เป็น เหน็บชา บ่อย อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร
หลายคนคงเคยเกิดอาการ “เหน็บชา” โดยเฉพาะตามปลายมือหรือเท้า มีอาการยุบยิบหรือคล้ายเข็มเล็กๆ ทิ่มจำนวนมาก ซึ่งอาการนี้โดยทั่วไปแล้วเกิดได้ทั้งจากการกดทับเส้นประสาทส่วนปลายช่วงแขน ข้อมือ เท้าหรือข้อเท้า เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือการขาดสารอาหารบางประเภทก็ได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ
โรคเหน็บชา เป็น ภาวะขาดวิตามินบี 1 เป็นโรคทางระบบประสาทอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยมักจะมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งอาการดังกล่าวแตกต่างจากอาการเหน็บชาที่พบทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่า โรคเหน็บชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้!
โรค เหน็บชา เกิดจากอะไร?
- ขาดวิตามินบี 1 หรือ ไธอามีน (Thiamine)
- สัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น เหน็บชาจากกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน เป็นต้น
อาการโรคเหน็บชาที่ควรรู้
เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เป็นเหน็บชา และทำให้มีอาการหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว และตับโต โดยอาการเหน็บชานี้อาจเป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นว่าร่างกายขาดวิตามิน หรือสัญญาณแรกของโรคเบาหวานได้เช่นกัน ซึ่งโรคเหน็บชา สามารถเกิดได้ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
โรคเหน็บชาในเด็ก (Infantile beriberi) พบได้บ่อยในทารกที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน มักพบได้ในทารกที่กินนมมารดาและมารดากินอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 หรืออดของแสลง ทั้ง ๆ ที่อาหารบางอย่างนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือมารดาเป็นโรคเหน็บชา ทารกมักถูกนำมาพบแพทย์ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น ซึม หน้าเขียว ตัวเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม ขาบวม หัวใจโต หัวใจเต้นเร็ว ร้องเสียงแหบหรือร้องไม่มีเสียง ในบางรายอาจมีอาการตากระตุก (Nystagmus) หนังตาบนตก ชัก หรือหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง
โรคเหน็บชาในผู้ใหญ่ (Adult beriberi) ในระยะเริ่มแรกหรือมีอาการขนาดอ่อน ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ รู้สึกชา ความจำเสื่อม แต่เมื่อตรวจร่างกายแล้วจะไม่พบสิ่งผิดปกติ ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกชาบริเวณปลายมือปลายเท้า อาจมีอาการปวดแสบและเสียวแปลบ ๆ ร่วมด้วย โดยมากจะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นตะคริว ปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อน่อง แขนขาไม่มีแรง และถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเป็นอัมพาตได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหล่ ตาเข เนื่องจากกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเป็นอัมพาต มีอาการเดินเซ (Ataxia) และมีความผิดปกติทางจิต ซึ่งอาจทำให้หมดสติจนเสียชีวิตได้ โรคเหน็บชาในผู้ใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
-Dry beriberi (โรคเหน็บชาชนิดผอมแห้ง) ผู้ป่วยจะมีอาการชาแบบไม่บวม มักเป็นการชาตามปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อแขนขาไม่มีกำลัง อาจทดสอบได้โดยให้ผู้ป่วยนั่งยอง ๆ แล้วลุกขึ้นเอง ซึ่งผู้ป่วยจะทำไม่ได้ (มีผลต่อระบบประสาทนอกส่วนกลาง
-Wet beriberi (โรคเหน็บชาชนิดเปียก) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมร่วมกับการชาปลายมือปลายเท้าแล้ว มีน้ำคั่งในช่องท้องและช่องปอด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจโตและเต้นเร็ว หัวใจอาจวายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียชีวิต (มีผลต่อระบบหัวใจ (Cardiovascular system) และระบบอื่นๆ ของร่างกาย) (Peripheral nervous system))
-Wernicke-Korsakoff syndrome พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยผู้ป่วยจะมีอาการทางสมอง 3 อย่าง คือ การเคลื่อนไหวของลูกตาทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เดินเซ และมีความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งพวกที่เป็นมากจะมีอาการทางจิตที่เรียกว่า Korsakoff’s psychosis
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเหน็บชา
ผู้ป่วยโรคเหน็บชาที่ร่างกายมีการขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ กระเพาะและลำไส้ได้ ซึ่งหากผู้ป่วยไม่รับการรักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะทางจิต (Psychosis)
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphalaxis)
กินอย่างไรห่างไกลเหน็บชา?
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ถั่ว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง มักมีอาการเหน็บชาร่วมด้วย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ ของหมักดอง เนื่องจากอาหารดังกล่าวขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี 1 ของร่างกาย
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายร่วมด้วย
ที่มา: รพ.ศิครินทร์