ชวนรู้จัก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท พร้อมวิธีรับมือ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคฮิตที่เกิดกับหลังเป็นอันดับต้น ๆ ที่เรียกได้ว่า ลองหันไปถามคนข้าง ๆ ต้องมีที่มีคนรู้จักเป็นกันบ้างแหละ วันนี้ชีวจิตจึงนำข้อมูลจากทาง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาแนะนำค่ะ
หมอนรองกระดูกคืออะไร
อวัยวะที่เรียกว่า หมอนรองกระดูก (Intervertebral disc) มีลักษณะรูปร่างเป็นวงกลม มีขอบเป็นพังผืดเหนียว ภายในมีของเหลวคล้ายเจลบรรจุอยู่ หมอนรองกระดูกนี้คั่นกลางอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก เปรียบได้กับเป็น ‘โช้คอัพ’ ให้กระดูกสันหลังของเรา
เมื่อหมอนรองกระดูกได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ของเหลวในหมอนรองกระดูกจะมีโอกาสทะลักออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง หลายคนอาจคิดว่า โรคนี้เกิดเฉพาะผู้สูงวัย แต่ความจริงแล้วพบได้ในวัยหนุ่มสาวอายุ 20 ปี ขึ้นไป มักเกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ต้องใช้หลังผิดท่าทาง เช่น การยกของหนัก การนั่งนาน ๆ การไอหรือจามแรงๆ การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงผ่านหลังมากๆ เช่น การตีกอล์ฟ เป็นต้น
เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ เส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ หากเส้นประสาทที่ถูกกดทับเป็นเส้นที่เชื่อมโยงกับขาจะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวบริเวณขา ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว บางรายมีอาการชาตั้งแต่เอวร้าวลงขาหรือหลังเท้า ตามมาด้วยกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และที่สุดอาจถึงกับสูญเสียการควบคุมระบบขับถ่าย
เป็นแล้ว ควรทำอย่างไร
หากเกิดอาการโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ควรพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามลำดับดังนี้
1. กินยาระงับปวด เพื่อลดการอักเสบ
2. ทำกายภาพ
3. ฉีดยาลดการอักเสบที่เส้นประสาท
4. ผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี คือ
4.1 การผ่าตัดด้วยวิธีจุลศัลยกรรม (Microdiscectomy) โดยใช้กล้อง Microscope ช่วยในการผ่าตัด โดยกล้องจะอยู่ภายนอกร่างกาย จากนั้นใส่อุปกรณ์เข้าไปเพื่อเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเป็นแนวยาว แล้วทำการตัดกระดูกบางส่วนออกเพื่อให้สามารถผ่าตัดตำแหน่งที่มีการกดทับของเส้นประสาทได้ วิธีนี้ทำให้เกิดความบอบช้ำต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะข้างเคียง ซ้ำมีแผลขนาดประมาณ 3 – 5 เซ็นติเมตร
4.2 การผ่าตัดแบบ Full Endoscopic Spinal Surgery เป็นการพัฒนามาจากวิธีจุลศัลยกรรม วิธีการโดยเจาะและสอดกล้อง Endoscope ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 มิลลิเมตร ซึ่งมีเลนส์ติดอยู่ส่วนปลายผ่านใยกล้ามเนื้อไปยังหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาท จากนั้นใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปตัดหมอนรองกระดูกโดยตรง ข้อดีคือ สามารถมองได้ทุกมุมในบริเวณที่จะผ่าตัด และอุปกรณ์มีระบบน้ำไหลเวียน สามารถชะล้างสิ่งที่ผ่าตัด ทำให้มองเห็นชัดเจนตลอดเวลา
ยังไม่เป็นก็กันไว้ก่อนดีกว่า
แพทย์ส่วนใหญ่มักให้คำแนะนำว่า สิ่งที่ดีกว่าการรักษาคือ การป้องกันแต่เนิ่นๆ เพียงแค่ใช้หลังอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากต้องนั่งนานๆ ควรหาโอกาสเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ และควรหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง ก็จะยืดอายุการใช้งานของหมอนรองกระดูกไม่ให้เสื่อม สภาพก่อนวัยอันควร
ท่าบริหารที่แนะนำ
1 นอนหงาย ยกขาขึ้นข้างหนึ่งให้สูงจากพื้นประมาณ 1คืบ เข่าเหยียดตรง กระดกปลายเท้าเข้าหาตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับขาอีกข้าง
2 นอนหงาย ใช้มือทั้งสองกอดเข่าข้างหนึ่ง โน้มเข่าลงมาให้ชิดลำตัว ค้างไว้ 5 วินาที แล้วทำสลับกับเข่าอีกข้าง
3 นอนหงาย ชันเข่าขึ้น ประสานมือสองข้างไว้ด้านหลังบริเวณเอว จากนั้นแขม่วท้อง กดหลังลงค้างไว้ 5 วินาที
* แต่ละท่า ควรปฏิบัติซ้ำ 3-5 ครั้ง ทุกเช้าเย็น หมั่นทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหม *
หากทำได้เป็นประจำ และหมั่นดูแลและสังเกตร่างกายของตัวเอง ตรวจเช็กสุขภาพอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ค่ะ
ข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แพทย์เตือนฉีดยาแก้ปวด “ไดโคลฟีเเนค” ทำเส้นประสาทบาดเจ็บ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ป้องกันได้ด้วย 3 ท่านี้
ประสบการณ์สุขภาพ : รับมือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ฉบับคนทำงาน