อาการลิ่มเลือดอุดตัน เช็กไว้ก่อน ไม่ฉีดวัคซีนก็เป็นได้
เป็นอีกหนึ่งข่าวของช่วงนี้ที่น่าติดตามไม่น้อย เมื่อในต่างประเทศมีการฟ้องร้อง กรณีที่วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันจนเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนตัวดังกล่าวเป็นหนึ่งในวัคซีนหลักที่ประเทศไทยใช้ต่อสู้กับโรคระบาด แล้วแบบนี้คนที่ฉีดไปแล้วมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน รวมถึง อาการลิ่มเลือดอุดตัน เป็นอย่างไร วันนี้ #ชีวจิตติดกระแส จะเล่าให้ฟังค่ะ
ภาพรวมในประเทศไทย
นายแพทย์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตร้าเซเนกา ที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนมีผู้เสียชีวิตว่า
“ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ทั้งหมด 48 ล้านโดส โดย 1 คน ฉีด 2 โดส ดังนั้นมีผู้รับวัคซีนประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเข็มสุดท้ายที่ฉีดคือเมื่อเดือน มี.ค.2566 “
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร

โดยในส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนแอสตร้า 23 ราย แต่หลังพิจารณาโดย คณะอนุกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลักการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พบว่ามีผู้ที่เข้าข่ายเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีน 7 ราย และในจำนวนนี้ เสียชีวิต 2 ราย ทั้งนี้คุณหมอได้กล่าวอีกว่า
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีน 5-42 วัน เท่านั้น!
ในปัจจุบันนี้ประเทศ ประเทศไทยยกเลิกสถานะการเป็นโรคติดต่ออันตราย ของโรคโควิด 19 แล้ว จึงไม่ได้มีการจัดสรรให้ฉีดฟรีสำหรับประชาชน แต่กำลังพิจารณาว่าอาจจะฉีดให้กลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ เนื่องจากในกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด แต่ทั้งนี้ การฉีดจะเป็นแบบความสมัครใจ
รวมถึงจะเป็นการใช้วัคซีนภายใต้ภาวะปกติ ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินเหมือนก่อนหน้านี้ จึงทำให้ต้องมีกระบวนการ ศึกษา ผลดีผลเสีย ผลกระทบต่างๆ และนำมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนใช้ กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติในประเทศไทยก็คือ วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์
สำหรับใครที่เป็นกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีน ก็โล่งใจได้เปราะหนึ่งว่า หากเกิดเพราะวัคซีนจริงๆ จะต้องเกิดหลังฉีดวัคซีน ไม่เกิน 42 วัน
แต่หากถามว่า แล้วจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัคซีนไหม ตอบเลยว่า มี!
ปัจจัยเสี่ยงอะไรที่ทำให้มี อาการลิ่มเลือดอุดตัน
อย่างที่บอกไปว่า แม้จะผ่านการฉีดวัคซีนมานานเกิน 42 วันแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะหมดห่วง คิดว่าไม่มีทางเกิดภาวะนี้ขึ้นกับตัวได้อย่างเด็ดขาด เพราะปัจจัยหลักที่สำคัญจริงๆ ของภาวะนี้มากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การนอนหรือการนั่งนานๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- อายุ 20-40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ และการกินยาคุม
- ในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดได้ทั้งหญิง และชาย
- ดื่มน้ำน้อย จนทำให้เกิดภาวะเลือดหนืด
- เป็นโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่ส่งผลให้เลือดหนืด จนจับตัวเป็นลิ่ม
- มีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง โมโหง่าย โมโหนาน มีความเครียด
ดังนั้น ภัยอันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เนื่องจากอาการปวด บวม และอาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หลายคนอันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเฉียบพลันร้ายแรงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต เช่น หัวใจวาย

สำหรับในประเทศไทย นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประเทศไทย ว่าสถานการณ์ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดพบว่าตั้งแต่ปี 2560-2563 มีผู้ป่วยประมาณ 12,900-26,800 คน เท่ากับจะมีผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรทุกๆ 1 ล้านคน และอีกหนึ่งสถิติที่น่าตกใจคือ ทั้งนี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำเป็น 1 ในสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยพบปัญหาหายใจลำบาก ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่ 30% นับว่าไม่น้อยเลย รวมถึงเป็นภาวะใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนจริงๆ ค่ะ
อาการลิ่มเลือดอุดตัน
สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรค นั่นคือ อาการแสดงของโรคลิ่มเลือดอุดตันมักเริ่มที่ขา นั่นถูกต้องแล้วค่ะ เพราะลิ่มเลือดอุดตัน มักปรากฏรอยโรคให้เห็นเป็นสัญญาณแรกๆ คือภาวะเส้นเลือดขอดที่ขา โดยจะขึ้นเป็นเส้นนูนขึ้นมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ส่วนอาการอื่นๆ สังเกตได้ตามนี้เลยค่ะ
- มีการปวดขา รู้สึกร้อนที่ขา
- แขน ขา บวม แดง
- ผิวหนังเปลี่ยนสี เป็นสีเขียวคล้ำ หรือเลือดออกใต้ผิวหนัง ขึ้นเป็นรอยจ้ำเลือด
- หายใจไม่ทัน หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- วิงเวียนจะเป็นลม
- ไอเป็นเลือด
- ปวดหัวรุนแรง และปวดหัวต่อเนื่องยาวนาน
- มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ
- ปวดท้อง คลื่นไส้ ขับถ่ายเป็นเลือด
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด น้ำลายไหลโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเป็นการด่วนนะคะ เพราะอาจเป็นภาวะที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลย
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
ที่มาข้อมูล
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลศิครินทร์
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
- ป้องกันโรคหัวใจ ตามแบบฉบับแพทย์แผนจีน
- อาหารบำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีอยู่ในตู้เย็น
ติดตามชีวจิตได้ที่