เอรกปัตตนาคราช

ทำไม เอรกปัตตนาคราช จึงอยากทราบถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ?

ทำไม เอรกปัตตนาคราช จึงอยากทราบถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นคุณแก่โลกอย่างอเนกอนันต์ การมีโอกาสได้พบเจอกับพระองค์นับได้ว่าเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิต จึงมีไม่น้อยที่มักอธิษฐานขอให้ได้พบเจอพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต แม้กระทั่งพญานาคราชตนหนึ่งมีนามว่า ” เอรกปัตตนาคราช ” ก็เป็นอีกโอปาติกะที่อยากพบพระพุทธเจ้ามาก เป็นเพราะอะไร และทำไมพญานาคตนนี้ถึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าถึงเพียงนี้ ลองมาติดตามกันค่ะ

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธองค์แล้ว ทรงประกาศสัจธรรมที่ทรงค้นพบประทานต่อเวไนยสัตว์ทั้งหลาย มีพญานาคตนหนึ่งมีร่างใหญ่โตจนเต็มแม่น้ำคงคา หากขยับตัวทีสามารถทำให้เกิดคลื่น ชายฝั่งริมแม่น้ำสามารถพังทลายลงได้ พญานาคตนนี้มีนามว่า เอรกปัตตะ

พญานาคตนนี้รอคอยการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้ามานานหลายพุทธันดร จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดความคิดขึ้นว่า ทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนโลกแล้ว สุดท้ายเอรกปัตตนาคราชก็ใช้วิธีแต่งเพลงขึ้นมาบทหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อร้องว่า

“ผู้เป็นใหญ่อย่างไรจึงจะชื่อได้ว่าเป็นพระราชา พระราชาเปรียบเหมือนผงธุลีบนศีรษะได้อย่างไร และคนพาลขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากผงธุลีอย่างไร” 

พญานาคสอนให้พระธิดาขับร้องเพลงนี้จนสามารถจดจำเนื้อเพลงได้ จากนั้นพญานาคได้บอกอุบายแก่พระธิดาว่า “พ่อจะคืนร่างเป็นนาค (ตัวใหญ่) ขอให้ลูกขึ้นมาเต้นร่ายรำพร้อมกับขับร้องเพลงที่พ่อสอนนี้บนพังพานของพ่อเถิด” เมื่อพระธิดายินดีปฏิบัติตามที่พระบิดาขอร้องแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็พากันขึ้นไปเหนือผิวน้ำ และทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลานานถึงกึ่งเดือน (ครึ่งเดือน)

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยทิพยญาณว่าเอรกปัตตนาคราชต้องการพบพระองค์ จึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา ขณะนั้นเองในทิพยญาณที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังตรวจตราสรรพสัตว์อยู่นั้น ได้ปรากฏภาพของอุตตรมาณพขึ้นมา พระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่า มาณพผู้นี้สามารถสำเร็จเป็นพระโสดาบันได้ หากเขาได้ร้องเพลงแก้ที่พระองค์ทรงแต่ง เพื่อให้เอรกปัตตนาคราชได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนโลกนี้แล้ว

จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นซึก ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงพาราณสีนัก พระองค์ทรงได้ยินคำกล่าวขานของชาวเมืองพาราณสี ต่างถกกันเรื่องเพลงที่พระธิดาของพญานาคร้องนั้นหมายถึงอะไร อุตตรมาณพได้เดินผ่านมาในบริเวณที่ประทับของพระบรมศาสดาพอดี พระองค์ทรงเรียกชื่อของเขา “อุตตระ เธอโปรดมาหาเรา”

อุตตรมาณพเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระรัศมีอันเรืองรอง จึงเกิดความเลื่อมใสแล้วเข้าไปใกล้พระองค์ พร้อมทั้งกราบทำความเคารพต่อหน้าพระพักตร์

“อุตตระ เธอกำลังเดินทางไปที่ใดหรือ” 

“ข้าพเจ้ากำลังไปยังที่ธิดาพญานาคร้องเพลงพระเจ้าข้า”

“เธอรู้หรือไม่ว่า ธิดาพญานาคร้องเพลงว่าอย่างไร”

“ทราบพระเจ้าข้า”

“เพลงที่นางขับร้อง หาใช้เนื้อเพลงที่ถูกต้องไหม เธอจงเรียนเพลงแก้ที่มีเนื้อเพลงที่ถูกต้องจากเราเถิด”

อุตตรมาณพน้อมรับ พระบรมศาสดาตรัสเนื้อเพลงแก้ว่า “ผู้เป็นใหญ่ในทวารทั้ง 6 ชื่อได้ว่าเป็นพระราชา พระราชาผู้มีกำหนัด (ความอยาก) เปรียบเหมือนผงธุลีบนศีรษะ ผู้ไม่มีความกำหนัดย่อมหมายถึงปราศจากแล้วซึ่งผงธุลีบนศีรษะ และคนพาลขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีความกำหนัด หากธิดาพญานาคร้องเพลงต่อว่า คนพาลแบบใดที่จะพัดพาไป แล้วบัณฑิตจะบรรเทาอะไร และอะไรคือความเกษมจากการปฏิบัติตนอย่างสุดโต่ง (โยคะ) ขอให้เธอขับเพลงตอบนางไปว่า คนพาลย่อมพัดพาไปในโอฆะ (กิเลสเป็นดุจห้วงน้ำ) บัณฑิตย่อมบรรเทาโอฆะนั้นด้วยความเพียร บัณฑิตย่อมไม่ปฏิบัติตนอย่างสุดโต่ง ” 

ขณะที่อุตตรมาณพกำลังจดจำเนื้อร้องอยู่นั้น เขาได้ทำความเข้าใจและบรรลุเป็นพระโสดาบัน หากพิจารณาเนื้อร้องเพลงแก้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเห็นว่า พระองค์ทรงสอดแทรกเรื่องโอฆะ ซึ่งหมายถึง “น้ำที่ท่วมใจสัตว์ หรือ “ห้วงน้ำที่พาสัตว์ให้จมลงไปไม่สามารถพ้นจากสังสารวัฏได้” ในพระพุทธศาสนามักอุปมากิเลสและสังสารวัฏว่าเป็นห้วงน้ำ

ส่วนคำว่า “โยคะ” ในเนื้อเพลงที่พระบรมศาสดาทรงแต่งนั้น หมายถึง แนวทางการปฏิบัติของเหล่าโยคี หรือ ฤาษี ซึ่งในสมัยพุทธกาลนิยมปฏิบัติเพื่อไปสู่ความหลุดพ้นด้วยการทรมานตน และผู้ปฏิบัติมักมีความคาดหวังว่าหากปฏิบัติเยี่ยงฤาษีอย่างสุดโต่ง เขาจะได้ไปเกิดบนพรหมโลก ผิดกับหนทางแห่งความหลุดพ้นที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นหนทางที่ต้องอาศัยความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)

อุตตรมาณพทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเข้าไปในกลุ่มชนที่กำลังเกาะกลุ่มชมการแสดงร่ายรำของธิดาพญานาค มาณพประกาศตนว่า เขาจะเป็นผู้ร้องเพลงแก้บทเพลงของธิดาพญานาคเอง ทั้งสองฝ่ายต่างร้องเพลงโต้ตอบกันจนจบ เอรกปัตตนาคราชถึงกับโสมนัสขยับตัวไปมา ด้วยร่างของนาคที่ใหญ่โตเท่าลำน้ำ ทำให้ริมตลิ่งพังทลายจมสู่แม่น้ำ มีคนจำนวนหนึ่งจมลงไปในแม่น้ำคงคา แต่ท่าพญานาคตนนี้ก็สามารถงมผู้คนขึ้นมาจากน้ำได้ทุกคน

เอรกปัตตนาคราชกลายร่างเป็นมนุษย์ที่มีรูปลักษณ์ที่งดงามดุจเทวดา เข้าไปหาอุตตรมาณพพร้อมกับพระธิดาและกล่าวว่า “ท่านผู้ประเสริฐ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าอุบัติขึ้นบนโลกแล้ว ใช่หรือไม่ ถ้าใช่โปรดเมตตาพาเราไปเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยเถิด”

อุตตรมาณพจึงพาพญานาคไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังที่ประทับ เมื่อพญานาคราชได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความปีติทำให้กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ พญานาคเข้าไปกราบที่พระบาทพร้อมทั้งกล่าวด้วยน้ำเสียงอันสั่นเทาว่า

“ข้าพเจ้าเกิดเป็นอเหตุกสัตว์ (สัตว์ที่ไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้) ข้าพเจ้าต้องประสบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ยากถึง 3 ประการ คือ หนึ่ง ความเป็นมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้ สอง โอกาสได้ฟังพระสัทธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ และสาม การรับทราบถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถทราบได้”

พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากตามที่ท่านว่า ไม่ได้มีแค่ท่านเพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้แต่คนอื่นก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นกับเขาเช่นกัน เพราะการเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยาก การได้ฟังพระสัทธรรมจากเราก็เป็นสิ่งที่ยาก การได้ทราบการอุบัติขึ้นของเราก็เป็นสิ่งที่ยาก”

พระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยาก พระองค์ทรงอุปมาเหมือนชายผู้หนึ่งที่ต้องโยนห่วงให้ถูกเต่าตาบอดที่นานครั้งจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ทำไมพระองค์ทรงเปรียบเปรยเช่นนั้น เพราะชายผู้นี้ก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเต่าตาบอดจะโผล่ขึ้นมาจากเหนือน้ำตรงไหนของแม่น้ำ และเต่าตาบอดเองก็ไม่สามารถมองเห็นห่วงที่ชายผู้นั้นโยนอีกด้วย จึงยากมากที่มันจะรับห่วงให้ลงคอของมัน ผู้ที่จะได้ทราบถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (น่าจะหมายถึงผู้ที่ได้พบพระพุทธเจ้าด้วย) และฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องที่ยาก หากคนนั้นไม่ได้อธิษฐานหรือสร้างกุศลร่วมกับพระโพธิสัตว์มาเมื่อในอดีตชาติ จะสังเกตได้ว่า พระอริยบุคคลในสมัยพุทธกาลล้วนเคยเกิดร่วมชาติเดียวกับพระพุทธเจ้ามาก่อน และยังสร้างบุญกุศลร่วมกับพระพุทธเจ้ามาอีกด้วย

สุดท้ายแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเมตตาเห็นถึงความมุ่งมั่นที่อยากจะฟังธรรมของพญานาค พระองค์จึงทรงแสดงธรรมแด่พญานาคราชตนนี้ แต่ด้วยสภาวะที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงทำให้พญานาคราชตนนี้ไม่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ แต่กลับกลายเป็นบุญกุศลที่ส่งผลให้ชาติถัดไปของเอรกปัตตนาคราชจะได้เกิดเป็นมนุษย์ และพ้นจากนิสัยของนาค เช่น จะไม่เกิดอารมณ์ร่วมรักกับนางนาคตนอื่น จะไม่ลอกคาบเหมือนนาคทั่วไป จะไม่มีจิตลงสู่ความง่วงหรือหลับไหลอีก และไม่ต้องกลับมาสู่นาคพิภพอีกต่อไป

ยินดีกับเอรกปัตตนาคราชที่ในชาติต่อไปจะได้เกิดเป็นมนุษย์จะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลตามที่ตั้งใจไว้ พญานาคราชตนนี้เดิมทีเคยเกิดเป็นมนุษย์ และมีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า แต่ได้พลาดทำอาบัติคือ ระหว่างที่ท่านกำลังขึ้นเรือเพื่อข้ามแม่น้ำ ได้จับตะไคร้น้ำไว้แม้เรือจะแล่นไปแล้วก็ไม่ยอมเปล่า ซึ่งพระวินัยระบุไว้ว่า ห้ามพระภิกษุพรากของเขียว หมายถึงห้ามทำลายพืช พระภิกษุรูปนี้ก็ไม่ทราบว่าตนอาบัติ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตดันไประลึกถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น จึงทำให้จิตเศร้าหมอง เมื่อสิ้นลมก็ไม่ได้สู่สุคติภูมิ คือเกิดเป็นมนุษย์และเทวดา แต่กลับมุ่งไปเกิดเป็นพญานาคราชในแม่น้ำคงคาแทน

 

ที่มา : อรรถกถา คาถาธรรมบท เรื่องเอรกปัตตนาคราช 

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

 ละครพญานาค : เมื่อ พญานาคในพระพุทธศาสนา มีชีวิตอยู่บน จอแก้ว

พญานาคอยากเป็นมนุษย์

พญานาคในทรรศนะของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พญานาคปากพล่อย นิทานธรรมะ เตือนใจ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน

ความลับของนาคราช

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.