ประโยชน์ของมะเขือเทศ ได้มากกว่าแค่แก้มแดง
ในยุคสมัยที่ผู้คนหันมาสนใจบำรุงผิวพรรณตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทา การฉีดสารเคมีต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ง่ายและสะดวกสบายต่อคนในยุคสมัยนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะมาแนะนำการรับประทานผลไม้เพื่อสุขภาพ ทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้ผิวดูดีขึ้น เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ทั้งภายนอกและภายใน สวยจากภายในสู่ภายนอกกันเลยทีเดียว นอกจากจะสวยแบบคลีน ๆ สุขภาพดีแล้ว ยังปลอดสารพิษอีกด้วย เรียกได้ว่า ประโยชน์ของมะเขือเทศ มีมากมายมหาศาลเลยค่ะ
มะเขือเทศ คืออะไร?
“มะเขือเทศคือผลไม้” ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามของหลักทางพฤกษศาสตร์ เพราะผลไม้คือส่วนของรังไข่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ของพืชดอก ส่วนผักคือพืชที่กินได้ของพืชล้มลุก ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ก้าน หัว หน่อ ดอก ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่ามะเขือเทศคือผักเพราะนำไปใช้ประกอบอาหารกันเป็นส่วนใหญ่ และมักคิดว่าผลไม้คือสิ่งที่ให้ความหวานนั่นเอง โดยมะเขือเทศที่นิยมรับประทานมากคือ มะเขือเทศสีดา มะเขือเทศราชินี
สารอาหารในมะเขือเทศ
ไม่เพียงแต่รสชาติเปรี้ยวอมหวาน แต่ยังให้พลังงานและแร่ธาตุอีกมากมาย “มะเขือเทศ” ผลไม้สุดอัศจรรย์ที่ให้ไลโคปีน (Lycopene) ถึง 2,573 ไมโครกรัม ต่อมะเขือเทศสีแดงสด ปริมาณ 100 กรัม แต่นอกจากนั้นแล้ว ประโยชน์ของมะเขือเทศ ยังมีอีกมากมาย
ไลโคปีนในมะเขือเทศ
ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารที่สำคัญที่สามารถพบได้ในมะเขือเทศ จัดเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง ใน 600 ชนิด สามารถพบไลโคปีนได้ในมะเขือเทศ แตงโม เกรพฟรุตสีชมพู และมะละกอ เป็นต้น สามารถพบไลโคปีน (Lycopene) ในปริมาณตั้งแต่ 0.9 – 9.30 กรัม ใน 100 กรัม ของมะเขือเทศสด ไลโคปีน (Lycopene) ช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ชัดเจนที่สุดคือมะเร็งต่อมลูกหมาก รองลงมาคือมะเร็งปอด เป็นต้น จึงนับว่าเป็นสารอาหารที่ค่อนข้างมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง
มะเขือเทศที่ผ่านความร้อน จะทำให้การยึดจับของไลโคปีน กับเนื้อเยื่อของมะเขือเทศอ่อนตัวลง ทำให้ร่างกายนำไลโคปีนไปใช้ได้ดีกว่าการรับประทานสด เพราะมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนแล้วจะเปลี่ยนรูปแบบไลโคปีนแบบ“ออลทรานส์”(all-trans-isomers)เป็นชนิด “ซิส”(cis -isomers) ซึ่งเป็นชนิดที่ละลายเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า
วิตามินซี ในมะเขือเทศ
นอกจากรสเปรี้ยวอมหวานที่ทำให้รู้สึกสดชื่นแล้ว มะเขือเทศยังให้วิตามินซีสูงมาก ๆ ซึ่งวิตามินซีนั้น จัดว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย มีประโยชน์มากมาย อย่างเช่น ช่วยเสริมภูมิต้านทาน และซ่อมแซมเนื้อในร่างกาย ช่วยชะลอวัย และลดริ้วรอยแห่งวัย เป็นต้น
โพแทสเซียม ในมะเขือเทศ
น้ำมะเขือเทศหนึ่งแก้วนั้นให้โพแทสเซียม (Potassium) สูงมาก ๆ มีการวิจัยและเก็บข้อมูลจากมะเขือเทศหนึ่งผลปริมาณ 100 กรัมว่า ให้ธาตุโพแทสเซียม (Potassium) ถึง 237 มิลลิกรัม เลยทีเดียว
สรรพคุณ และประโยชน์ของมะเขือเทศ
มะเขือเทศจะช่วยในเรื่องการลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรค เช่น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงจากเส้นเลือดตีบ ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ รวมไปถึงมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการรักษาสุขภาพเหงือกและฟัน อย่างโรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน ป้องกันอัลไซเมอร์ (โรคสมองเสื่อม) และช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดทางด้านผิวพรรณ มะเขือเทศช่วยบำรุงให้ผิวพรรณนุ่มชุ่มชื่น ไม่แห้งกร้านทำให้ผิวเต่งตึงสดใส ลดการเกิดสิว ทั้งยังช่วยลดและชะลอริ้วแห่งวัยอีกด้วย
ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรทานหรือดื่มน้ำมะเขือเทศ จริงหรือไม่ ?
จริง ๆ แล้วสามารถรับประทานได้แต่ควรรับประทานแต่พอเหมาะ ถึงแม้มะเขือเทศจะมีโพแทสเซียมสูงมากก็จริง แต่ว่าก็ยังมีโซเดียมที่เกิดจากธรรมชาติ ถ้ารับประทานมากไปจะทำให้ติดรสเค็มของโซเดียมที่มาจากมะเขือเทศ จึงอาจจะให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์ เพราะฉะนั้นรับประทานแต่พอเหมาะจึงจะดีกว่า
กินมะเขือเทศให้ได้ประโยชน์
สำหรับคุณผู้หญิงที่อยากผิวพรรณสดใส แนะนำให้ทานมะเขือเทศแบบสด หรือเป็นแบบน้ำมะเขือเทศคั้นสด (ไม่ใช่แบบกล่อง) จะได้ปริมาณวิตามินซีที่สูงกว่า ส่วนคุณผู้ชายที่อยากจะลดภาวะความเสี่ยงที่อาจจะก่อเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้นำมะเขือเทศไปปรุงสุกผ่านความร้อน จะทำให้ได้รับสารไลโคปีนที่มากกว่า จะสามารถช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ส่วนท่านใดที่ยังเป็นมือใหม่รู้สึกยังไม่คุ้นชินกับการกินมะเขือเทศ สามารถลองนำมะเขือเทศไปปั่นเป็นสมูทตี้ร่วมกับผลไม้อื่น ๆ เพื่อที่สามารถทำให้รับประทานได้ง่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมะเขือเทศก็เป็นผลไม้ที่หาทานได้ง่ายและมีรสชาติถูกปาก ถูกใจใครต่อใคร แต่ก็ต้องรับประทานอย่างเหมาะสมไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป ก็จะช่วยให้ไม่เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ ดังนั้นเราลองหันมารับประทานมะเขือเทศเพื่อสุขภาพและผิวพรรณกันเถอะ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แจกสูตรน้ำผัก บำรุงดวงตา ห่างไกลโรค
ระวังนะ! ไม่กินผัก เสี่ยงหลายโรค
ปลูกผักกินเอง ทำยังไง ดีจริงไหม
ที่มา
- สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุรินทร์
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- วารสารวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (2023)