Ginger Soup

Ginger Soup สูตรสุขภาพ ขับเหงื่อขจัดสารพิษผิวหนัง

สายสุขภาพห้ามพลาดเลยค่ะ เพราะวันนี้เรามีสูตรเมนูสุขภาพ ที่ช่วยขจัดสารพิษที่ผิวหนังได้ นั่นก็คือเมนู  Ginger Soup นั่นเอง ส่วนเมนู Ginger Soup จะมีวิธีทำอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ

Ginger Soup เมนูสุขภาพช่วยขจัดสารพิษที่ผิวหนัง “การขับเหงื่อ” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สารพิษในระดับผิวหนังถูกขับออกไป ซึ่งหากคุณออกกำลังกายประจำอยู่แล้วก็ไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ถ้าไม่ค่อยมีเวลา ลองปรุงซุปขิงอุ่น ๆ ถ้วยนี้รับประทานดู

เพราะ ขิง มีความเผ็ดร้อนในตัว นอกจากจะช่วยต้านหนาวในฤดูนี้ได้ดีแล้ว ยังช่วยส่งเสริมระบบการย่อยอาหารให้เป็นไปอย่างปกติ ขับลม และแก้วิงเวียนได้ดีทีเดียว ที่สำคัญ ยังช่วยขับเหงื่อเพื่อขจัดสารพิษที่ผิวหนังให้คุณได้ในแต่ละช้อนซุปอีกด้วย

Ginger Soup สูตรสุขภาพ ขับเหงื่อขจัดสารพิษผิวหนัง

Ginger Soup

ขั้นตอนการทำ Ginger Soup

ส่วนผสม Ginger Soup  (สำหรับ 4 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 45 นาที

  • ขิงอ่อน ปอกเปลือกซอยบาง 3 ถ้วย
  • มันฝรั่ง หั่นเต๋า 3 ถ้วย
  • หอมหัวใหญ่สับ ½ ถ้วย
  • ต้นหอมฝรั่งซอย 1 ถ้วย
  • ไวน์ขาว ¼ ถ้วย
  • วิปปิ้งครีมสด ½ ถ้วย
  • น้ำสต๊อกไก่ 6 ถ้วย
  • เกลือ 1½ ช้อนชา
  • น้ำมันมะกอกสำหรับผัด 3 ช้อนโต๊ะ
  • หอยเชลล์สด กุ้งทะเลสด เนื้อปลาทะเลสดหั่นเป็นชิ้นพอคำ 2 ถ้วย
  • พริกไทยดำป่นเล็กน้อย
  • ผักชีสำหรับตกแต่งเล็กน้อย

วิธีทำ Ginger Soup 

1. อุ่นน้ำสต๊อกให้เดือด แล้วใส่เครื่องทะเลลงลวกจนสุก ตักขึ้นพักไว้
2. ผัดหัวหอมสับกับน้ำมันมะกอกด้วยไฟอ่อนจนสุกใส จึงใส่ ขิง ต้นหอม พริกไทย มันฝรั่ง ลงผัดสักครู่ เมื่อผักที่ผัดไว้เริ่มสุกนิ่มเติมไวน์ขาว เร่งไฟขึ้นผัดต่ออีกประมาณ 1 นาที เติมน้ำสต๊อกที่ได้จากข้อ 1 ลงไปลดไฟลงเป็นไฟกลางค่อนไปทางอ่อน ต้มส่วนผสมจนมันฝรั่งนิ่ม ปิดไฟ พักให้เย็น
3. นำส่วนผสมข้อ 2 ที่เย็นแล้วใส่ลงในเครื่องปั่นแล้วปั่นจนได้ซุปเนื้อละเอียดเนียนดีกรองผ่านกระชอน ใช้ทัพพียีส่วนผสมซุปให้ผ่านกระชอนลงไปมากที่สุด เทซุปที่ได้กลับใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟกลางให้ร้อนอีกครั้ง เมื่อส่วนผสมร้อนแล้วปิดไฟ เติมครีมสด คนพอเข้ากัน ตักซุปใส่ถ้วย แล้วใส่เครื่องทะเลที่ลวกไว้ลงไป โรยด้วยผักชี ก็จะได้Ginger Soup พร้อมเสิร์ฟค่ะ

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 320.13 กิโลแคลอรี
โปรตีน 18.73 กรัม ไขมัน 14.76 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 27.46 กรัม ไฟเบอร์ 6.47 กรัม

สูตร : ครัว H&C เรื่อง : สิทธิโชค ศรีโช ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : พิศุภางค์, สตรีรัตน์ ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : กษมา แก้วจำนง ข้อมูลบทความเรื่อง “มะละกอสุกกับสุขภาพ” นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 360 เมษายน 2552

ประโยชน์ของ ขิง (Ginger)

♦ สรรพคุณทางยา

• ราก รสหวาน ขม เผ็ดร้อน ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ลม แก้บิด และช่วยเจริญอาหาร

 เหง้า รสหวาน เผ็ดร้อน ใช้ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้

 ต้น รสเผ็ดร้อน แก้จุกเสียด ขับลม แก้ท้องเสียและท้องร่วง

 ใบ รสเผ็ดร้อน แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ และใช้ฆ่าพยาธิได้

 ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ขัดปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร

 ผล มีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม แก้คอแห้ง แก้อาการระคายคอ เจ็บคอ แก้ไข้

 แก่น มีสรรพคุณแก้คัน

♦ ประโยชน์ต่อสุขภาพ

ลดอาการท้องอืด 

หากรู้สึกท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อยให้จิบชาน้ำขิงหรือกินขิงสดจะทำให้รู้ดีขึ้น  เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถช่วยขับลม และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ทำให้อาการท้องอืดบรรเทาลงได้ 

บรรเทาอาการไมเกรน

จากการศึกษาพบว่า การรับประทานขิงตอนที่อาการไมเกรนใกล้กำเริบนั้น จะช่วยทำให้ความเจ็บปวดจากอาการไมเกรนลดลงได้ เพราะขิงจะไปช่วยสกัดการฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่น แสดงให้เห็นอีกว่าขิงสามารถช่วยรักษาอาการไขข้ออักเสบ โดยพบว่าผู้ที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรครูมาตอยด์มีอาการลดลงเมื่อบริโภคขิงผงเป็นประจำทุกวัน

ช่วยป้องกันมะเร็ง

ขิงมีคุณสมบัติในการช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยมีการศึกษาพบว่าขิงช่วยทำให้เซลล์มะเร็งภายในรังไข่ตาย เพราะในขิงมีสารเคมีธรรมชาติที่ไปช่วยกระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอรเรส ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีขิงเป็นส่วนประกอบยังช่วยลดอาการอักเสบในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

บรรเทาอาการคลื่นไส้

โดยชาวเอเชียนั้นมักจะใช้ขิงในการช่วยบรรเทาอาการเมารถ หรือเมาเรือ นอกจากนี้ยังมีหลายการศึกษาพบว่าขิงสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอาเจียนหลังจากการผ่าตัด และยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดได้อีกด้วย

ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

มีการศึกษาใหม่พบว่า ขิงผงนั้นสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขิงร่วมกับยา เพราะขิงอาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษาได้ และควรติดตามผลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพราะหากรับประทานขิงมากเกินไปก็อาจจะทำให้ระดับอินซูลินลดลงมากเกินไปจนอยู่ในขีดอันตรายได้

ขอบคุณข้อมูล kapook

สูตรอาหารแนะนำอื่นๆ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.