เหลียวหลังมอง นิตยสารชีวจิต
ทำความรู้จัก นิตยสารชีวจิต นิตยสารสุขภาพที่มียอดขายสูงสุดของประเทศไทย กับปีที่ 26
นิตยสารชีวจิต ชื่อนี้มีที่มา
เริ่มต้นจาก คุณประพันธ์ ประภาสะวัต อดีตบรรณาธิการอำนวยการนิตยสารบ้านและสวน ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือมานาน นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสังเกตการณ์การก่อตั้งนิตยสารชีวจิต ได้กรุณาเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้เราฟังว่า…
“ผมได้ยินคำว่า “ชีวจิต” เป็นครั้งแรกจาก คุณชูเกียรติ อุทกะพันธ์ ตอนนั้นท่านป่วย และได้รักษาตัวเองตามแนวทางชีวจิต ท่านเลยนำมาเล่าให้ฟังว่า หลักการของชีวจิตนั้นให้ความสำคัญกับ 2 ส่วน คือ ร่างกาย และจิตใจ เริ่มจากเรื่องการกิน และการใช้ชีวิตเป็นหลัก คือ กินอาหารจากธรรมชาติ ต้องออกกำลังกาย เป็นหลัก นอกจากนี้ก็ต้องทำใจให้ปลอดโปร่ง แจ่มใส โดยส่วนตัวผมก็เชื่อมาตั้งแต่แรกแล้วล่ะว่ามันดี เพราะกระบวนการทั้งหมดมีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ
“ต่อมาคุณชูเกียรติก็แนะนำให้ผู้บริหารทุกคนไปลองปฏิบัติตัวตามแนวทางชีวจิตที่บ้านอาจารย์สาทิสที่เชียงใหม่ ประมาณ 10-20 คนได้ เราไปกัน 2-3 วัน
“…คืนนั้นเอง ในระหว่างที่เรากำลังนอนคุยกันในเรือนนอนยาว ๆ ของบ้านอาจารย์สาทิส คุณชูเกียรติก็บอกว่าจะทำหนังสือเกี่ยวกับชีวจิต และถามว่า จะชื่ออะไรกันดี มีการโหวตกันนะ บ้างก็ว่า “ให้ชื่อ ‘แพรวสุขภาพ’สิ” แต่บางคนก็บอกว่า “ใช้ชื่อชีวจิตตรง ๆ ไปเลย ดีกว่า เข้าใจง่ายดี” ผลสุดท้ายคุณชูเกียรติท่านเป็นคนสรุปว่า ให้ใช้ชื่อ ‘นิตยสารชีวจิต’
เชื่อว่า “หัวใจดี ๆ” มีอยู่ในทีมงาน นิตยสารชีวจิต
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประทับใจที่มีต่อชีวจิตในฐานะของคนทำงานหนังสือ คุณนวลจันทร์ ศุภนิมิตร อดีตบรรณาธิการอำนวยการของนิตยสารในเครืออมรินทร์ฯ หลายต่อหลายเล่ม รวมทั้ง ‘ชีวจิต’กล่าวว่า…
“เมื่อได้มาเป็นบรรณาธิการอำนวยการชีวจิต ได้สัมผัสกับทีมงานมากขึ้น ก็เลยรู้ว่าทีมงานเทใจทำงานกันอย่างเต็มร้อย ไม่ว่าจะกับข้อมูล หรือกับผู้ป่วย อย่างโครงการที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการกินและออกกำลังกายตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเด็กนักเรียนชั้นประถมก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในการซื้อหนังสือของเรา แต่เพราะทีมงานก็อยากให้เด็ก ๆ มีสุขภาพดี เติบโตมาเป็นคนที่สดชื่นแข็งแรง หรือแม้แต่การต้องทำงานกับคนที่เจ็บป่วย แต่ทุกคนก็ยังทำงานกันอย่างกระฉับกระเฉง ร่าเริง ดิฉันจึงเชื่อว่า ‘ชีวจิต’ รวมคนจิตใจดี คิดดี เอาไว้ด้วยกันจริง ๆ”
ท้ายสุด คุณนวลจันทร์ฝากถึงผู้อ่านทุกคนว่า…”อยากจะบอกกับคนที่ยังไม่แน่ใจในชีวจิต ว่าให้ทดลองปฏิบัติดู เอาเท่าที่ปฏิบัติได้ หรือทำแล้วสบายใจก็พอ เมื่อเห็นผลกับตัวเองแล้ว คุณก็จะเข้าใจว่าเราพูดถึงอะไร”
เมื่อ “กาแฟดำ” มองอดีตและอนาคต นิตยสารชีวจิต
เมื่อเอ่ยถึงคอลัมน์ “ไม้เกาหลัง” แฟน ๆ นิตยสารชีวจิตน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ด้วยวาทะที่คมคาย มุมมองทางด้านสุขภาพที่ชวนสะกิดใจให้นำไปขบคิดซึ่งแฝงไว้ในตัวหนังสือของ คุณสุทธิชัย หยุ่น นั้น เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า น่าสนใจและให้ประโยชน์ต่อผู้อ่านชีวจิตยิ่งนัก
“ผมคิดว่าผู้อ่านชีวจิตส่วนใหญ่เป็นผู้มี “จิต”กับ”ชีวิต” ไปในทางเดียวกัน คือมีความรู้ในเรื่องการดูแลจิตใจและร่างกายของตัวเองอยู่แล้ว แต่ผู้อ่านนิตยสารทั่วไปมักจะรู้จักแค่ “ชีวิต” คือรู้เฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพทางกายเป็นหลัก ความแตกต่างตรงนี้เอง ทำให้นิตยสารชีวจิตต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับผู้อ่านกลุ่มใหม่อยู่เสมอ”
“ในอนาคต นิตยสารชีวจิตควรเป็นนิตยสารที่เหมาะสำหรับคนทั่วไปคือ ตั้งแต่คนเพิ่งเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ไม่เฉพาะแค่คนป่วยอย่างที่เข้าใจกันในทุกวันนี้หรืออย่างน้อยที่สุด ชีวจิตก็ควรเป็นนิตยสารเพื่อสุขภาพอีกเล่มหนึ่งที่เด็ก ๆ จะต้องอ่าน เพราะถ้าหากปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีสุขภาพดีตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อโตขึ้น พวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีไปด้วย”
เมื่อถามถึงแนวโน้มการดูแลสุขภาพของไทยในอนาคต คุณสุทธิชัยได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เมื่อสังคมเครียด ผู้คนดิ้นรนเพื่อปากท้องกันมากขึ้น ต่อไปสุขภาพจิตคนไทยจะทรุดลงเรื่อยๆ คนไทยก็จะเพี้ยนและป่วยกันมากขึ้น ถึงวันนั้น ชีวจิตจะเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้อ่านมากขึ้นด้วย “
แม้ตัวจากไป แต่หัวใจรัก(สุขภาพ)ยังผูกพัน
ถึงแม้ นายแพทย์ ม.ร.ว. ธันย์โสภาคย์ เกษมสันต์ จะจากไปแล้ว แต่ช่วงเวลาที่ท่านเป็นคอลัมนิสต์ผู้เขียนถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลสุขภาพให้ผู้อ่านได้รับทราบ ท่านได้ให้ทั้งความรู้และกำลังใจ จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย คุณถนอมศรี เกษมสันต์ ภรรยาของคุณหมอธันย์ โสภาคย์ จะมาถึง ความผูกพันของคุณหมอที่มีต่อนิตยสารชีวจิตให้ฟังว่า
“ช่วงแรกที่นิตยสารออกคนก็เริ่มตื่นตัวเหมือนกันแต่ยังไม่มากเท่ากับทุกวันนี้ เห็นได้จากเมื่อก่อน คุณหมอจะต้องเป็นคนขอไปบรรยายเรื่องชีวจิตด้วยตัวเอง แต่ต่อมาพักหลังนี่ มีหน่วยงานเชิญคุณหมอไปบรรยายเอง มีทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย คนมาฟังกันเยอะมาก เมื่อเลิกบรรยายแล้วก็มารุมถาม เพราะเขาสนใจ
วิธีการดูแลสุขภาพคือมรดกอันมีค่าที่คุณหมอธันย์โสภาคย์มอบให้คนในครอบครัว รวมถึงความผูกพันของผู้อ่านนิตยสารชีวจิตที่มีต่อคุณหมอ “มีผู้อ่านที่รักใคร่ผูกพันกันนับตั้งแต่คุณหมอเขียนคอลัมน์จนคุณหมอเสีย เขาก็ยังโทรศัพท์มาหา และส่งการ์ดอวยพรปีใหม่มาให้เสมอ”
แม้คุณหมอธันย์โสภาคย์จากไปแต่ความรักและความหวังดีที่ท่านมีต่อผู้อ่านชีวจิตก็ยังทอสายใยอยู่ไม่จากไปไหน เช่นเดียวกับผู้อ่านนิตยสาร และทีมงานในนิตยสารชีวจิตที่ยังรักและเคารพคุณหมอธันย์ในฐานะครูผู้อุทิศตน และคอลัมนิสต์ในดวงใจของผู้อ่านตลอดไป
โดนใจ “ใช่เลย”
ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ช่วยผลักดันให้นิตยสารชีวจิตค่อยๆเติบโต และยืนหยัดอย่างสง่างามจนกระทั่งปัจจุบัน คือ ผู้อ่านของเรา
คุณเต็มใจ อารยะพงษ์ สมัครเป็นสมาชิกตั้งเล่มแรก ให้เหตุผลว่า “อาจเป็นเพราะดิฉันเป็นเด็กต่างจังหวัด(นครราชสีมา) อยู่กับปู่ย่าตายายที่ดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติ ตอนเด็ก ๆ เวลาไม่สบาย ถ้าอาการไม่รุนแรงมากนัก ท่านก็จะใช้ภูมิปัญญามาช่วยดูแลเรา เช่น เวลาท้องเสียก็ต้มใบฝรั่งกับน้ำสะอาดดื่ม หรือเวลามีอาการช้ำในก็นำน้ำตาลทรายแดงมาชงดื่มกับน้ำ แค่นี้อาการก็ทุเลาลง และชีวจิตก็มาช่วยตอกย้ำว่าร่างกายเรารักษาตัวเองได้ เราสามารถดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ โดยอิงธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ต้องทำอะไรพิสดาร ก็มีสุขภาพแข็งแรงได้”
เพื่อนผู้อาสา..หาข้อมูลมาฝาก
ด้าน คุณจิระประภา พิริยะพันธ์ สมาชิกอีกคนหนึ่งที่ปักใจกับชีวจิตเพียงเล่มเดียวเช่นกันกับคุณเต็มใจ เล่าถึงหลากหลายเรื่องราวประทับใจที่เธอมีต่อชีวจิตดังนี้
“อ่านชีวจิตแล้วทำให้รู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ข้อมูลที่ชีวจิตอาสาไปค้นหามาให้เป็นทั้งการบอกข่าวสาร และเตือนให้เราระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ทั้งยังมีความหลากหลาย เช่น ข่าวงานวิจัยสุขภาพต่าง ๆ วิธีการดูแลสุขภาพตัวเองก่อนและหลังป่วย เรื่องราวของคนที่ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ว่าเขาต่อสู้ชีวิตมาอย่างไรบ้าง ทำให้เราได้พลังใจ ไม่ท้อแท้กับปัญหา ทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ รวมทั้งได้รู้เรื่องของสังคมทั่วไปในหลาย ๆ เรื่อง”
“พอรู้ข้อมูลเรื่องสุขภาพมาก ๆ ทำให้ดิฉันเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปโดยปริยาย เช่น ออกกำลังกายทุกวัน มองโลกในแง่ดีขึ้น โดยเฉพาะการกิน เมื่อก่อนเวลาหิวทีก็จะรีบเข้าร้านข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู หรือร้านที่กินง่าย และอร่อยถูกปาก แต่ตอนนี้ไม่แล้ว จะเลือกเข้าร้านอาหารสุขภาพแทน ถ้าอยู่บ้านจะต้มน้ำอาร์.ซี. ทำน้ำเอนไซม์ ทำอาหารด้วยผักปลอดสารพิษ และกินข้าวกล้อง อาการลมพิษ ท้องผูกที่เคยเป็นหายไปแล้ว ส่วนโรคภูมิแพ้ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างที่ชีวจิตบอกว่า ‘เราคือหมอที่ดีที่สุดของตัวเอง”
เพราะเข้าใจชีวจิต…จึงเข้าใจถึงผู้อ่าน
สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นอีกหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้นิตยสารสุขภาพฉบับนี้เป็นที่หนึ่งครองใจผู้อ่านผู้รักสุขภาพเสมอมา นั้นคือเอเย่นต์ หรือผู้แทนจำหน่ายนิตยสารชีวจิตของเรานั่นเอง
คุณประณอม ทิพย์สมุทรนาวิน อายุ 64 ปี ผู้แทนจำหน่ายนิตยสารในเครืออมรินทร์และเจ้าของร้านหนังสือประณอม อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ย้อนเล่าถึงการจำหน่ายนิตยสารชีวจิตเล่มแรกให้ฟังว่า
“ตอนนั้นดิฉันยังคิดในใจว่าจะดังหรือ เพราะเข้าใจว่าหนังสือแนวนี้นอกจากจะเติบโตยากแล้ว ในยุคนั้นผู้คนยังไม่ค่อยใส่ใจดูแลสุขภาพเหมือนสมัยนี้ เรียกว่าอาหารสุขภาพหรือการออกกำลังกายยังมีอยู่น้อย แล้วผู้อ่านจำนวนมาก รวมถึงตัวดิฉันเอง ก็ยังไม่รู้จักว่าชีวจิตคืออะไร”
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเธอได้มีโอกาสเข้าร่วมคอร์สชีวจิตกับบรรดาตัวแทนร้านหนังสือและผู้แทนจำหน่ายนิตยสารในเครืออมรินทร์ เมื่อวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2541 ที่เดอะเลกาซี ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี
“สิ่งที่ได้กลับมาล้วนเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง เพราะจากเมื่อก่อนที่ไม่เคยรู้จักว่าดีท็อกซ์คืออะไร น้ำอาร์.ซี.ดีอย่างไร จึงได้มาเรียนรู้และปฏิบัติจริง” และเธอได้แบ่งปันความรู้ที่ได้ให้แก่คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนใกล้ชิด รวมทั้งแนะนำให้ผู้ซื้อได้ติดตามอ่าน จนหลายคนกลายมาเป็นสมาชิกขาประจำของนิตยสารชีวจิต
คุณประณอมพูดทิ้งท้ายให้ฟังต่อว่า “ทุกวันนี้ ถึงแม้จะมีนิตยสารแนวสุขภาพมากมายหลายสิบเล่มบนแผงหนังสือ แต่ต้องยกย่องว่านิตยสารชีวจิตยังคงมียอดจำหน่ายที่สูงและเติบโตเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี นิตยสารอยู่บนแผงได้อย่างสง่างามนั้น เพราะนิตยสารชีวจิตเป็นผู้ชี้แนะและกระตุ้นเตือนให้คนเราหันมาดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองมากขึ้น จึงไม่ใช่แค่เพียงหนังสือทั่วไปที่อ่านผ่าน ๆ แล้วจบกัน แต่ชีวจิตมีประโยชน์สำหรับชีวิตและสุขภาพของทุก ๆ คนอย่างแท้จริงค่ะ”
ข้อมูลเรื่อง นิตยสารชีวจิต
บทความอื่นที่น่าสนใจ
บริหารลำไส้ ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน
ติดตามชีวจิตได้ที่