ผักผลไม้ห้ามกินกับยา ป้องกันยาตีกัน

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา ป้องกันยาออกฤทธิ์ไม่ได้ประสิทธิภาพ

ไม่ใช่แค่ ชา กาแฟ นม ที่ห้าม ผักผลไม้ห้ามกินกับยา ก็มีเหมือนกัน เพราะหากกินเข้าไปพร้อมกับยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาที่กินได้ โดยมีผลทั้งในแง่การเพิ่มและลดประสิทธิภาพของตัวยา  หรือที่เราเรียกกันว่า ยาตีกัน

แต่ไม่ต้องกังวลไป ชีวจิตออนไลน์ รวบรวมเหล่าอาหาร สมุนไพรที่ทุกคนต้องรู้มาแนะนำจ้า

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา ช็อกโกแล็ต

ช็อกโกแลต 

มีสารสำคัญจำพวก ไทรามีน มีฤทธิ์กระตุ้นความดันโลหิตให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นคนที่กินยาความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด แถมดาร์กช็อกโกแลต ยังมีปริมาณสารคาเฟอีนสูง ทำให้ใจสั่น  อาจมีผลกับกลุ่มอาการโรคไทรอยด์  และลดประสิทธิภาพของการกินยานอนหลับได้ 

เกรปฟรุ๊ต

ผลไม้ที่อาจไม่ค่อยนิยมในไทยมากนัก แต่ใช่ว่าจะไม่มีผลต่อยาเลย หากเรากินร่วมกับยาบางชนิด เพราะมันจะเข้าไปทำปฏิกริยาเมตาบอลิซึมกับยา ทำให้เพิ่มระดับยาในเลือดสูงขึ้น เช่น ยา Statins ยาลดระดับคอเลสเตอรอล และในบางกรณีเข้าไปลดระดับยาในเลือดได้เหมือนกัน เช่น กลุ่มยาแอนตี้ฮิสตามีน  ยาแก้แพ้

เกรปฟรุ๊ค ผักผลไม้ห้ามกินกับยา

ชะเอม

ชะเอม

สมุนไพรที่ให้ความหวาน รสชาติหวานติดลิ้น การแพทย์แผนไทยใช้ในการขับเสมหะ เจ็บคอ บำรุงกำลัง ปัจจุบันนำมาสกัดแล้วผสมในอาหารมากมาย แทนน้ำตาลหรือสารให้ความหวาน  ในฉลากจะระบุว่า Licorice หรือ Glycyrrhizin  สารสำคัญในชะเอมนี้ จะไปลดประสิทธิภาพของกลุ่มยากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน  ยา Digoxin ที่ใช้รักษาโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือหัวใจวายได้ แถมผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงห้ามกินชะเอมด้วยนะ

โสม

สมุนไพรจีนมีฤทธิ์เป็นยารสร้อน เหมาะกับคนที่เลือดลมในร่างกายไม่ดี โดยที่โสมจะเข้าไปช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น แต่จะมีผลต่อยากลุ่มการแข็งตัวของเลือด เช่น  Warfarin Heparin  เพราะอาจทำให้มีผลข้างคียง อาการนอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด ปวดศีรษะ วิตกกังวล สมาธิสั้นได้ แถมโสมยังมีฤทธิ์ลดะดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย การกินร่วมกับยาเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา
รวมลิสต์ ผักผลไม้ห้ามกินกับยา เพราะอาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาที่กินได้

แปะก๊วย

เป็นสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดของสมอง และช่วยเพิ่มระดับความจำได้ การกินแปะก๊วยในปริมาณสูง อาจส่งผลต่อการกินยารักษาโรคชักได้ โดยแปะก๊วยไปลดประสิทธิภาพของยา แถมยังมีผลข้างเคียงอื่น ๆ อีกในผู้ป่วยที่กินยาซึมเศร้า ยาแก้อักเสบ และยาต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้สารสำคัญในแปะก๊วย ทำให้ระดับความดันเลือดต่ำลง และถ้ากินคู่กับยาเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปเช่นกัน

พริก

มีสารสำคัญแคปไซซิน มีฤทธิ์แก้อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ช่วยเร่งการเผาผลาญผลังงานในร่างกาย การกินพริกอาจทำให้เพิ่มการดูดซึมของยากลุ่ม ACE inhibitors ในผู้ป่วยโรคไต ที่เป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด และกลุ่มของยาต้านอาการซึมเศร้า และส่งผลให้มีอาการข้างเคียงอาการไอร่วมด้วยได้

กระเทียม

หรือกาลิก มีปริมาณสารอัลลิซินสูง เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ชั้นดี ช่วยลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ถ้าหากกินร่วมกับกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้ รวมไปถึงการกินร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน อาจทำให้ระดับอินซูลินต่ำลงจนเกินไป อาจทำให้วูบได้

ขิง

สมุนไพรรสร้อนมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการปวดไมเกรน ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด หากกินขิงมากเกินไปอาจส่งผลให้มีอาการเลือดออก หรือตกเลือดในระบบทางเดินอาหารได้  และยังไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารผลิตกรดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อลดลงนั่นเอง  นอกจากนี้ขิงยังสามารถลดระดับความดันเลือดและระดับน้ำตาลในต่ำลงได้ ผู้ที่กินยาความดันโลหิตสูงและยาเบาหวานต้องระมัดระวัง

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา

ผักผลไม้ห้ามกินกับยา

อีฟนิ่ง พรีมโรส

นิยมใช้รักษาอาการอักเสบ  ปวดประจำเดือน โรคหืด และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงการกิน โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังกินยาในกลุ่มของโรคลมชัก และโรคจิตเภท เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้

นมและผลิตภัณฑ์นมก็ห้ามกินกับยา

เนื่องจากนมมีปริมาณของแร่ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และเคซีน (โปรตีนจากนม) จึงทำให้อาจจะชะลอการดูดซึมยาบางชนิดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของยาแอนติไบโอติก หรือยาปฏิชีวนะ ดังนั้นแนะนำให้ดื่มนมหลังจากกินยาประมาณ 2 ชั่วโมง

รู้ก่อน ป้องกันได้ก่อน  แต่ถ้าไม่แน่ใจ กินยา อย่างไรควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรใกล้บ้านนะครับ

 อ่านเพิ่มเติม

กินยานอนหลับ มีผลเสียระยะยาว จริงหรอ ?

แก้กรดไหลย้อน ด้วยอาหารอร่อย ลดการใช้ยา

เบาหวาน อยากกินผลไม้ต้องอ่าน!

ข้อมูลอ้างอิง

1.Carol M. Bareuther . Dangerous Food-Drug Interactions. วารสาร Aging Well ,Vol. 1 No. 4

2.The National Consumers League and U.S. Food and Drug Administration. A void Food-Drug Interactions.

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.