นิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์”

เพื่อช่วยเหลือเด็กหูหนวกและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน

หนึ่งในประสาทสัมผัสที่เชื่อมโยงเรากับโลกภายนอกคือ “การได้ยิน” การได้ยินทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนได้ ดังนั้น เด็กๆที่เติบโตมาพร้อมกับภาวะความบกพร่องทางการได้ยิน โดยเฉพาะ ภาวะ “หูหนวก” เขาไม่สามารถใช้ศักยภาพในความเป็นมนุษย์ที่พึงมีได้เต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ การกลับมาได้ยินอีกครั้ง จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสุขภาพดีได้

หากใครสักคนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เด็กหูหนวกและผู้สูงอายุมีโอกาสได้ยินเหมือนคนปกติทั่วไป เท่ากับว่า เราได้มีส่วนร่วมในการคืนชีวิตที่มีคุณค่าให้กับเขาเหล่านั้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ลงบนภาพถ่ายของศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

เป็นที่มาของนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์”  ซึ่งจัดโดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ร่วมกับ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยฟังให้เด็กหูหนวก และผู้สูงอายุ

อาจารย์นันทวัฒน์ เล่าที่มาของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อช่วยเหลือเด็กหูหนวกว่า

“ปลายปี พ.ศ.2564 ผมได้จัดนิทรรศการเพื่อหารายได้ให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อนจบนิทรรศการ 2-3 วัน คุณครูจากมูลนิธิคนหูหนวกได้พาเด็กหูหนวกมาดูนิทรรศการและได้ ขอให้เราช่วยจัดนิทรรศการให้เด็กหูหนวกด้วย หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อผมได้หาข้อมูลทั้งจาก โรงเรียนคนหูหนวก คุณหมอ และโรงพยาบาล จนมั่นใจว่า การผ่าตัดสามารถช่วยการได้ยินของเด็กได้

“จึงได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อหาทุนสนับสนุนการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้เด็กหูหนวกจำนวน 3 ครั้ง มีรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27 ล้านบาทเศษ หลังจากนั้น มูลนิธิฯได้นำเงินรายได้ไปใช้ผ่าตัด 2 ครั้งแรกในปี พ.ศ.2565 และอีกครั้งในปี พ.ศ.2567 ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้เด็กหูหนวกไปแล้วจำนวน 38 คน

ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ และ คุณศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์

“ขณะนี้ยังมีเด็กหูหนวกอีกจำนวนหนึ่งที่รอคิวสำหรับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการคัดกรองและตรวจประเมินโดยโรงพยาบาลของรัฐที่ทำการผ่าตัดซึ่งคาดว่าเงินที่ยังมีอยู่จะสามารถนำไปใช้ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้เด็กได้อีกประมาณ 15 คน”

อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใส่เครื่องช่วยฟังให้กับเด็กหูหนวก และผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน เพราะเครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์เบื้องต้นที่ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินระดับไม่รุนแรง สามารถได้ยินเสียงในระดับหนึ่งซึ่งจะช่วยให้สามารถเรียนรู้และดำเนินชีวิตในสังคมได้ง่ายขึ้นและปลอดภัย อีกทั้งเครื่องช่วยฟังมีความจำเป็นต้องใช้ในเด็กที่รอการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม เพื่อช่วยกระตุ้นประสาทการได้ยินในระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ปัจจุบันมูลนิธิฯ ยังขาดแคลนเครื่องช่วยฟัง เนื่องจากมีจำนวนเด็กหูหนวกที่จำเป็นในการใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อกระตุ้นพัฒนาการการได้ยินจำนวนมาก รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินที่ไม่สามารถรอรับบริการของภาครัฐได้ มูลนิธิฯจึงได้ขอความอนุเคราะห์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ให้จัดนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์”

อาจารย์นันทวัฒน์ เล่าถึงความพิเศษของนิทรรศการในครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้มีการจัดผลงานทั้งสิ้น 66 ภาพ เป็นภาพของผม 31 ภาพ และเป็นภาพของศิลปินที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน 35 ภาพ ในส่วนภาพของผมเป็นภาพใหม่ทั้งหมดจากการที่ได้เดินทางไปเวนิส อียิปต์ โคเปนเฮเกน และอีกหลายๆที่ เป็นภาพดำขาว เก็บความสวยงามของแลนด์สเคปและธรรมชาติ”

การจัดนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์” มูลนิธิฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ลงบนภาพถ่ายของศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ จำนวน 10 ภาพมาร่วมจัดนิทรรศการด้วย

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินอีกหลายท่านมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานลงบนภาพถ่ายของ อาจารย์นันทวัฒน์ ได้แก่ มล.จิราธร จิรประวัติ คุณพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก รองศาสตราจารย์ ดร.สมโชค สินนุกูล คุณนักรบ มูลมานัส คุณอัชลินี เกษรศุกร์ คุณอาริญญา กันธิโน และคุณรักฟ้า ซูทเทอร์ลิน

รายได้จากการจำหน่ายภาพทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะได้มอบให้มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อจัดซื้อเครื่องช่วยฟังให้เด็กหูหนวก และผู้สูงอายุ จำนวน 200 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท

โดยนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์” จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 15-31 พฤษภาคม พ.ศ.2568 ณ Central: The Original Store ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ

อาจารย์นันทวัฒน์ทิ้งท้ายสำหรับการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือเด็กหูหนวกและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินไว้ว่า

“ผมคิดว่า เรามีหน้าที่ต้องช่วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเลย สิ่งที่ได้ทำไปแล้วก็บังเกิดผลชัดเจน เวลาที่ไปมูลนิธิฯ สิ่งที่ได้เห็นคือ เด็กหนูหนวกจำนวนหนึ่งได้ยินเสียงและสามารถใช้ชีวิตในโลกปกติเหมือนเด็กทั่วไป มีพัฒนาการที่ดีขึ้น นี่คือ ผลตอบกลับจากรายได้ที่เราจัดนิทรรศการขึ้นมา”

จึงอยากเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมชมนิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์”  พร้อมกับจับจองภาพเพื่อนำรายได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กหูหนวกและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.