เทคนิคกินวิตามินธรรมชาติ สไตล์ นุ่น สินิทธา
ชีวจิตได้มีโอกาสพูดคุยกับ นุ่น สินิทธา บุญยศักดิ์ อดีตนักแสดงยุค 90 ปัจจุบันเธอสนใจ สุขภาพจริงจัง และได้ลงเรียนหลักสูตร Nutrition Science จากมหาวิทยาลัย Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็น Health Coach ที่ส่งต่อความรู้วิถีกินอยู่เพื่อสุขภาพของคนไทย ฉบับนี้เราจึงชวนคุณนุ่นมาร่วมแชร์เทคนิคการกิน วิตามินที่นอกจากทำให้เราสุขภาพแข็งแรง สดชื่น เบิกบาน แล้ว ยังไม่เสียสุขภาพทรัพย์ในกระเป๋าเนื่องจากกินผิด หรือกินเกินด้วย
วิธีเลือกกินวิตามิน แบบฉบับ นุ่น สินิทธา
มุมมองเกี่ยวกับการกินวิตามิน คุณนุ่นแชร์มุมมองเรื่องการกินวิตามินไว้ว่า
“โดยส่วนตัวมองว่าควรกิน Real Food หรืออาหาร ที่แท้จริงก่อน เพราะในอาหารแต่ละอย่างมีวิตามิน ที่หลากหลาย อาหารหนึ่งชนิดมีสารอาหารอย่างน้อย 3 ชนิดเสมอ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่ เพราะฉะนั้นหากกินอาหารถูกต้อง เราไม่จำเป็นต้องกิน วิตามินเสริมหรือกินเพราะคิดเอาเองว่าร่างกายน่าจะขาด”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เราขาดวิตามินได้นั้น คุณหุ่น อธิบายว่า
“ถ้าเป็นคนที่กินแต่อาหารประเภท Processed Food อย่างเดียว หรือกินแต่กลุ่มอาหารสำเร็จรูปอย่างเดียว เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พิชซ่า หรืออาหารแช่แข็ง สำเร็จรูป อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินได้ เพราะอาหาร กลุ่มนี้จะสูญเสียวิตามินและเกลือแร่จากกระบวนการผลิต ทีซับซ้อน นอกจากนี้อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมักมี การเติมสารต่าง ๆ ลงไป ทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติได้
“การกินอาหารซ้ำๆเดิมๆบ่อย ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผัดชีอิ้ว ผัดกะเพรา ผัดพริกแกง วนอยู่แบบนี้ น้อยมากที่ในหนึ่งวันจะกินผักหลากหลาย เช่น มื้อนี้กินมะระ อีกมื้อกินตำลึง ทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะขาดวิตามิน
“นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์บางอย่างยังส่งผลต่อภาวะ ขาดวิตามินในร่างกายได้ เช่น การกินยาบางชนิดทำให้ร่างกายขาดวิตามินโดยไม่รู้ตัว”
เช็กอาการขาดวิตามิน
สำหรับอาการขาดวิตามินนั้นสามารถเช็กได้จาก
“การจะสังเกตว่าตอนนี้ร่างกายเราขาดสารอาหารอะไร ก็มีวิธีสังเกตง่าย ๆ เช่น ดูว่าเล็บเป็นคลื่นหรือไม่ ที่เล็บมีดอกขาว ๆ หรือจุดสีดำ ๆ มั้ย ถ้าเป็นก็อาจจะขาดโปรตีน แคลเซียม สังกะสี เหล็ก แมกนีเซียม วิตามินเอ วิตามินบี หรือถ้าขาดไอไอดีนก็จะเกิดภาวะคอพอก คนที่เลือดออกตามไรฟันก็อาจจะขาดวิตามินซี ช่วงไหนอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ง่วงซึม ไม่สดชื่น ตื่นเช้ามารู้สึกสะลืมสะลือ ร่างกายอาจขาดวิตามินบี 2 บี 3 บี 5 บี 6 บี 9 บี 12 วิตามินซี วิตามินดี เหล็ก และแมกนีเซียม เป็นต้น
“ต้องหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองดี ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น เรื่องเฉพาะตัวที่เราจะต้องรู้เอง ต้องศึกษาว่าเมื่อร่างกาย เกิดความผิดปกติก็ควรต้องไปพบแพทย์”
เช็กให้ชัวร์ว่าขาดจึงเสริม
สำหรับคุณนุ่น เธอเลือกกินอาหารธรรมชาติเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินธรรมชาติเป็นอันดับแรก ส่วนการกินวิตามินเสริมนั้น เธอมีแนวคิดดังนี้ค่ะ
“ก่อนกินวิตามินก็ควรรู้ก่อนว่าร่างกายขาดสารอาหารหรือไม่ ไม่ใช่คิดว่าร่างกายขาดแล้วไปซื้อมากินเลย ควรไปตรวจร่างกายหรือรู้จักร่างกายและพฤติกรรมตัวเอง เช่น อายุเท่าไร เพศไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการกินอาหารทุกมื้อ ร่างกายก็ได้รับวิตามินอยู่แล้ว การเสริมวิตามินบางชนิดที่เกินจำเป็นอาจส่งผลเสีย หรือทำให้เสียเงินไปเปล่า ๆ
“โดยสรุปส่วนตัวมองว่าวิตามินมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่เราควรเลือกกินจากอาหารก่อน และถ้าจะให้ดีควรเลือกกินอาหารตามฤดูกาล การซื้อวิตามินเสริมมากินควรทำตอนที่ร่างกายขาด อย่ากังวลว่ากินอาหารจะได้รับวิตามินไม่เพียงพอ ถ้าเรากินอย่างถูกต้องยังไงก็พอ ถ้าร่างกายได้รับพอแล้ว ไปซื้อวิตามินมากินเสริมอีก เมื่อเยอะเกินไปก็อาจเกิดโทษได้”
วิธีเลือกกินวิตามิน แบบฉบับ นุ่น สินิทธา
คุณนุ่นยกตัวอย่างการกินอาหารธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินธรรมชาติว่า
“อาหารธรรมชาติล้วนอุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่อยู่แล้ว เช่น วิตามินดีที่พบในอาหารจำพวกเห็ด ปลาทูน่า ปลาแมดเคอเรล และปลาแซลมอน หรือการตากแดดเช้า ๆ ก็ทำให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ ป้องกันโรคกระดูกพรุน พูดถึงกระดูกพรุน ขอแนะนำเรืองแคลเซียมด้วย เพราะถ้าเราไปซื้อแคลเชียมมากิน เพื่อป้องกันกระดูกพรุน แต่ไม่ได้กินวิตามินดีร่วมกัน ก็จะทำให้การดูดซึมแคลเซียมไม่ได้ประสิทธิภาพ หรือถ้ากินแคลเซียมมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดหินปูนอุดตันหลอดเลือดได้
“หากอยากได้รับแคลเซียมจากอาหาร กินปลาเล็กปลาน้อย กินปลาหลังเขียวก็ได้แคลเซียม กินกุ้งทั้งเปลือกก็ได้แคลเซียม หรือจะกินถัวก็ได้ เพราะฉะนั้นแคลเซียมจากอาหารมีหลากหลาย ชนิดมาก”
ในส่วนเทคนิคการกินวิตามินสไตล์คุณหุ่น เธอแนะนำดังนี้
“ตัวเองเป็นคนดื่มกาแฟที่มีสารกาเฟอีน ร่างกายจะสูญเสียแมกนีเซียมกับโพแทสเซียม เพราะกาเฟอื่นจะขับเกลือแร่เหล่านี้ออกจากร่างกาย ซึ่งแมกนีเซียมมีส่วนสำคัญต่อระบบประสาทส่วนกลาง ฉะนั้นก็ต้องกินแมกนีเซียมเสริม เพื่อให้ความจำและระบบประสาทส่วนกลางทำงานได้ดี
“ดังนั้นโดยส่วนตัวจะกินแมกนีเซียม และจะต้องอ่านฉลากให้ถี่ถ้วน เพราะฉลากจะเป็นสิ่งที่บอกว่าวิตามินชนิดนั้นมีสารอะไรอยู่บ้าง และโดยส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบกินวิตามินรวม เพราะไม่สามารถรู้เลยว่าในวิตามินรวมนั้นใส่มาครบหรือไม่
“ยกตัวอย่างเมื่อเช้าหุ่นกินอาหารที่มีมันหวานและอะโวคาโด แต่ก็เสริมด้วยแมกนีเซียม เพราะเรารู้ว่าร่างกายยังต้องการแมกนีเซียมอยู่ แม้ว่าจะได้รับโพแทสเซียมและแมกนีเชียมจากอะโวคาโดและมันหวาน แต่อาจไม่มีตัวที่ช่วยการทำงานของระบบสมองโดยตรง ก็ต้องเสริมบ้าง แต่จะให้ความสำคัญกับการเลือกกินจากอาหารหลักก่อน เพราะหากร่างกายของเราไม่ขาดสารอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องกินเสริม”
บทความอื่นที่น่าสนใจ
กินอยู่ครบสูตร ด้วยผักผลไม้ ต้านโรคเอสแอลอี โรคภูมิแพ้
Antioxidant Food ผักมีสารต้านอนุมูลอิสระ ตัวช่วยสยบมะเร็ง
ชวน เลือกพรีไบโอติกส์ ในผักและผลไม้ (กินเลยลำไส้ดี)
รวม FAD DIETS เทรนด์ อาหารลดน้ำหนัก หุ่นดี ไม่เสียสุขภาพ
ลิ่มเลือดอุดตัน รู้ทัน ป้องกันได้ก่อนสายเกินแก้!
เช็กความเสี่ยงโรคร้ายจากกรุ๊ปเลือด
ติดตามชีวจิตได้ที่
Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial