การบริหารเงิน และสิ่งที่ควรวางแผนการเงินให้เหมาะสมตามวัย

การบริหารเงิน และสิ่งที่ควรวางแผนการเงินให้เหมาะสมตามวัย

การบริหารเงิน ในแต่ละวัยแตกต่างกัน เนื่องจากเหตุการณ์และสถานการณ์ในชีวิตที่ต้องพบเจอต่างกัน ดังนั้นเป้าหมายของในแต่ละช่วงวัยจึงแตกต่างตามไปด้วย ไม่ว่าจะวัยไหนก็ควรวางแผนการเงิน และเตรียมตัวรับมือกับความมั่นคงของการเงินของตัวเองในแต่ละวัย เพื่อหาแนวทางในการบริหารเงินในแต่ละช่วงอายุของตนเองอย่างเหมาะสม วันนี้ Goodlife จึงหยิบ การบริหารเงิน ให้เหมาะสมตามวัยมาฝากกันค่ะ

 

วัยแห่งการเรียนรู้ (ช่วงอายุ 0 – 21 ปี)

การบริหารเงิน

วัยนี้เป็นวัยแห่งการอยู่โรงเรียน เรียนรู้วิชาต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนก้าวเข้าสู่วัยเริ่มทำงาน รายได้หลักของวัยนี้มาจากรายได้ของพ่อแม่ ซึ่งวัยนี้มีส่วนน้อยมากที่จะลงมือหารายได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากยังเรียนหนังสืออยู่ ภาระค่าใช้จ่ายยังไม่มีให้รับผิดชอบมากนัก พฤติกรรมการใช้จ่ายของวัยนี้จะหมดไปกับการกิน ซื้อเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำ:
– ฝึกลงทุนด้วยการฝากเงินออมทรัพย์ หรือฝากประจำ เพิ่มผลตอบแทนด้วยดอกเบี้ย
– หารายได้เสริม เพิ่มเงินเก็บ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากพ่อแม่
– ข้อสำคัญ หมั่นออมเงิน รักษาวินัยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

 

วัยเริ่มทำงาน (ช่วงอายุ 22-35 ปี)

การบริหารเงิน

เป็นช่วงวัยอายุที่ยังน้อย มีระยะเวลาลงทุนได้นานจึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ควรเน้นในเรื่องของการออม เพราะเมื่อเริ่มมีรายได้ จะเริ่มมีการซื้อของตอบสนองความอยากเพื่อส่งเสริมไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น วัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดอนาคตในภายภาคหน้าของเราได้ จึงควรแบ่งสัดส่วนของเงินให้ดี และควรเริ่มตั้งเป้าหมายสิ่งที่ต้องทำต่อไป เพื่อหากลวิธีที่จะสร้างตัวเองให้มั่นคง

สิ่งที่ควรทำ:
– บริหารรายได้ กับรายจ่ายให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต
– ขยันออมเงิน ออมเงินให้ได้ในระยะยาว
– นำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนที่งอกเงย
– หมั่นหาความรู้เรื่องการลงทุน
– หารายได้เสริมเพิ่มเติมได้ก็เป็นเรื่องดี

 

วัยสร้างครอบครัว (ช่วงอายุ 36-45 ปี)

การบริหารเงิน

วัยนี้เริ่มมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เริ่มมีหนี้ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นวัยที่สถานการณ์ชีวิตเริ่มมีความก้าวหน้าทางสายอาชีพ และเริ่มสร้างครอบครัว ดังนั้นวัยนี้โอกาสในการมีภาระหนี้สินระยะยาวจะเพิ่มมากขึ้น ควรมีการหาทางออก และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยค่ะ และควรวางแผนสำหรับปกป้องความเสี่ยง เช่น ประกันภัยหรือประกันชีวิตมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำ:
– วางแผนสำหรับเงินที่รองรับค่าใช้จ่ายของลูกตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงเรียนจบ
– เร่งหาวิธีจัดการกับภาระหนี้สินให้หมดสิ้นก่อนเกษียณ
– ให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
– รายได้เพิ่มขึ้น ต้องมีการวางแผนภาษี
– เริ่มต้นออมเงินสำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณได้แล้ว

 

วัยเตรียมเกษียณ (ช่วงอายุ 46-60ปี)

วัยเตรียมเกษียณ

เป็นช่วงที่เราจะเริ่มรู้แล้วว่าเงินที่จะใช้หลังเกษียณมีเพียงพอรึป่าว หนี้สินต่างๆ ควรวางแผนชำระให้หมดก่อนเกษียณ หากก่อนหน้านี้มีการวางแผนการใช้ชีวิต การใช้เงินมาดี เรื่องความมั่นคงทางการเงินก็ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีรายได้ที่สูงขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการเงินก็ลดลง

สิ่งที่ควรทำ:
– เร่งเคลียร์ภาระหนี้สินให้หมดสิ้น
– ระยะเวลาในการรับรายได้น้อยลง ควรรีบวางแผนให้อยู่อย่างสบายยามเกษียณ
– ลงทุนต่อไป แต่ลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เลี่ยงการขาดทุน

 

วัยหลังเกษียณ (ช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)

วัยหลังเกษียณ
ต้องวางแผนการใช้เงินก้อนสุดท้าย เพราะรายได้ที่จะได้รับเป็นประจำขาดหายไป จึงต้องไปอาศัยเงินบำเหน็จ บำนาญ เงินออมที่สะสมมา ด้วยอายุที่มากขึ้นก้าวขึ้นเป็นผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มลดลง ส่วนใหญ่ที่เสียไปจะเป็นพวกค่ารักสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไป และการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยมานาน

สิ่งที่ควรทำ:
– ยังหารายได้จากการลงทุนได้ แต่เลือกที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้
– วางแผนมรดกไว้สำหรับลูกหลานเป็นเรื่องดี
– เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย หยุดสร้างหนี้เพิ่ม

หากใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกว่ายังไม่ได้เริ่มบริหารการเงินตามนี้เลย มาเริ่มต้นกันใหม่ตั้งแต่วันนี้กันดีกว่าค่ะ เมื่อไหร่ที่เรารู้สถานะทางการเงินของตัวเองแล้ว หากมีปัญหาให้รีบหาแนวทางแก้ไข รู้ตัวแล้ววางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เตรียมรับมือให้เหมาะสมทุกช่วงวัย ความมั่นคงไม่ห่างไกลแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ , wealthy thai

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

เที่ยวระนอง กับ 11 สถานที่จุดเช็คอินสุดชิว กิน ฟิน สุดแฮปปี้  

แนวคิด การออมเงิน ของ สตีฟ จอบส์ เก็บเงินยังไงให้ติดทำเนียบมหาเศรษฐีระดับโลก ถึงแม้จะไม่ได้จบมหาวิทยาลัย

มัดรวมรหัสลับ Netflix การ์ตูน หนัง ซีรีส์ มีให้เลือกดูจนตาแฉะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.