หยุดปวด, ปวดหัว, ปวดหลัง, ปวดข้อ, ปวดไมเกรน

16 วิธี หยุดปวด ไมเกรน กล้ามเนื้อหลัง และข้อ

วิธีที่ 14 ฤาษีดัดตนป้องกันอาการปวดข้อมือ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า อาการปวดข้อมือที่พบได้บ่อยคือ กลุ่มของ Carpal Tunnel Syndrome ทำให้เกิดอาการกระดูกข้อมือเจ็บปวด ข้อกระดูกนิ้วมือเสื่อมและชา ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เช่น การกดแป้นพิมพ์ และการใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การจับเมาส์โดยมีข้อมือเป็นจุดหมุนอาจเกิดพังผืดบริเวณข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการชาจนไม่สามารถหยิบของได้ รวมไปถึงบุคคลที่มีอาชีพขายส้มตำ ช่างตัดผม ด้วยเช่นกัน

NATURAL PAINKILLER

ขอแนะนำท่าฤาษีดัดตน ท่าอวดแหวนเพชร ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ้วล็อก บริหารส่วนแขน ข้อมือนิ้วมือ ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น มีวิธีฝึกดังนี้

  • ท่าเตรียม นั่งชันเข่า
  • ท่าปฏิบัติ เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง และหงายฝ่ามือซ้ายขึ้น แล้วใช้มือขวาดัดที่บริเวณฝ่ามือซ้าย กางมือซ้ายออกแล้วค่อยๆ พับนิ้วทั้ง 5 ลงทีละนิ้วจนครบ สลัดข้อมือขึ้น - ลง ขณะที่กำลังกำมืออยู่ ทำ 5 - 10 ครั้ง แล้วสลับข้าง
ปวดข้อเท้า, หยุดปวด, ปวดข้อ, ข้อเท้าพลิก, ข้อเท้าแพลง
ผู้ที่เคยข้อเท้าพลิกมาก่อน ควรทำให้ข้อเท้าแข็งแรง ป้องกันข้อเท้าพลิกซ้ำ

วิธีที่ 15 กระต่ายขาเดียว ป้องกันข้อเท้าแพลงซ้ำ

อาการปวดข้อเท้าที่พบได้บ่อยคือ อาการข้อเท้าแพลงเกิดจากการพลิกของข้อเท้าทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ปวดและมีอาการบวม พบได้บ่อยในนักกีฬาหรือคนที่ใช้ข้อเท้าเยอะๆ การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบ การกระโดด หรือแม้กระทั่งการสวมรองเท้าส้นสูงก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดข้อเท้าแพลงได้

โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาการเท้าพลิกมาก่อนยิ่งต้องระวังและต้องทำให้ข้อเท้าแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดข้อพลิกซ้ำ

นักกายภาพบำบัด วรท เอกพินิจพิทยา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเท้าพลิกซ้ำ เพราะข้อเท้ามีเยื่อหุ้มข้อต่อและเอ็นอยู่รอบๆ ซึ่งมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับข้อต่อ นอกจากนี้ยังมีตัวรับ ความรู้สึก (Receptor) ของข้อต่อที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทรับความรู้สึก ดังนั้นคนที่เคยเท้าพลิกและเกิดการบาดเจ็บมาก่อนจะทำให้เยื่อหุ้มข้อและเอ็นเสียหาย และเกิดความบกพร่องของการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อ ปฏิกิริยาการตอบสนองอัตโนมัติมีความล่าช้าลง จึงเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายขึ้น และหากบาดเจ็บซ้ำๆ บ่อยๆ จะทำให้ข้อเท้าหลวมได้

NATURAL PAINKILLER

ข้อมูลจากวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise แนะนำวิธีฝึกการทรงตัวเพื่อกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อแบบง่ายๆ ที่สามารถป้องกันและลดการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลงซ้ำซ้อน โดยเรียงลำดับตามความง่ายไปยากดังต่อไปนี้

1. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง ลืมตา

2. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก ลืมตา

3. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง ลืมตา

4. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก ลืมตา

5. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง หลับตา

6. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก หลับตา

7. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง หลับตา

8. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก หลับตา

วิธีฝึก ควรอยู่ใกล้กำแพงเพื่อให้สามารถยึดจับกำแพงได้ และสามารถลืมตาได้ในขณะที่รู้สึกไม่มั่นคง ในการฝึกแต่ละครั้งให้ทำท่าละ 30 วินาที จำนวน 3 รอบ โดยมีช่วงพักในแต่ละรอบนาน 30 วินาที

 

สูตรแช่เท้า ลดอาการปวดเท้า - ข้อเท้า

ส่วนประกอบ 

ไพล ตะไคร้ มะกรูด ฝักส้อมป่อย เปลือกมังคุด เถาวัลย์เปรียง อย่างละ 1 ส่วน และการบูร 2 ช้อนชา

วิธีทำ 

นำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มในน้ำเดือด 15 นาที แล้วยกลง เติมการบูร แล้วผสมน้ำอุ่น นำมาแช่เท้า

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 9 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.