ผ่าตัดกระเพาะ

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ได้จริงหรือไม่

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่ คนอ้วนควรทำไหม

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่ คุณหมอตอบเลยว่า “จริง” คนไข้โรคอ้วนที่มาผ่าตัดจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ว่า 

จุดมุ่งหมายแท้จริงของการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนคือ การรักษาคนที่เป็นโรคอ้วนที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบากและอาจมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งหลาย ๆ รูปแบบ โรคตับ มีบุตรยาก และอื่น ๆ อีกมาก

ซึ่งนอกจากการผ่าตัดจะช่วยควบคุมโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนแล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้ผลดีที่สุด การผ่าตัดกระเพาะนั้น จุดมุ่งหมายหลักไม่ได้ทำเพื่อความสวยงาม แต่ทำเพื่อสุขภาพกายและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น ออกกำลังกายได้ ลดการเจ็บป่วยจากน้ำหนักที่มากเกินไปและโรคแทรกซ้อนได้

ใครที่ควร ผ่าตัดกระเพาะ

  1. ต้องเป็นโรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 32.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หากไม่เป็นโรคอ้วน ผ่าตัดแล้วจะได้ผลไม่คุ้มกับความเสี่ยง
  2. พยายามใช้วิธีการอื่นมาก่อนแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ปาฏิหาริย์เรื่องการลดน้ำหนักด้วยตัวเองมีให้ประจักษ์อยู่เนื่อง ๆ แต่หากพยายามเองแล้วไม่สำเร็จอาจต้องใช้การผ่าตัดเป็นเครื่องช่วย

คนไข้ต้องมีความเข้าใจการปฏิบัติตัวก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลดน้ำหนักจะค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยควรลดหนึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ เช่น ตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 50 กิโลกรัม ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อทำการผ่าตัดแล้ว จะกินได้น้อยลง จากกินเป็นชาม ๆ จะกินได้แค่ 3-4 ช้อน ต้องเลือกกิน เลือกดื่ม ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะตลอดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและร่างกายอย่างไร ผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด

ข้อสำคัญของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระเพาะ คือ เน้นกินโปรตีนกินคาร์โบไฮเดรตที่เป็นไฟเบอร์มาก ๆ เช่น ผักต่าง ๆ เนื่องจากดูดซึมยากกว่า หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมง่าย  เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารเส้นทั้งหลาย กินไขมันให้น้อยกินวิตามินสม่ำเสมอ เมื่อออกกำลังกายไหว ให้ออกกำลังกายให้มากไว้ และมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ

เมื่อตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรใช้การผ่าตัดรูปแบบใดนอกจากนี้ยังต้องมีทีมแพทย์ประเมินและควบคุมโรคร่วมที่คนไข้มีให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

การรับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทีมแพทย์หลากหลายสาขา นักกำหนดอาหาร พยาบาล และทำในสถาบันที่พร้อม

ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วน โดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก

BMI

ในทางการแพทย์แบ่งภาวะของการมีน้ำหนักเกินออกเป็นหลายระดับ โดยใช้วิธีวัดที่เรียกว่า “ดัชนีมวลกาย” BMI (Body Mass Index) โดยวัดจากการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ซึ่งนำค่าน้ำหนักตั้งหารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรยกกำลังสอง

โดยทั่วไป คนปกติที่ไม่อ้วนไม่ผอม ค่าดัชนีมวลกายจะประมาณ 17.5 ถึง 21.5 ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่าดัชนีมวลกาย 32.5 ขึ้นไป มักจะพบโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความ “ดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

“ที่สำคัญที่สุดคือตัวคนไข้เองต้องให้โอกาสตัวเอง ในการที่จะหายจากโรคอ้วนโดยตัดสินใจเข้าสู่เส้นทาง และเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ง่ายนักนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก”

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ชีวจิต Tip เพื่อคนต้องการลดความอ้วน

ลดโรค ลดความอ้วนได้ เพียงแค่เรากินมื้อเช้าทุกวัน และต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลักง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้ามและอาจไม่เห็นความสำคัญ แต่ความจริงหลักการนี้ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างมาก จากข้อมูลของหนังสือ อ่อนวัยแน่ แค่ปรับฮอร์โมน โดย ฮิเดะยุกิ เนะโกะโระ สำนักพิมพ์ AMARIN Health ระบุไว้ ดังนี้

ทำไมต้องเคี้ยวอาหาร 30 ครั้งก่อนกลืน

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น การหลั่งฮอร์โมนเลปตินและเกรลินจะเริ่มเสียสมดุล จากเดิมที่เลปตินหลั่งออกมาเมื่อกินถึงระดับร่างกายต้องการเพื่อให้อิ่ม ส่วนเกรลินหลั่งเมื่อกระเพาะอาหารว่างเพื่อให้หิว จากการวิจัยชิ้นหนึ่งได้ตั้งสมมติฐานว่า ปัญหาการเสียสมดุลของฮอร์โมนทั้งสองชนิดกระทบต่อศูนย์ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้ทำงานไม่เต็มที่ จึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการกินของผู้สูงอายุที่กินแบบเกินพอดี และกินเฉพาะเนื้อสัตว์

หากต้องการกระตุ้นให้ฮอร์โมนทั้งสองชนิดยังทำงานเป็นปกติมากที่สุดแม้เริ่มเสียสมดุลแล้ว คือ “การเคี้ยวอาหารให้ได้ 30 ครั้งทุกก่อนกลืน” เนื่องจากการผลิตและหลั่งฮอร์โมนควบคุมความอยากอาหารจะดำเนินไปอย่างช้าๆ หากกินเร็วและเยอะเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เลปตินจะหลั่งออกมาเต็มที่

ฉะนั่น การฝึกเคี้ยวอาหารให้ละเอียดราวคำละ 30 ครั้ง จนเป็นนิสัย เป็นการเพิ่มเวลาให้ระบบในร่างกายได้ทำงานเพิ่มขึ้น เฉลี่ยมื้อละ 30 นาทีเลยทีเดียว

ผลเสียของการรีบกินรีบกลืนคืออะไร

การปล่อยให้ร่างกายเผชิญภาวะเลปตินและเกรลินเสียสมดุลประจำ อาจเป็นเหตุนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมาจากพฤติกรรมการกินเป็นสำคัญ กลุ่มคนที่มักติดนิสัยกินเร็วคือ คนทำงาน ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงมีเวลาให้มื้อเช้าและมื้อกลางวันไม่กี่นาที

เมื่อการกินเร็วทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพราะเรากินหมดก่อนที่ร่างกายจะส่งข้อมูลไปหน่วยรับอินซูลินว่า เกรลินหยุดทำงานแล้วได้ทัน อินซูลินยังถูกส่งออกมาต่อเนื่องทั้งที่ระดับน้ำตาลลดลงแล้ว เท่ากับว่าการกินเร็วคือการใช้อินซูลินไปโดยเปล่าประโยชน์

ส่วนการกินเยอะเกินไปเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ร่างกายจึงต้องเร่งผลิตอินซูลินเพิ่มเพื่อลดน้ำตาลเหล่านี้ ในระยะยาว พฤติกรรมนี้ยังทำให้การหลั่งอินซูลินผิดปกติ เซลล์ต่างๆ จึงเสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการแก่ชรา ส่วนน้ำตาลส่วนเกินในกระแสเลือดจะถูกอินซูลินเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในตับและเนื้อเยื่อ จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและกลายเป็นโรรอ้วนในท้ายที่สุด

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ไม่อดมื้อเช้า เคี้ยวข้าวให้ละเอียด ช่วยอายุยืน ลดความอ้วนได้

ว่าด้วยเรื่องของ สาหร่ายวากาเมะ กับการลดความอ้วน

วิธี ฝึกกล้ามเนื้อ “ป้องกันล้ม” ในผู้สูงวัย

เรื่องต้องรู้ เมื่อจะ “ล้างจมูก”

ลืมความกังวล ด้วยกิจกรรมง่ายๆ วันละ 5 นาที

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.