cholesterol) ซึ่งทำหน้าที่พาคอเลสเตอรอลร้ายไปกำจัดที่ตับอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม น้ำมันดาวอินคาก็คือน้ำมันชนิดหนึ่ง ซึ่ง 1 ช้อนชา ให้พลังงานสูงถึง 45 กิโลแคลอรี หากกินมากเกินไปโดยไม่ควบคุมปริมาณ อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทางที่ดีแนะนำให้ใช้น้ำมันดาวอินคา ปรุงอาหารทดแทนน้ำมันชนิดอื่นในบางมื้อแทนการกินเป็นอาหารเสริม
เรื่อง ธิษณา จรรยาชัยเลิศ (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
บ.ก.ขอตอบ : วิธีกิน ถั่วดาวอินคา ยอดฮิต เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ถั่วดาวอินคา แหล่งรวมโอเมก้า 3 และ 6
เที่ยวรอบเมืองด้วย รถราง ชิมอาหารท้องถิ่น และทำความรู้จักกับต้นดาวอินคา ณ ชุมชนบ้านถิ่น