จันทร์เทศ สมุนไพรชูรส ชูกลิ่น อุดมประโยชน์
วันนี้แอดจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอม ช่วยเพิ่มรสชาติ และยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต ได้ทั้งปรุงอาหาร และอยู่ในตำรับ สมุนไพรมากประโยชน์ที่ว่าก็คือ จันทร์เทศ
โดยครั้งนี้ คุณเกมส์ – สิทธิโชค ศรีโช นักเขียนผู้คร่ำหวอดทั้งในวงการอาหาร และผักพื้นบ้าน จะมาถ่ายความรู้ในเรื่องสมุนไพรตัวนี้ให้กับทุกคนได้รู้จักกันค่ะ
จันทน์เทศ 1 ปอนด์ แกะสามตัว และเกาะปีนัง
9 ปีก่อนฉันเคยไปเยือนปีนัง เมืองเกาะที่มีทะเลโอบล้อม มีภูเขา บ้านเมืองสวยงาม อาหารอร่อยเปี่ยมเสน่ห์ ทว่ากลิ่นอายความทรงจำของฉันต่อปีนัง กลับเป็นกลิ่นหอมของน้ำคั้นเนื้อผลจันทน์เทศแช่เย็นที่ยังประทับใจไม่รู้ลืม
คอลัมน์ ของกินพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นครั้งนี้ขอเล่าเรื่องเครื่องเทศยอดนิยมของเหล่าอีลีทนักล่าอาณานิคม ในสมัยศตวรรษที่ 14 – 19 จึงต้องเชื่อมโยงไปถึงเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย แต่จะว่าไปภาคใต้ของไทยก็มีผลไม้ชนิดนี้
และนำมาแปรรูปเป็นล่ำเป็นสัน ดังนั้นจึงถือว่าที่ยกวัตถุดิบนี้ มาเอ่ยถึง ไม่ได้เกินขอบเขตของคอลัมน์นี้
จันทน์เทศ @ปีนัง
ปีนังเป็นเกาะ และเมืองหนึ่งในประเทศมาเลเซีย มีทั้งทะเลและภูเขา ภูมิศาสตร์ละม้ายคล้ายกันกับจังหวัดภูเก็ตของไทย จนถูกยกให้เป็นเมืองฝาแฝด ตอนที่ไปเยือนปีนังครั้งแรก จำได้ชัดเจนว่าแดดของเมืองนี้ร้อนแผดเผาเอาเรื่อง แต่ความสวยของเมือง และตึกรามบ้านช่องสไตล์ชิโนโปรตุกีส ก็ชวนให้เราเดินชมอย่างเพลินใจ (แม้เหงื่อจะไหล
ไคลจะย้อย)
ตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ จะมีสเตชั่นเล็กๆ ที่ชาวบ้านจะนำน้ำดื่มบรรจุขวดแช่เย็นมาวางขาย มีทั้งน้ำอ้อยคั้นบีบเลมอน น้ำส้มจี๊ดผสมบ๊วย (ส้มจี๊ดที่ว่านี้ คนทางนั้นเรียกว่า Calamansi เป็นลูกผสมระหว่างส้มจี๊ดกับส้มอีกชนิดหนึ่ง) แต่ที่สะดุดใจคนรักกลิ่นรสเครื่องเทศอย่างฉันก็คือ น้ำลูกจันทน์เทศคั้นสดสีขาวขุ่นผสมน้ำตาล รสเปรี้ยวติดปร่าๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเจือกลิ่น คล้ายกลิ่นทึนนิด ๆ ที่คนไม่ชอบอาจจะบอกว่าเหม็น
มีเรื่องเล่ากันว่าจันทน์เทศ หรือ Nutmeg ในภาษาอังกฤษ Lau Hau ในภาษาฮกเกี้ยน หรือ Buah Pala ในภาษามาเลเซียนี้ ถูกนำเข้ามาสู่ปีนัง เป็นครั้งแรกโดยบริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งนำมาจากหมู่เกาะโมลุกกะของประเทศอินโดนีเซียอีกที ก่อนเพาะปลูกขึ้นในพื้นที่เมือง Balik Pulau ที่อยู่ตอนกลางของปีนัง รวมถึงเขตตะวันตกเฉียงเหนือ
ของเมืองด้วย
จันทน์เทศจากปีนังขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก ในอดีตมูลค่าของลูกจันทน์เทศ 1 ปอนด์เทียบเท่ากับแกะ 3 ตัวเลยเชียว เพราะเจ้าเครื่องเทศนี้เป็นวัตถุดิบของเหล่าเศรษฐีที่ใช้แสดงถึงความร่ำรวย ร้านอาหารที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจะประดิษฐ์ที่ขูดเมล็ดจันทน์เทศด้วยโลหะ และนำเมล็ดจันทน์เทศมาขูดใส่อาหารโชว์ให้ลูกค้าเห็น
รสและสรรพคุณทางยาของจันทน์เทศ
เช้าวันหนึ่งฉันไปเดินเล่นที่ตลาดสดในเมืองปีนัง ได้เห็นผลจันทน์เทศสด ๆ วางขายกับตาครั้งแรก ดูคล้ายกับผลกระท้อน แต่มีขนาดเล็กย่อมลงมาเท่าลูกกอล์ฟ และมีผิวเปลือกสีเหลืองโทนเดียวกัน เพียงแต่เรียบกว่า ไม่เป็นร่องขรุขระ บางผลที่สุกแก่จัด เนื้อผลจะปริแยกบริเวณกลางผล โชว์ให้เห็นเมล็ดจันทน์เทศสีน้ำตาลที่มีรกหุ้ม เมล็ดสีแดงห่อหุ้มอยู่อีกที จึงถึงบางอ้อว่าที่สมัยเรียนแพทย์แผนไทยเราเรียกว่าดอกจันทน์เทศนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ดอก แต่เป็นรกหุ้มเมล็ด
ส่วนเมล็ดของจันทน์เทศจะมีเปลือกสีน้ำตาลแข็งๆ หุ้มคล้ายเปลือกเมล็ดมะขามคั่ว พอนำไปตากแห้งและทุบเปลือกนั้นแตกก็จะพบเมล็ดด้านในที่มีกลิ่นหอม ส่วนนี้เราเรียกว่าลูกจันทน์เทศนั่นเอง ซึ่งทั้งสองส่วนที่กล่าวถึงเป็นสมุนไพรไทย
ตำราสรรพคุณยาไทยกล่าวไว้ว่า ลูกจันทน์ซึ่งหมายถึงเนื้อในเมล็ดนั้นมีรสหอมฝาดหวานสุขุม มีสรรพคุณ
- แก้กระหายน้ำ
- บำรุงกำลัง
- แก้ลม
- แก้จุกเสียด
- แก้กำเดา
- แก้ท้องร่วง
- แก้ปวดขัดมดลูก
- ขับลมในลำไส้
- บำรุงโลหิต
- แก้บิด
- บำรุงธาตุ
ขณะที่ดอกจันทน์ซึ่งหมายถึงรกหุ้มเมล็ดนั้นมีรสหอมฝาดร้อน มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงผิวเนื้อให้เจริญ สมุนไพรทั้งสองนี้จึงถูกใช้ในตำรับยาไทยหลากหลาย ทั้งกลุ่มยาหอม เช่น ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมอินทจักร์ และในกลุ่มยารักษาระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาธาตุบรรจบ ยาประสะเจตพังดี เป็นต้น
สำหรับอาหารไทย เครื่องเทศสองชนิดนี้เป็นส่วนผสมในพริกแกงมัสมั่น ซึ่งต้องนำไปคั่วให้หอมก่อนนำมาโขลกรวมกับ ส่วนผสมอื่นๆ ที่นำมาคั่วจนหอมเช่นกัน
อาหารอร่อยจากจันทน์เทศ
ในปีนัง ทั้งเนื้อในเมล็ดลูกจันทน์เทศและรกหุ้มเมล็ดนี้ถูกนำไปใช้ทั้งทำยา เครื่องสำอาง และว่ากันว่าเครื่องดื่มสีดำยอดนิยมยังมีส่วนผสมของน้ำมันลูกจันทน์เทศของปีนังด้วย น้ำมันเมล็ดจันทน์เทศยังถูกนำไปใช้แต่งกลิ่นอาหาร และขนมหลายชนิด กลิ่นรสของรกหุ้มเมล็ดและเนื้อในเมล็ดจันทน์เทศนี้เอง คือเอกลักษณ์ของเกี่ยมฉ่าย และซุปเป็ดสไตล์บาบำ-ย่าหยาตำรับปีนัง ซึ่งบ่งแยกความแต่กต่างของอาหารสไตล์บาบำ-ย่าหยา เมนูเดียวกันนี้ในเมืองมะละกาและประเทศสิงคโปร์
เนื้อผลของผลจันทน์เทศมีสีขาวนวล เนื้อแน่น กลิ่นหอม คนจีนฮกเกี้ยนในปีนังนิยมนำมาแช่อิ่ม กับชะเอม นำไปเคี่ยวกับน้ำตาลกรวด ได้น้ำเชื่อมลูกจันทน์เทศไว้ผสมน้ำเป็นเครื่องดื่มหอมๆ เย็นๆ กินแล้วชื่นใจ หรือเชื่อมจนอิ่มน้ำตาลเป็นสีชมพูแล้วนำมาคลุกกับน้ำตาล หากจะเรียกแบบไทย ๆ ว่า “ลูกจันทน์เทศหยี” ก็คงไม่ผิดอะไร ขนมอย่างหลังนี้ เพื่อนรักของฉันซึ่งเป็นคนภูเก็ตมักซื้อติดไม้ติดมือมาฝากเสมอ เพราะในจังหวัดภูเก็ตและพังงามีกลุ่มแม่บ้านที่ทำขายกัน
กลับจากเที่ยวปีนังครานั้น ฉันหอบเจ้าผลจันทน์เทศกลับไทยมาด้วยเต็มกระเป๋าเดินทาง ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเอามาทำอะไร เพราะเขาขายกันแค่กิโลกรัมละไม่กี่ริงกิตคิดเป็นเงินไทยตอนนั้นตกราวๆ 30 บาท สุดท้ายมาจบลงที่ปั่นละเอียดแล้วกวนกับน้ำผึ้ง ได้แยมสีส้ม ๆ กลิ่นหอม รสอร่อย (สำหรับฉัน) ไว้ทาขนมปัง หรือปาดกินกับสโคนก็โดนใจไม่น้อย
กลิ่นรสของเนื้อผลจันทน์เทศนั้นไม่ได้พึงใจใครทุกคนเรื่องรสนิยมนี้ก็นานาจิตตัง ไม่มีใครถูกหรือผิด อุปมาไปก็คล้ายกับคนเราที่มีทั้งคนรักชอบและคนเกลียดชังเป็นธรรมดาวิถีโลก แต่ถ้าเราตั้งสติสักนิดจะพบว่าทุกคนต่างเป็นเพียงเพื่อนผู้ร่วมเผชิญสังสารวัฏด้วยกันทั้งนั้น เช่นนั้นแล้วจะเกลียดกันไปทำไม เพราะสุดท้ายที่ไขว่คว้าดิ้นรนหรือเกลียดชังกันมากมายต่างก็ไร้ความหมายในที่สุด
ที่มา นิตยสารชีวจิต ฉบับ 593
บทความอื่นที่น่าสนใจ
6 ถั่วมหัศจรรย์ ยิ่งกินยิ่งอายุยืน
10 สูตรน้ำผักผลไม้ ยกร่างใหม่ สดใส เป๊ะปัง
22 SUPER THAI HERBS สมุนไพรไทยสู้ไวรัส กินเสริมภูมิคุ้มกัน