โรคฉี่หนู

น้ำท่วมขัง ระวังโรคฉี่หนูระบาด

โรคฉี่หนู ระบาดในภาคใต้ น้ำท่วมขังเลี่ยงเดินลุยน้ำ เเช่น้ำ

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส มีอาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ทุกครั้ง หากไม่ได้สวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว

เมื่อ 25 ธันวาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมกราคม 2563 และบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม สิ่งที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ โรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมที่ต้องแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หรือต้องทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าทางบาดแผล รอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน หรือรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

โรคติดต่อ โรคหน้าฝน หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลืดออก ฉี่หนู ไข้หวัด

จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนู 2,070 ราย เสียชีวิต 28 ราย เกือบร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเกษตรกร ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ซื้อยามากินเองหรือไปพบแพทย์ล่าช้า โดยภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระนอง พังงา ศรีสะเกษ ยโสธร และตรัง โดยตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบจำนวนผู้ป่วยจากภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสภาพอากาศของภาคใต้ที่ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด พบว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีผู้ป่วยเสียชีวิต 5 ราย จากภาคใต้ทั้งหมด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (2 ราย) ตรัง ยะลา และพัทลุง จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งทุกรายมีประวัติย่ำน้ำ เช่น ทำเกษตรกรรม จับปลาในร่องสวนหรือนาข้าว เป็นต้น

สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค ยิ่งพบแพทย์เร็ว ยิ่งมีโอกาสหายเร็ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือ ถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ

2.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ

3.หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่มีหนูชุกชุม

4.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : กรมควบคุมโรค

บทความอื่นๆน่าสนใจ

5 โรคติดต่อ ควรเฝ้าระวังพิเศษ และกลุ่มโรคที่พบบ่อยในหน้าฝน

ดูแลผิวหน้าฝน รับมือเชื้อรา แบคทีเรีย ที่มากับความชื้นทำร้ายผิว

4 สมุนไพร ต้านโรคจากยุง

3 โรคเสี่ยง หน้าฝน ที่คุณควรรู้!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.