วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

4 พุทธวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

4 พุทธ วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมครูแห่งมนุษย์และเทวดา พระองค์ทรงสอนให้เวไนยสัตว์ไปสู่ความหลุดพ้น เป็นครูผู้สมควรได้รับการยกย่อง  พระองค์ทรงสอนให้ผู้อื่นบรรลุธรรมหรือเข้าใจในธรรมะ ลองมาดูกันดีกว่าว่า วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอย่างไร สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการสอนอื่น ๆ ได้หรือไม่

 

1) แบบสากัจฉา หรือสนทนา

วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้บ่อยไม่น้อยกว่าวิธีใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้มาเฝ้าหรือทรงพบนั้น ยังไม่ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักธรรม ในการสนทนา พระพุทธเจ้ามักจะทรงเป็นฝ่ายถามนำคู่สนทนาเข้าสู่ความเข้าใจธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาในที่สุด แม้ในหมู่พระสาวกพระองค์ก็ทรงใช้วิธีนี้ไม่น้อย และทรงส่งเสริมให้สาวกสนทนาธรรมกัน อย่างในมงคลสูตรว่ากาเล ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอันอุดม

 

2) แบบบรรยาย

วิธีสอนแบบนี้ น่าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชน หรือพระสงฆ์จำนวนมากและส่วนมากเป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ความเข้าใจกับมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว มาฟังเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม และหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าเป็นคนประเภท และระดับใกล้เคียงกันพอจะใช้วิธีบรรยายอันเป็นแบบกว้างๆได้ ลักษณะพิเศษของพุทธวิธีสอนแบบนี้ที่พบในคัมภีร์บอกว่า ทุกคนที่ฟังพระองค์แสดงธรรมอยู่ในที่ประชุมนั้น แต่ละคนรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าตรัสอยู่กับตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า

 

3) แบบตอบปัญหา

ผู้ที่มาถามปัญหานั้น นอกจากผู้ที่มีความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่างๆแล้ว โดยมากเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการรู้คำสอนทางฝ่ายพระพุทธศาสนาหรือเทียบเคียงกับคำสอนในลัทธิของตน บ้างก็มาถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็เตรียมมาถามเพื่อข่มปราบให้จน หรือให้ได้รับความอับอาย ในการตอบพระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหาและใช้วิธีตอบให้เหมาะสม ในสังคีติสูตร ท่านแยกประเภทปัญหาไว้ตาม ลักษณะวิธีตอบเป็น 4 อย่าง คือ

  1. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงตอบตรงไปตรงมาตายตัว พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างเช่น ถามว่า จักษุเป็นอนิจจังหรือ พึงตอบตรงไปได้ทีเดียวว่า ถูกแล้ว
  2. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงแก้ ท่านยกตัวอย่างเช่นเขาถามว่าโสตะก็เหมือนจักษุหรือ พึงย้อนถามก่อนว่า ที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นเครื่องมองเห็น พึงตอบว่า ไม่เหมือน ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นอนิจจัง จึงควรตอบรับว่า เหมือน
  3. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องแยกความตอบ เช่น เมื่อเขาถามว่า สิ่งที่เป็นอนิจัง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงแยกความออกตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น ถึงโสตะ ฆานะ ก็เป็นอนิจจัง
  4. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้งเสีย ได้แก่ ปัญหาที่ถามนอกเรื่อง ไร้ประโยชน์ อันจักเป็นเหตุให้เขา ยึดเยื้อ สิ้งเปลืองเวลาเปล่า พึงยับยั้งเสีย แล้วชักนำผู้ถามเข้าสู่แนวเรื่องที่ประสงค์ต่อไป

 

4) แบบวางกฎข้อบังคับ

เมื่อเกิดเรื่องมีภิกษุกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นครั้งแรก พระสงฆ์หรือประชาชนเล่าลือโพนทะนาติเตียนกันอยู่ มีผู้นำความมากราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์ก็จะทรงเรียกประชุมสงฆ์ สอบถามพระภิกษุผู้กระทำความผิดเมื่อเจ้าตัวรับได้ความเป็นสัตย์จริงแล้ว ก็จะทรงตำหนิ ชี้แจงผลเสียหายที่เกิดแก่ส่วนรวม พรรณนาผลร้ายของความประพฤติไม่ดี และคุณประโยชน์ของความประพฤติที่ดีงาม แล้วทรงแสดงธรรมกถาที่สมควรเหมาะสมกัน กับเรื่องนั้น จากนั้นจะตรัสให้สงฆ์ทราบว่า จะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ในการบัญญัติให้ทราบ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆไว้ โดยความเห็นชอบพร้อมกันของสงฆ์ ในท่านกลางสงฆ์ และโดยความรับทราบร่วมกันของสงฆ์

ในการสอนแบบนี้ พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทโดยความเห็นชอบของสงฆ์ ซึ่งบาลีใช้คำว่า สงฺฆสุฏฺฐุตาย แปลว่า เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ท่านอธิบายความหมายว่าทรงบัญญัติโดยชี้แจงให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่รับจะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อรับจะมีผลดีอย่างไร จนสงฆ์รับคำของพระองค์ว่า ดีแล้ว ไม่ทรงบังคับเอาโดยพลการ

 

ที่มา : พุทธวิธีในการสอน โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต

ภาพ : https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

เมื่อไม่อยากผิดพลาดซ้ำ จงใช้ความผิดเป็น “ครู”

ถอดรหัส สติปัฏฐาน4 จากคำสอนที่ครูบาอาจารย์ฝากไว้

บนเส้นทางธรรมไม่มีทางลัด ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล

คุณลักษณะของ ครูที่ดี ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.