โควิดรอบใหม่ กลับมาระบาดหรือไม่ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร
โควิดรอบใหม่ กลับมาแล้ว อย่าชะล่าใจต้องระวังตัวแล้วนะคะ แอดเห็นคนกลับมาเป็นกันเยอะขึ้นมา จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 26 พ.ค.-1 มิ.ย. 2567 พบผู้ป่วยรายใหม่มาเข้ารักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 266 รายต่อวัน รวม 1,863 ราย คิดเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 738 ราย แต่ที่ทำให้ต้องตกใจ คือมีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อ 316 ราย
หมอคิดอย่างไร กับ โควิดรอบใหม่
ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงการแพร่ระบาดตามฤดูกาล และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจจากโควิดประมาณ 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง หรือผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ คุณหมอได้กล่าวถึง ตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งขึ้นสูงตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน ว่าอาจมาจากเทศกาลสงกรานต์ และด้วยธรรมชาติของโรคทางดินหายใจที่จะแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเปิดเทอม จึงส่งผลให้เด็กกลายเป็นตัวเร่งการแพร่ระบาด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่ได้น้อยลงจากปีที่แล้ว แต่ความรุนแรงของโรคมันลดลง
สำหรับสาเหตุ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก อธิบายว่า ตามหลักของวิวัฒนาการนั้น ไวรัสจะพยายามพัฒนาตัวให้ลดความรุนแรงลง ขณะที่มนุษย์พยายามสร้างภูมิต้านทาน พอสองฝั่งมาเจอกัน ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง โดยปัจจุบันความรุนแรงของโควิดอยู่ในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนับเป็นส่วนน้อย
และความจำเป็นของวัคซีนต่อคนที่แข็งแรง คนที่เคยได้วัคซีนแล้ว หรือคนที่เคยติดเชื้อแล้วก็น้อยลงด้วย
หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะวางใจ แต่เราก็มีความเห็นอีกมุมจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความคิดเห็นต่างจากคุณหมอยง
โดยคุณหมอธีระ ให้ความเห็นในเรื่องตัวเลขผู้เจ็บป่วยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมที่เป็นตัวเลขจริงนั้นไม่มีใครรู้ เนื่องจากไม่มีใครรายงานมานานแล้ว แต่ตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ หรือมีอาการปอดอักเสบล้วนสูงขึ้นชัดเจน
จากข้อมูลล่าสุด พบว่าตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 1.9 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นสูงขึ้นจากปีก่อน 1.3 เท่าเช่นกัน ทั้งนี้คุหมอยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ที่บางภาคส่วนบอกว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ เป็นการคำนวนจากอัตราการตายของผู้ป่วยรายโรค ที่ไม่ได้รวมเลขผู้ติดเชื้อเข้าไป แต่ใช้ตัวเลขของผู้ป่วยที่ต้องเข้าการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งพอนำตัวเลขมาหารกันแล้วทำให้อัตราการตายดูลดลง
แต่ ผศ.นพ.ธีระ ยังวิจารณ์เรื่องการเปรียบเทียบ โควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ว่ามันไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเมื่อมาเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตกันแล้วมันแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด -19 ยังรุนแรงกว่ามาก
ประชาชนต้องดูแลตัวเองอย่างไร
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะมันกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ส่วนสายพันธุ์ปัจจุบันนั้น ถือเป็นรุ่นลูกหลานของโอไมครอน แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเดิม 50 เท่า เขาให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 มีผู้ที่ติดเชื้อและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งหมด 383,903 ราย คิดเป็นคนที่นอนพักรักษาตัว 20,483 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 132 ราย และด้วยตัวเลขชุดนี้ นพ.ธงชัยย้ำว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยแน่นอน นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะเชื้อมันเปลี่ยนเร็วมากทำให้วัคซีนตามไม่ทัน แต่ควรให้เฝ้าระวังในกลุ่มเปราะบางสูง เช่นคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป คนที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดัน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี เพราะว่ากลุ่มคนพวกนี้มีโอกาสที่จะมีอาการหนักกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะคนในกลุ่มเปราะบางที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
ทำยังไง เมื่อติดโควิด
หลายคนอาจคิดว่าโควิดเป็นเรื่องใกล้ตัวไปแล้ว แต่ก็อาจจะหลงลืมไปแล้วว่าถ้าเป็นโควิดต้องทำอย่างไร วันนี้แอดมีวิธีดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ที่ทำได้สำหรับผู้ที่มีอาการไม่เยอะมากมาฝากกันค่ะ แต่ถ้าใครมีอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลนะคะ
- แยกตัวเองออกจากทุกคนในบ้าน แต่ถ้าไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้จริง ๆ ผู้ป่วยและทุกคนที่อยู่ร่วมด้วยต้องใส่หน้ากากอนามันตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ งดกินอาหารร่วมกัน
- ติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความช่วยเรื่องเรื่องเตียงและการรักษา
- ใครที่กินยาสมุนไพรควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอาการ ควรกินอาหารที่มีวิตามินซีสูง ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน กินอาหารที่มีกากใยเพื่อให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ และดื่มน้ำเยอะๆ
- ห้ามเป่าพัดลมใส่ตัว อย่านอนตากแอร์ ทำให้เหงื่อออกได้ยิ่งดีหรือออกกำลังกายเบา ๆ แต่อย่าใช้แรงเยอะเพราะปอดจะทำงานหนัก ทำให้หายใจลำบาก
- ถ้ามีไข้ห้ามอาบน้ำ ใช้วิธีเช็ดตัวโดยเช็ดตัวแบบย้อยจากปลายมือ ปลายเท้า เข้ามาหาหัวใจ ให้หัวใจเป็นจุดศูนย์กลาง แต่ถ้าเหนียวตัวไม่ไหว ให้อาบน้ำอุ่นช่วงบ่ายหรือช่วงที่มีแดด
- กลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำเกลือ และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ทุกวันเช้า-เย็น เพื่อป้องกันเชื้อโรคลงปอด
- ดื่มน้ำอุ่นอุณหภูมิห้อง ห้ามดื่มน้ำขิง ห้ามกินของเย็น เพราะจะทำให้ไข้ไม่ลด
- นอนพักผ่อนเยอะ ๆ เพราะขณะนอนหลับจะทำให้ออกซิเจนในเลือดสูงขึ้น ถ้าหายใจไม่ออกให้นอนคว่ำ เอาต้นไม้ออกจากห้องนอนเพื่อป้องกันการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ในตอนกลางคืน ซึ่งทำให้เราหายใจไม่สะดวก
- อมยาอมแก้เจ็บคอ รสหวานน้อย พร้อมกับฉีดสเปรย์แก้ไอ (ถ้ามีอาการไอบ่อย)
- หมั่นวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งไม่ควรเกิน 37 องศา ถ้าไข้ไม่ลดให้กินยาลดไข้ เช็ดตัวบ่อย ๆ แปะแผ่นเจลลดไข้
ที่มา
- BBC
- ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสาร ชีวจิต ฉบับ 552
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตอบคำถาม PM 2.5 ทำให้เป็นมะเร็งปอด จริงไหม?
แยกให้ชัด !! เจ็บคอจากไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 พร้อมวิธีป้องกันโรคระบาด ช่วงหน้าฝน
เป็นหวัดห้ามกิน 8 อาหารเหล่านี้
ติดตามชีวจิตได้ที่