ดูแลลิ้นของเรา และโรคที่ควรรู้เมื่อ “ลิ้นอักเสบ”
ลิ้นอักเสบ ได้แก่ โรคซึ่งทำให้เนื้อเยื่อลิ้นเกิดการระคายเคือง บาดเจ็บ จึงบวม แดง และเจ็บ บางครั้งอาจมีแผลหรือมีไข้ร่วมด้วยได้ เป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
สาเหตุ
โรคลิ้นอักเสบเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา และไม่ใช่จากการติดเชื้อ ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่
- กัดลิ้นตนเอง
- ฟันเกหรือฟันบิ่นเกิดเป็นคมครูดลิ้น
- กินอาหารร้อนจัด เย็นจัด หรือรสจัด
- โรคแผลร้อนใน
- แพ้ยาหรือแพ้อาหาร
- สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสารพิษจากทั้งสองสิ่งก่อการระคายเคืองและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อลิ้น
- โรคปาก คอแห้ง ส่งผลให้แบทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตได้ดี จึงก่อโรคได้ง่ายจากเศษอาหารที่ติดบนลิ้น
- โรคขาดอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ
- แพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก
- เจาะริมฝีปาก (วัสดุเครื่องประดับมักก่อการระคายเคืองต่อลิ้นด้วยเสมอ)
- เจาะลิ้นโดยตรงเพื่อใส่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม
- โรคมะเร็งลิ้น
อาการ
อาการของลิ้นอักเสบอาจเกิดพร้อมกับการอักเสบของเนื้อเยื่ออื่นๆ ของช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้มและเหงือก หรือเกิดการอักเสบเฉพาะลิ้นเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุ โดยเกิดได้ทั้งการอักเสบเฉียบพลัน หรือการอักเสบเรื้อรัง
อาการของลิ้นอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่
- ลิ้นบวม เจ็บ ทำให้พูดไม่ชัด และกินอาหารไม่ได้เพราะเจ็บ โดยลิ้นอาจมีสีแดงคล้ำ สีซีด สีขาว หรือมีสีต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
- ลิ้นมักดูลื่น เรียบ ไม่เห็นเป็นตุ่มรับรสเหมือนปกติ เนื่องจากอาการบวม จึงบดบังปุ่มเนื้อเหล่านั้น
- อาจมีแผลเปื่อยหรือแผลแตก ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
- มีกลิ่นปาก
- อาจมีไข้เมื่อเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน รุนแรง ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นอักเสบได้จากประวัติอาการ การตรวจช่องปากและลิ้น และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากแผลเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็ง
แนวทางการรักษา
การรักษาโรคลิ้นอักเสบ คือ รักษาสาเหตุ และรักษาประคับประคองตามอาการ
- รักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟัน เมื่อการอักเสบเกิดจากการแพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน
- รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้บรรเทาอาการเจ็บปวด อาจโดยการกิน หรืออมยาชา ให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสาย ให้อาหารหรือทางหลอดเลือดดำ เมื่อกินอาหารและดื่มน้ำได้น้อยจากอาการเจ็บ
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงจากโรคลิ้นอักเสบที่อาจพบได้ ได้แก่ เสียงพูดผิดปกติ ผอมลงเนื่องจากกินอาหารไม่ได้ และเมื่อลิ้นอักเสบบวมมากจะอุดทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาจต้องรักษาด้วยการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ
ความรุนแรงของโรค
โดยทั่วไป โรคลิ้นอักเสบเป็นโรคไม่รุนแรง ยกเว้นเมื่อมีการอักเสบลิ้นบวมมากจนอุดทางเดินหายใจดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
- ดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และเพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อสู่ผู้อื่นเมื่อเป็นการอักเสบติดเชื้อ
- ดื่มน้ำ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
- กินอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว รสจืด
- เลิกบุหรี่และสุรา
- เปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟันบ่อยๆ ถ้าสาเหตุมาจากยาสีฟัน
- พบแพทย์หรือทันตแพทย์ตามนัดเสมอ หรือก่อนนัดหากมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่างๆ แย่ลง
- เมื่อลิ้นอักเสบ ควรรีบพบแพทย์เมื่อ
- มีไข้
- เจ็บลิ้นมาก
- กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย
- อาการต่างๆ ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังดูแลตนเองแล้ว 2-3 วัน
- ลิ้นมีแผลเรื้อรัง หรือมีก้อนเนื้อ เพราะอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- มีกลิ่นปากรุนแรง
- อ้าปากได้น้อย อ้าปากไม่ได้
- เมื่อมีความกังวลกับอาการ
- ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อ
- หายใจขัด หายใจไม่ออก มีอาการเขียวคล้ำเนื่องจากลิ้นบวมมาก และอุดกั้นทางเดินหายใจ ร่างกายจึงขาดอากาศ ขาดออกซิเจน
การป้องกัน
- ดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มผักและผลไม้มากๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เลิกบุหรี่และสุรา
- ไม่เจาะลิ้น ไม่เจาะริมฝีปาก
- สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างยาสีฟันกับอาการ เพื่อหลีกเลี่ยงยี่ห้อที่ก่ออาการแพ้
- รักษาและควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ
- พบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
อาการที่พบบ่อยของลิ้น
อาการเจ็บลิ้น
สาเหตุของการเจ็บลิ้น ที่พบบ่อย ได้แก่
- ลิ้นมีแผลจากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลจากการกัดลิ้น ฟันบางซี่คมหรือแตกจึงครูดลิ้น และแผลร้อนใน
- ลิ้นอักเสบจากการกินอาหารและเครื่องดื่มรสจัด หรือร้อนหรือเย็นจัด
- ลิ้นอักเสบเนื่องจากขาดอาหาร
- ลิ้นอักเสบติดเชื้อ
- จากแผลมะเร็ง
การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อเจ็บลิ้น ที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปาก และรีบพบแพทย์เสมอเมื่อ
- อาการลิ้นเจ็บยังเรื้อรังภายหลังดูแลตนเองแล้ว 1-2 สัปดาห์
- อาการเจ็บแย่ลง
- เจ็บลิ้นร่วมกับมีไข้
- กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย
- ลิ้นบวมมาก ซึ่งถ้ามีการหายใจลำบากร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
- เมื่อกังวลในอาการ
ลิ้นสีซีด
สีปกติของลิ้นคือสีชมพูออกแดง เช่นเดียวกับสีเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อทุกชนิดของช่องปาก ซึ่งเมื่อมีสีซีดมักเกิดพร้อมกันทั้งช่องปาก แต่มองเห็นได้ง่ายที่ลิ้นและริมฝีปาก สาเหตุของลิ้นสีซีด ที่พบบ่อย ได้แก่
- จากโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย
- จากการขาดวิตามินบี
- จากโรคขาดเกลือแร่เหล็ก
- จากโรคที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังในทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกเรื้อรังจากแผล หรือจากเนื้อเยื่อที่อักเสบ
การดูแลตนเองและพบแพทย์เมื่อลิ้นซีดกว่าปกติ ที่สำคัญคือ รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที เพราะจะเห็นได้ว่าสาเหตุลิ้นซีด มีได้ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ขาดธาตุเหล็ก ไปจนถึงสาเหตุรุนแรง เช่น จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ลิ้นเป็นร่อง
ลิ้นเป็นร่อง ได้แก่ ลิ้นที่ร่องลึกทั้งด้านบนและด้านข้างของลิ้น โดยมักไม่ก่ออาการผิดปกติอื่นๆ
ลิ้นเป็นร่องพบได้ประมาณร้อยละ 2-5 ในคนปกติทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าเป็นลักษณะหนึ่งของพันธุกรรม เพราะพบว่าเกิดได้คล้ายคลึงกันในคนครอบครัวเดียวกัน
ลิ้นเป็นร่องอาจเกิดจากโรคได้บ้าง เช่น เป็นอาการหนึ่งจากการอักเสบของเนื้อเยื่อใบหน้า หรือของประสาทใบหน้า ซึ่งส่งผลให้ใบหน้ารวมทั้งลิ้นเกิดอักพฤกษ์หรืออัมพาต กล้ามเนื้อลิ้นจึงไม่ทำงาน เกิดการหย่อยยาน ส่งผลให้เกิดลิ้นเป็นร่อง
การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อลิ้นเป็นร่อง คือ เมื่อลิ้นเป็นร่องและเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่เมื่อไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะเป็นตั้งแต่เกิด หรือเป็นมานานแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ยกเว้นเมื่อมีความกังวล
ลิ้นลายเหมือนแผนที่
ลิ้นลายเหมือนแผนที่ หมายถึง จะเป็นเป็นปื้นสีชมพูเข้มหรือสีแดงบนลิ้นเหมือนเกิดลิ้นอักเสบ ล้อมรอบด้วยเนื้อลิ้นสีขาวเทาหรือขาวเหลือง มองเห็นเป็นลวดลายคล้ายแผนที่ มีขนาดและรูปร่างต่างๆได้ ซึ่งอาการนี้มักเกิดอย่างรวดเร็วและหายได้เองภายใน 1-3 วัน
อาการซึ่งเกิดร่วมกับลิ้นลายเหมือนแผนที่ ได้แก่ รู้สึกเคืองหรือแสบลิ้นเมื่อกินหรือดื่ม สาเหตุของลิ้นลายเหมือนแผนที่ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ
- ความเครียด
- ขาดวิตามินบี
- มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศก่อนมีประจำเดือน (จึงทำให้พบอาการนี้ได้บ่อยกว่าในผู้หญิง)
- ลิ้นระคายเคืองจากอาหารบางชนิด จากยาบางชนิด จากการแพ้สารในยาสีฟัน หรือจากการแพ้สารบางชนิดในน้ำยาบ้วนปาก
การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีอาการลิ้นลายเป็นแผนที่ โดยทั่วไป อาการลิ้นลายเป็นแผนที่เป็นอาการไม่รุนแรง มักเป็นๆ หายๆ ตามปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการดูแลตนเอง ได้แก่
- กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มผัก ผลไม้ และธัญพืช เพราะมีวิตามินบีสูง
- สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับอาหาร หรือเครื่องบริโภคต่างๆ รวมทั้งยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ
- เมื่อมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย หรือเจ็บลิ้นมาก หรือผู้ป่วยกังวล หรือมีอาการบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
ลิ้นเป็นฝ้า
ลิ้นเป็นฝ้า ได้แก่ ลิ้นถูกปกคลุมด้วยฝ้า ทำให้เห็นเป็นสีตามสีฝ้า ไม่เป็นสีชมพูตามปกติ และมักมองไม่เห็นตุ่มรับรส
ลิ้นเป็นฝ้ามักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เจ็บลิ้น หรือมีไข้ หรือเบื่ออาหาร หรือรสชาติอาหารผิดปกติ และมักมีกลิ่นปาก
เมื่อลิ้นเป็นฝ้าขาว มักเกิดจากลิ้นติดเชื้อรา แต่เมื่อฝ้าเป็นสีเหลืองหรือสีค่อนข้างคล้ำ มักเกิดจากลิ้นติดเชื้อแบคทีเรีย
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ้นเป็นฝ้า ที่พบบ่อย ได้แก่
- จากโรคซีดหรือโรคเลือด
- ใส่ฟันปลอมไม่เหมาะสม และรักษาความสะอาดไม่ดีพอ ซึ่งลิ้นมักเป็นฝ้าขาวจากการติดเชื้อรา
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- ขาดอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่
- แพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน หรือในน้ำยาบ้วนปากบางชนิด
การดูแลตนเองเมื่อลิ้นเป็นฝ้า เมื่อลิ้นเป็นฝ้าโดยไม่มีไข้ หรือลิ้นไม่เจ็บ ไม่บวม ฝ้ามักหายได้เองจากการดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดของช่องปาก แต่ถ้าลิ้นเป็นฝ้าบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะบ่อยครั้งฝ้าขาวจากการติดเชื้อราบ่อยๆ อาจเกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำหรือจากโรคที่ก่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
ข้อมูลจาก หนังสือโรคของช่องปากและฟัน สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ
บทความน่าสนใจอื่นๆ
- เหงือกอักเสบ โรคของช่องปากที่พบบ่อยๆ
- แผลร้อนใน โรคของช่องปาก ที่เป็นกันบ่อย
- 3 สูตร ระงับกลิ่นปาก เพิ่มความมั่นใจ