ช่วงหนึ่งที่ผ่านมาหลายคนต้องเวิร์คฟรอมโฮม นั่งทำงานที่บ้านทั้งวัน ฉันก็เป็นคนหนึ่ง รวมอยู่ในภาวะจำเป็นนี้ด้วย และสังเกตตัวเองว่าอาการ “ปวด” คอ บ่า ไหล่ รุกไล่กระชั้นชิด จากเริ่มปวด ตึง ๆ กลายเป็นปวดร้าว
ซึ่งสะท้อนว่า“กล้ามเนื้อ” เริ่มได้รับบาดเจ็บ เช่นเดียวกับ สามี พ่อแม่ แม้แต่ลูกชายก็บ่นเรื่อง “อาการปวด” ถี่ขึ้น แต่ละคนจะปวดต่างจุดต่างตำแหน่งทำให้ฉันเริ่มสนใจอาการ “ปวด” อย่างจริงจังขึ้น เพื่อหาวิธีป้องกันและบรรเทา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นวิธีที่เราสามารถพึ่งตัวเองได้จะถือว่าตอบโจทย์ ตรงใจ
แต่ถ้าอาการปวดลุกลามบานปลาย การพึ่งพาคุณหมอ หรือรับประทานยา ก็เป็นวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้เราสามารถกลับมาฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้นในภายหลัง ปักษ์นี้ เลยจะขอแชร์ประสบการณ์บรรเทาปวดของตัวเอง และคนในครอบครัว โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่กำลังเผชิญอาการปวดกันค่ะ
ทำไมฉันถึงปวด..++
ความสงสัยแรกของฉันเลยคือ ทำไมฉันจึงปวด นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิต อธิบายกลไกความปวดของร่างกายให้ฟังว่า “ความปวด (Pain) เป็นปฏิกิริยา ที่ทำให้ร่างกายเอาตัวรอดได้ในยามที่อยู่ในภาวะอันตราย หรือฉุกเฉิน กลไกของอาการปวด เกิดจากร่างกายมีระบบปลายประสาทที่รับความเจ็บปวดเข้ามา พอรับความเจ็บปวดแล้วจะส่งข้อมูลเข้าสู่เส้นประสาท แล้วมาสู่สมองส่วนกลาง
โดยคำสั่ง จะโดนแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง จะส่งไปที่สมองส่วนบนเพื่อแปลผลว่ าเรากำลังปวดแขนปวดขาอยู่ ส่วนคำสั่งที่สอง จะเป็นคำสั่งหรือการตอบสนองแบบรีเฟล็กซ์ คือ เมื่อความปวดวิ่งไปที่ไขสันหลัง วงจรอีกวงจรหนึ่งจะตีกลับไปที่ระบบสั่งงานร่างกายให้มีการตอบสนองทันที เช่น การสะดุ้ง เหมือนเวลาเอามือไปโดนความร้อน ก่อนที่มือจะร้อน เราจะสะดุ้งตัวเองออกมาก่อน หลักการของร่างกายจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด
ส่วนลักษณะการเจ็บปวดของอวัยวะแต่ละที่ ขึ้นอยู่กับต่อมรับความรู้สึก เช่น ต่อมรับความรู้สึกที่ผิวหนัง จะมีต่อมรับอุณหภูมิด้วย ส่วนลำไส้ จะเป็นต่อมรับความเจ็บปวดจากความดัน หมายถึง เวลาปวดท้องลำไส้บีบตัวเกิดแรงดันในกระเพาะอาหารมาก เราจะรู้สึกปวดท้อง แต่สมมติว่า เอาเข็มไปจิ้มลำไส้ เราจะไม่รู้สึกปวด เพราะต่อมรับความรู้สึกจะรับความเจ็บปวดจากความดันเท่านั้น
จึงสรุปว่า ระบบรับความรู้สึกในแต่ละอวัยวะ จะมีความแตกต่างกัน ระบบรับความรู้สึกหลัก คือ ความเจ็บ อุณหภูมิ ความร้อน และบางอวัยวะจะมีต่อมรับความรู้สึกปวดหลายอย่าง เช่น ปากรับทั้งความร้อนและความขมพร้อมกัน หรือเรียกว่าเป็นตำแหน่งเซ้นสิทีฟ มีตัวรับหลายแบบพร้อมกันหลายจุด ส่วนกล้ามเนื้อ จะมีต่อมรับความเจ็บปวด เส้นเอ็นจะมีต่อมรับความเจ็บปวดหลายระดับ ส่วนข้อหรือพังผืด จะเป็นลักษณะอักเสบ บวมแดง และผิวหนังจะเจ็บแบบตรง ๆ อย่างรู้ตำแหน่งชัดเจน เช่น มีดบาด
นอกจากนี้ สมาคมนานาชาติที่ศึกษาเรื่องความปวด (IASP) ได้ให้คำนิยามของคำว่า Pain ไว้ว่า ความปวด (Pain) เป็นประสบการณ์ความรู้สึกที่ไม่สบาย เกิดจากการทำลายเนื้อเยื่อ หรือเสมือนหนึ่งมีการทำลายเนื้อเยื่อ ความปวดจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีทั้งความรู้สึก อารมณ์ ประสบการณ์ส่วนตัว ตลอดจนปัจจัยทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย
สามารถจำแนกความปวดตามระยะเวลาการเกิดได้เป็น 2 ข้อ คือ
- ความปวดเฉียบพลัน (Acute Pain) พบร้อยละ 80 ของความปวดทั้งหมด เป็นความปวดที่เพิ่งเกิดขึ้น มีระยะเวลาของความปวดที่จำกัด ปกติมักไม่เกิน 6 เดือน เป็นความปวดที่มีสาเหตุ เมื่อพยาธิสภาพหายไป อาการปวดก็หายไปด้วย เป็นความปวดที่ประเมินง่ายไม่ซับซ้อน ตัวอย่างความปวดชนิดนี้ เช่น อาการปวดแผลหลังผ่าตัดหรือหลังอุบัติเหตุเป็นต้น
- ความปวดเรื้อรัง (Chronic Pain) พบร้อยละ 15 – 20 ของความปวดทั้งหมด เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นนานกว่าระยะเวลาสมานของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ และบ่อยครั้ง ไม่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุของความปวดได้ ปกติมักเป็นความปวดนานเกิน 6 เดือน การประเมินความปวดเรื้อรังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องอาศัยระยะเวลาและมีเรื่องสภาวะจิตใจร่วมด้วย ตัวอย่างความปวดชนิดนี้ เช่น ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลังหรือคอ ปวดศีรษะ (ปวดแบบไซนัสอักเสบ) ข้ออักเสบหรือปวดข้อ ความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในบริเวณที่ปวด อาการชา รู้สึกซ่า ๆ หรือความรู้สึกอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ความปวดเรื้อรังมักมีอาการร่วมคือ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อารมณ์หงุดหงิด ความกระตือรือร้นและความคิดสร้างสรรค์ลดลง
เรื่อง ชมนาถ เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ ภาพจาก Pixabay
ชีวจิต 523 – คู่มือหยุดปวดตั้งแต่หัวจรดเท้า
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 กรกฎาคม 2563
บทความน่าสนใจอื่นๆ
Muscle Booster เพิ่มกล้าม หยุดปวด ด้วยแพทย์แผนจีน