อาการแพนิค อาการนี้คืออะไร ทำไมใครๆ ก็เป็น

อาการแพนิค คืออะไร ทำไมต้องแพนิค!!

อาการแพนิค เป็นอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคแพนิค การสังเกต อาการแพนิค และวิธีการป้องกันค่ะ

รู้จัก แพนิค หรือ โรคแพนิค (Panic Disorder)

เป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน ยิ่งเทคโนโลยี กระแสสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ แต่รู้ไหมว่า อาการแพนิค แท้จริงแล้วมันคือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติ

โรคแพนิคนี้ก็ไม่ได้เกิดจากการที่มีนิสัยขี้ตระหนกตกใจแต่  โรคแพนิค  เกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติคล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลประสาททำงานผิดพลาด สมองรวน ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา หลังอาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรงและกังวลว่าอาการจะกลับมากำเริบอีก

อาการแพนิค

เมื่อแพนิค เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของฮอร์โมน จนเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอยู่ในสมอง อาการที่เกิดขึ้นจึงมีหลากหลาย ไม่ได้มีอาการเหมือนกันทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการ ใจสั่นเต้นรัว รู้สึกเหมือนอยู่ๆ ก็กำลังจะตาย และมีอาการอื่นๆ ดังนี้ ร่วมด้วย คือ

  • ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
  • เหงื่อออก มือเท้าสั่น
  • หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก
  • วิงเวียน โคลงเคลง คล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง และวิตกกังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้  รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
  • ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า

หากมีอาการในลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน

อาการแพนิค

แพนิค อันตรายไหม?

โรคแพนิค ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เป็นต้น

สำหรับอันตรายที่จะเกิดจากแพนิคโยตรงนั้น อาจไม่ได้มีให้เห็นชัดๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจเกิดอันตรายกับผู้ที่เป็นโรคนี้ได้ โดยมาในรูปแบบของ อุบัติเหตุ เช่นเกิดแพนิคขณะขับรถ ทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง จนนำไปสู่อุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ เป็นต้น

3 พฤติกรรมที่ควรงด เสี่ยงแพนิค

  • ใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
  • กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา
  • ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

วิธีการป้องกันอาการแพนิค

  1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. คิดบวก มองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย
  5. ตั้งสติ พยายามไม่คิดไปไกล

วิธีการดูแลตนเองหากเกิด อาการแพนิค เบื้องต้น

หากเกิดอาการแพนิคขึ้นมากระทันหัน สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีคือสติ แล้วจะนำพาให้เรารอดไปได้ในทุกสถานการณ์ นอกจากนั้นแล้ว อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ เรื่องของยาประจำตัว ที่หากรู้ว่าตนเองอาการกำเริบได้ทุกเมื่อ การพกยาไว้ตลอด จะช่วยได้มากเลยนะคะ

เมื่อเกิดอาการ ควรจะ

1. หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ และบอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย แค่ทรมานแต่เดี๋ยวก็หาย

2. ฝึกมองโลกในแง่บวก รับมือกับความเครียด และให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงเซื่องซึมระหว่างวัน

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน

6. งดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สารกาเฟอีน และเครื่องดื่มชูกำลังเพราะกระตุ้นให้เกิดอาการใจหวิวและใจสั่น

7. เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยาทานเองเด็ดขาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิกได้ อย่างไรก็ตาม อาการแพนิกไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้

การรักษาโรคแพนิค

อย่างที่บอกว่า แพนิค ไม่ใช่เกิดจากความกลัว แต่เป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง ดังนั้นแล้วเมื่อเกิดอาการจำเป็นต้องให้คุณหมอดูแล ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ใช้ยา และปรับพฤติกรรมและจิตใจควบคู่กันไป โดยใช้ยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง

ในขณะที่ทางจิตใจ ผู้ที่เป็นโรคแพนิคเองต้องรู้สึกตัวเอง และบอกตัวเองว่าไม่ได้เป็นโรคร้าย ไม่ได้กำลังจะตาย แค่แพนิคกำเริบเท่านั้น ส่วนพฤติกรรมนั้น จะมีทั้งการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และฝึกการหายใจ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับอาการแพนิค หรือโรคแพนิคที่เราเรียกกัน ได้รู้ถึงอาการ วิธีป้องกันไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของเรา ถ้าสุขภาพใจดี สุขภาพกายก็จะดีนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • กรมสุขภาพจิต
  • โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
  • โรงพยาบาลเปาโล

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เครียด ซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง จริงหรือ?

4 เมนูคลายเครียด อร่อย ทำง่าย ช่วยจิตใจให้อารมณ์ดี

เปิดเทคนิค การฝึกหายใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด และคลายกังวล

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.