วิธีที่ 4 จิบชาขิงยามอากาศเปลี่ยนแก้ปวดไมเกรน
รายงานวิจัยจาก The New England Center for Headacheพบว่า ผู้ป่วยโรคไมเกรนจำนวน 62 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าอากาศมีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติการเจ็บป่วยจากอาการปวดศีรษะและข้อมูลเกี่ยวกับอากาศ พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 51 เปอร์เซ็นต์เกิดอาการปวดไมเกรนโดยมีสภาพอากาศเป็นตัวกระตุ้น
นอกจากนี้แล้วช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก็ส่งผลให้อาการปวดไมเกรนกำเริบได้เช่นกัน คุณพอลลาอธิบายว่า โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไมเกรนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากที่สุด เพราะมีละอองเกสรซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนปริมาณสูงอยู่ในอากาศ
นอกจากนี้ฤดูร้อนก็ทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ เพราะความร้อนและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นั้นเป็นตัวกระตุ้นอาการปวดไมเกรน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคไมเกรนชนิดที่เห็นแสงวูบวาบแล้วทำให้อาการกำเริบจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ทางการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า ช่วงเปลี่ยนฤดูนั้นจะส่งผลให้ธาตุเจ้าเรือนและธาตุทั้ง 4 ในร่างกายต้องปรับสมดุลเพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ดังนั้นถ้าใครอ่อนแอหรือมีธาตุหย่อน ก็จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้
NATURAL PAINKILLER
การกินขิงหรือจิบชาขิงจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้ในระดับหนึ่งเพราะขิงมีรสไม่ร้อนเกินไป มีความอุ่นอยู่ในตัว จึงสามารถช่วยปรับระบบการไหลเวียนเลือดได้
อีกทั้งขิงมีสรรพคุณแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า ขิงมีฤทธิ์ลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบอีกด้วย
วิธีกิน ต้มเป็นชาดื่ม โดยใช้ขิงปริมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำร้อนพอประมาณ จิบบ่อย ๆ หรือกินชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็นและก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการ
ฮอร์โมนเอสโทรเจน VS การปวดไมเกรน
ผู้หญิงมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์มีอาการปวดไมเกรนจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนช่วงมีรอบเดือน คุณพอลลา ฟอร์ด-มาร์ติน อธิบายว่า ฮอร์โมนเอสโทรเจน มีผลต่อสมองและสามารถทำให้ระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นตัวกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อถึงช่วงเวลาที่ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนสูง ซึ่งก็คือช่วงมีรอบเดือนผู้หญิงส่วนมากจึงเป็นโรคไมเกรนและมีไข้ต่ำๆ ระหว่างมีรอบเดือน
วิธีที่ 5 วิตามินและอาหารเสริม
คุณพอลลาแนะนำวิตามินและอาหารเสริมที่ช่วยรักษาอาการปวดไมเกรนไว้ดังนี้
- วิตามินบี 2 ช่วยในการสร้างเซลล์ของหลอดเลือด พบในนม ไข่ ผักสีเขียวเข้ม ซีเรียลต่าง ๆ
- วิตามินบี 3 ช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือด พบในบรอกโคลี มะเขือเทศ เห็ด มันฝรั่ง แครอต อัลมอนด์
- แมกนีเซียม ช่วยรักษาระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย พบในอัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ข้าวสาลี
- โคเอนไซม์คิว 10 เป็นสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยในการทำงานของเซลล์ พบในปลาทะเลน้ำลึก ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมกเคอเรล ปลาทูน่า ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง
- ดอกฟีเวอร์ฟิว (Feverfew) ยับยั้งการขยายตัวของหลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมอง
- ผักบัตเตอร์เบอร์ (Butterbur) ต้านการอักเสบและต้านฮิสตามีน ซึ่งเป็นต้นเหตุของการปวดไมเกรน