สมุนไพรหญ้า ยาดี บนดอยงาม บ้านสาแพะ เมืองลำปาง
สมุนไพรหญ้า
ช่วงใกล้รุ่ง การเดินเท้ามุ่งหน้าขึ้นสู่ ดอยฟ้างาม บ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ด้วยจังหวะการก้าวย่างอย่างสงบ พร้อมกับสูดลมหายใจเข้า…ออกอย่างช้า ๆ ไปตลอดเส้นทางราว 2 กิโลเมตร นับเป็นกิจกรรมยามเช้าที่ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง จิตใจเบิกบาน
ยิ่งใกล้ถึงยอดดอยเข้าไปทุกที แสงสีแดงระเรื่อจากดวงอาทิตย์ก็เปล่งประกายจับขอบฟ้า เผยให้เห็นธรรมชาติที่งดงามอย่างเต็มตา สายหมอกบางเบาล่องลอยเป็นระลอกซอกซอนไปตามขุนเขาเบื้องหน้า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลเกินไขว่คว้า แต่อยู่รอบตัวเรานี่เอง
อากาศบริสุทธิ์บนยอดดอยสามารถสูดได้อย่างเต็มปอด ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขหรือเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนจากธรรมชาติ สามารถบรรเทาอาการปวด คลายความเครียด ความกังวล ทำให้รู้สึกมีความสุขสดชื่น อิ่มอกอิ่มใจ และช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างดี
นอกจากนี้ระบบประสาทอัตโรมัติ พิราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ซึ่งจะทำงานตอนที่ร่างกายรู้สึกชิล สบาย ๆ และผ่อนคลาย ก็จะเริ่มทำงานทันทีโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ตลอดจนระบบสืบพันธุ์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สุนทรียภาพที่สวยงามของธรรมชาติ จึงให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสุขภาพของมนุษย์ทั้งใจและกาย รวมถึงเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และรายได้ที่สำคัญของชุมชนด้วย
คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง พ่อหลวงบ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เล่าว่า ทุกปีชาวบ้านจะช่วยกันทำแนวกันไฟป่า เพื่อลดปัญหาหมอกควัน พร้อมกับรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ทุกหลังคาเรือน ช่วยกันดูแลรักษาป่า ทำให้หลายปีที่ผ่านมาปัญหาอากาศพิษจากควัน ไฟป่าลดน้อยลง พืชอาหารและพืชสมุนไพรหลายชนิดฟื้นตัวขึ้น
“ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สมุนไพรจากหญ้า…ยาดีบนดอยงาม”
หญ้า…ยาพื้นบ้าน
หญ้าหอม
หญ้าหอมเป็นพืชท้องถิ่นตระกูลหญ้าชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วไป ในบริเวณป่าเขาของบ้านสาแพะ ตำบลบ้านสา โดยเฉพาะบริเวณ ดอยฟ้างาม แหล่งท่องเที่ยวและจุดชมวิวที่มีชื่อเสียงของชุมชน หญ้าหอมมีลักษณะคล้ายหญ้าคา แต่มีขนาดเล็กกว่า มีลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์
หญ้าหอมมี สรรพคณุ ในการขับปัสสาวะ แก้อาการนิ่ว บำรงุ ไต และแก้อาการหอบหืด คนในชุมชนได้นำหญ้าหอมมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม ซึ่งนำส่วนของราก ใบ และลำต้นมาใช้ในการทำชาหญ้าหอม โดยเลือกหญ้าหอมที่ขึ้นอยู่บริเวณยอดดอยฟ้างามในระดับความสูง 600 – 700 เมตรเหนือระดับทะเลมาใช้ เนื่องจากให้รสชาติและกลิ่นที่หอมเป็นพิเศษ
ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม…เด่นที่รสชาติ มากด้วยสรรพคุณ
สรรพคุณ มีรสหอมเย็น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงไต ขับปัสสาวะแก้อ่อนเพลีย
วิธีการทำ
- ใช้หญ้าหอมดอยฟ้างามทั้งต้น ล้างน้ำให้สะอาด
- หั่นเป็นท่อน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ตากแดดจนแห้งสนิท
- นำหญ้าหอมที่ตากแดดจนแห้งสนิทคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อน ๆ จนมี
กลิ่นหอม - นำมาชงดื่ม
หรือจะใช้หญ้าหอมดอยฟ้างามสด 1 กำมือ หั่นเป็นชิ้น ๆ ต้มในน้ำเดือด ดื่มเป็นน้ำชาได้ทันที
บนดอยฟ้างามยังพบหญ้าที่มีลักษณะคล้ายกับหญ้าหอมอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีแต่มักจะถูกมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นวัชพืชไร้ประโยชน์ นั่นคือ หญ้าคา ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในการดูแลสุขภาพเช่นเดียวกัน
หญ้าคา
หญ้าคาเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาว ทอดยาว งอกเป็นกอใหม่ได้มากมายหลายกอ ใบแตกจากลำต้นใต้ดิน ลักษณะแบน เรียวยาว ตอนแตกใบอ่อนใหม่ ๆ จะมีปลอกหุ้มแหลม แข็งที่ยอดงอกแทงขึ้นมาจากดิน ดอกออกเป็นช่อ ทรงกระบอก เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว มีเมล็ดหลุดร่วงปลิวไปตามลมแพร่พันธุ์ไปได้ไกล
หญ้าคามีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจ ทั้งส่วนราก ใบ และช่อดอก ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวชาวบ้านจะขุดเอารากและลำต้นใต้ดินล้างทำความสะอาดตากแห้งเก็บไว้ เพื่อใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาอาการเจ็บป่วยได้สารพัด
ลักษณะรากหญ้าคาแห้งที่ดีมีลักษณะเป็นเส้นกลม ๆ ยาว 30 – 60 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีสีขาวหรือสีเหลือง ขาว มีข้อสีน้ำตาลอ่อนนูนออกมา แต่ละข้อห่างกันประมาณ 3 เซนติเมตร
เนื้อเหนียว หักยาก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต้นที่อวบใหญ่สีขาว ไม่มีรากฝอย
รากหญ้าคาที่สมบูรณ์จะให้รสหวาน มีสรรพคุณทางยาที่ดี หมอยาพื้นบ้านแนะนำว่า ก่อนนำรากหญ้าคามาใช้ผสมยาจะนำรากแห้งมาเลือกสิ่งแปลกปลอมออก ล้างให้สะอาด พรมน้ำจนชุ่ม หั่นเป็นท่อน นำไปตากให้แห้ง แล้วร่อนเศษผงทิ้งอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นหมอยา จะนำรากไปชั่งเพื่อผสมยาตามสูตรต่อไป
รากหญ้าคามีรสชุ่มเย็นตามสรรพคุณ ยาโบราณนิยมใช้รากหญ้าคาต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงไต แก้ดีซ่าน อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หญ้าคาจึงเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายตำรับ
แก้อาการปัสสาวะขุ่นเป็นหนอง
รากหญ้าคาแห้ง 15 กรัม น้ำสะอาด 250 มิลลิลิตร ต้มเคี่ยวจนเหลือปริมาณน้ำ 50 มิลลิลิตร ให้ผู้ป่วยทยอยดื่ม
วันละ 3 – 5 ครั้งจนหมด จะช่วยแก้อาการปัสสาวะเป็นหนอง
แก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด มี 2 ตำรับ
ตำรับที่ 1
รากหญ้าคาสด 1 กำมือ น้ำสะอาด 1ถ้วยใหญ่ ต้มเคี่ยวจนเหลือปริมาณน้ำ 1 ถ้วยชา (หรือ 15 มิลลิลิตร) รินดื่ม
ตอนอุ่น ๆ
ตำรับที่ 2
รากหญ้าคาแห้ง 30 กรัม เมล็ดผักกาดน้ำ 30 กรัมน้ำตาลทราย 15 กรัม ต้มรวมกัน แล้วค่อย ๆ ดื่มจนหมด
แก้อาการปัสสาวะขัด ตัวบวมน้ำ
รากหญ้าคาสด 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก หั่นเป็นฝอย น้ำสะอาด 4 ถ้วย ต้มรวมกันให้เดือดนานประมาณ 10 นาที เมื่อเปิดดูถ้ารากยังไม่จมน้ำก็ให้ต้มต่อไปจนรากจมน้ำทั้งหมด จากนั้นกรองเอากากออกรินดื่มตอนอุ่น ๆ ครั้งละครึ่งถ้วย ในช่วเวลากลางวัน 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2 – 3 ครั้ง ต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง สังเกตว่าปัสสาวะจะถูกขับออกมากขึ้น เพราะในรากหญ้าคาอุดมไปด้วยโพแทสเซียมจำนวนมาก จึงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
รักษาอาการหอบ
รากหญ้าคาสด 1 กำมือ เปลือกต้นหม่อน 1 กำมือ น้ำสะอาด 2 ถ้วย ต้มเคี่ยวให้เหลือปริมาณน้ำครึ่งหนึ่ง นำมาดื่ม ช่วยรักษาอาการหอบ
แก้อาการช้ำในจากการตรากตรำทำงานหนัก
รากหญ้าคาสดและขิงสด อย่างละ 60 กรัม น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำสะอาด 2 ถ้วย ต้มรวมกันให้เหลือ 1 ถ้วย ใช้ดื่มวันละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าใบหญ้าคาเป็นยาใช้ภายนอกด้วย โดยนำมาต้มน้ำอาบ แก้อาการลมพิษและผื่นคัน
นานกว่า 3 ชั่วโมงที่นั่งล้อมวงจิบชาหญ้าหอมร่วมกับชาวบ้านบนดอยฟ้างาม พร้อมกับฟังเรื่องราวของพืชสมุนไพร และความจริงอันเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นบนดอยงามแห่งนี้ มันเป็นบทเรียนจากการทำลายธรรมชาติในอดีตของบ้านสาแพะ ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี ต้องเผชิญกับความโหดร้ายในยุคสัมปทานป่าและความทุกข์ยากจากความแห้งแล้ง
อย่างแสนสาหัส แต่ธรรมชาติก็พร้อมที่จะให้อภัยสำหรับผู้ที่กลับตัวกลับใจเสมอ
“ผมก็ถามชาวบ้านว่าเราจะทำอย่างไรให้ป่าเราฟื้นขึ้นมา ก็บอกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาสู้ เพื่อลูกหลานเรา เพื่อตัวเรา ช่วงนั้นปี 2555 เป็นช่วงที่วิกฤติมาก ต้องจ่ายน้ำประปาให้ชาวบ้านที่ดูดมาจากใต้ดินเป็นเวลา เพราะน้ำไม่พอ จึงตัดสินใจเริ่มทำฝายชะลอน้ำ ตอนแรกก็ไม่คิดหรอกว่าฝายจะช่วยอะไรเราได้มาก…จนปี 2558 – 2559 ประเทศไทยเจอปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ที่อื่นเจอปัญหาเรื่องภัยแล้ง เห็นรถวิ่งจ่ายน้ำให้ตามหมู่บ้าน แต่บ้านผมที่เคยแห้งแล้งที่สุดในตำบลกลับไม่ต้องขอความช่วยเหลือน้ำประปาที่เราเคยมีปัญหา ตอนนี้ก็สามารถใช้ทำการเกษตรได้ด้วย”
พ่อหลวงคงบุญโชติกล่าว
การบริหารจัดการน้ำในรูปแบบของการสร้างฝายซึ่งเชื่อมร้อยกับสระพวงที่ชาวบ้านเสียสละพื้นที่และช่วยกันขุดขึ้น จำนวน 9 สระ จึงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยกักเก็บน้ำที่ไหลรินจากลำห้วยสายเล็ก ๆ กลางป่าใหญ่ให้กลายเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ที่หล่อเลี้ยงชุมชนกว่าร้อยหลังคาเรือน
แหล่งน้ำจากผืนป่าที่สมบูรณ์ ได้ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ชุมชนมีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาปลูกข้าว ปลูกผักไว้กินตามฤดูกาล นอกจากนั้นน้ำยังเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญในการทำการเกษตรแบบประณีต ซึ่งเป็นรายได้หลัก โดยปลูกผักเพื่อขายเมล็ดพันธ์ุส่งให้กับบริษัทเอกชน เช่นมะระ แตง บวบ และฟักทอง
“เมื่อก่อนไม่มีทางเลือกต้องไปทำงานรับจ้าง ใครจ้างอะไรก็ไปหมด พอมีน้ำก็ลาออกจากงาน พลิกตัวเองมาทำในเรื่องของเกษตร เป็นเกษตรใช้พื้นที่น้อย ทำงานแบบครอบครัว ลดสารเคมี มีรายได้แน่นอน เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนได้ 2 – 3 หมื่นบาทต่อเดือน”
พ่อหลวงคงบุญโชติกล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนไม่เพียงลืมตาอ้าปากได้ เพราะมีน้ำจากป่าที่ใช้ทำการเกษตรเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่พบว่ามีสมุนไพรจากป่าบางตัวที่เคยใช้ดูแลสุขภาพเป็นยารักษาไข้หวัดและยาคลายเส้นก็กลับคืนมาเช่นกัน
โดยเฉพาะสมุนไพรที่เป็นเหง้าซึ่งซ่อนอยู่ใต้ดิน แม้จะโดนไฟไหม้ แต่พอป่าฟื้นมันก็งอกขึ้นใหม่
ที่สำคัญของกินจากป่า เช่น เห็ด หน่อ และผักป่าพื้นบ้านหลายชนิดก็มีมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งหมู่บ้านจึงมีรายได้ 2 แสนบาท จากการขายเห็ด ไข่มดแดง และแมงมัน
ป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงไม่เพียงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพรของชุมชนบ้านสาแพะเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปอดธรรมชาติสำหรับทุกคนด้วย
ฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสัญญาณว่าการเดินทางพิชิตดอยเพื่อตามหาสมุนไพร ณ ดอยฟ้างามสิ้นสุดลงแล้ว แต่เส้นทางสายสุขภาพจากตำรับยาดีบนดอยงามแห่งนี้จะยังคงทอดยาวต่อไป
ขอขอบคุณ สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I)
เรื่องและภาพ กนกกาญจน์ เอี่ยมสะอาด
ชีวจิต 4 9 2
///////// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ///// ////// ////// ///// ///// ///// ///// ///// ///// /////
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
ทุกวัยควรทราบ กินยังไง ป้องกันตาเสื่อม ง่าย ๆ ด้วยสมุนไพรและสารธรรมชาติ