เครียดสะสม หยุดได้ถ้าเริ่มแก้ปัญหาทีละนิด
เครียดสะสม เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนเผชิญอยู่ วันนี้เราก็มีเทคนิคค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้ เพื่อคลายความเครียดในแบบของ คุณพศิน อินทวงค์ มาฝากค่ะ
ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้ ค่อย ๆ ดีขึ้น ปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิตคนเราเป็นปัญหาในลักษณะสะสม ไม่สามารถแก้ได้ทันที จำเป็นต้องใช้เวลาค่อย ๆ แก้ไข คล้ายว่าเรามีบ้านหลังหนึ่งที่อาศัยมานาน เราใช้ประโยชน์จากมัน แต่ไม่ค่อยบำรุงรักษา
หลายอย่างเคยดีก็ค่อย ๆ เก่า ค่อย ๆ พังไปทีละเล็กละน้อย ในวันที่ยังพังไม่มาก เราก็ไม่ซ่อม รู้สึกชะล่าใจ คิดว่าคงไม่เป็นไร อาจเป็นเพราะชีวิตมีเรื่องให้ทำตลอดเวลา เราจึงปล่อยให้ปัญหาคงอยู่อย่างนั้น ถึงจุดหนึ่ง… ปัญหาเล็ก ๆ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ กลายเป็นของซ่อมยาก หรือไม่ก็พังไปเลย
การทำให้ชีวิตดีขึ้น…
ก็เหมือนการรึโนเวตบ้านเก่าทั้งหลังให้น่าอยู่ เราต้อง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวม คือทำทั้งหลัง คิดทั้งระบบ ไม่ใช่จะทำเพียงห้องใดห้องหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่ง ชีวิตคนเรามีความสัมพันธ์กับคนหลายคน ข้องเกี่ยวกับเรื่องหลายเรื่อง สมมุติว่าตัวเราเป็นคนคิดมาก
เริ่มจากตรงนี้ ดูผ่าน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่ความเป็นคนคิดมากนี้เองที่เป็นเหตุให้เรากลายเป็นคนไม่มั่นคง หมดกำลังใจง่าย
เมื่อเป็นแบบนี้…
โอกาสที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดี มันก็เป็นไปได้ยาก ทีนี้พอมีความสัมพันธ์ไม่ดี ความสุขก็ลดลง คนมีความทุกข์มาก ๆ ให้มาคิดเรื่องการงาน คิดเรื่องทำมาหากิน มันก็คิดไม่ออก พอคิดเรื่องทำมาหากินไม่ออก ฐานะการเงินก็ไม่ดี ก็เป็นเหตุให้เครียดเพิ่มขึ้นอีก แล้วพอเครียดก็พานให้อารมณ์เสียใส่ครอบครัว ความเครียดก็ยิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี ปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิตก็ตามมา

เห็นได้ว่าชีวิตคนเรานั้น…
ไม่ได้แยกออกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจนเลย ปัญหาหนึ่งย่อมกระทบถึงปัญหาหนึ่ง ทุกมิติของชีวิตเกี่ยวเนื่องกันไปตลอดทั้งสาย การแก้ไขปรับปรุงชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ต้องรู้จักรักษาวินัย ให้กำลังใจตัวเอง ค่อย ๆ แก้ไขด้วยความเข้าใจ ด้วยสติปัญญา จะใจร้อน ไม่ได้…
จะทำวันนี้เอาพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ ต้องรู้จักอดทน รอคอย สำคัญที่สุดเหนืออื่นใด เราจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่า ตัวเราเองคือผู้มีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ชีวิตของเราก้าวเดินมาถึงวันนี้
ถ้าภาพรวมชีวิตของเราดี นั่นแปลว่าที่ผ่านมาเรามีความประพฤติปฏิบัติที่ดี แต่หากภาพรวมชีวิตของเรามีปัญหา ก็มีความเป็นไปได้ว่าที่ผ่านมาเราอาจดำเนินชีวิตมาแบบขาดตกบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การยอมรับความผิดของตัวเองเป็นขั้นตอนที่ทำได้ยากที่สุดขั้นตอนหนึ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คนเรามักโทษคนอื่น โทษครอบครัว โทษเพื่อนฝูง โทษสังคม โทษคนรอบข้าง โทษอดีต เรามักโทษทุกอย่าง ไม่กล้ายอมรับความจริง ไม่ค่อยย้อนกลับเข้ามามองตนเอง
และการที่เรา…
ไม่เคยย้อนกลับมามองตนเองนี่แหละ ที่ทำให้ปัญหาเล็ก ๆ เกิดการขยายตัวอย่างช้า ๆ จนกลายเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ ทำให้บ้านแห่งชีวิตของเราไม่น่าอยู่ ร้ายที่สุดคือแทบจะเป็นบ้านร้าง เสียหายแทบทุกจุด ผุพังแทบทั้งหลัง อย่างไรก็ดี ชีวิตคือบ้าน และเราเองก็ต้องอยู่บ้านหลังนี้ไปอีกพักใหญ่ ทำบ้านให้น่าอยู่ ทำชีวิตให้ดีขึ้น เดินดูรอบบ้าน สังเกตรอบ ๆ ชีวิต ครอบครัว การงาน การเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ จิตใจ เพื่อนฝูง คำพูด การกระทำ วิธีคิด การแสดงออก ทักษะ อาชีพ ความขยันขันแข็ง
ความรู้ภายใน ความรู้ภายนอก มีอะไรบ้างที่เราต้องแก้ไข ปรับปรุง แก้อะไร ยังไง วิธีไหน เมื่อไหร่ ทุกอย่างต้องวางแผน ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำด้วยความสุข ด้วยความรักและหวังดีต่อตนเอง ทำให้กลายเป็นนิสัย เป็นตัวเป็นตน เป็นแสงส่องสว่าง เป็นภาพรวมของชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่ที่ก่อร่างสร้างสรรค์จากชีวิตเก่า แม้เราใช้ชีวิตมานานมากแล้ว แต่ทุกอย่างยังไม่สายเกินไป มีอะไรหลายอย่างที่เสียไปแล้ว เราก็ปล่อยวาง มีอะไรหลายอย่างรอสร้างใหม่ และมีอะไรหลายอย่างที่ดูเหมือนใกล้พังเต็มที แต่ถ้าตั้งใจซ่อมจริง ๆ ก็ยังซ่อมได้ อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ ทั้งนั้น…
แต่เราต้องเริ่ม เราต้องขยับ… ลุกขึ้นและลงมือทำตั้งแต่วันนี้!
บทความอื่นที่น่าสนใจ
10 วิธี ดูแลจิตใจ เจอหนักแค่ไหนก็เอาอยู่
โอ๊ย! เครียด โรคกระเพาะหรือมะเร็ง กันแน่
“ความเครียด” ภัยเงียบ กระตุ้นเบาหวาน
ติดตามชีวจิตได้ที่